คอมมิวนิสต์และสังคมนิยม คืออะไร?

นี้เป็นอีกหนึ่งในคำถามที่สร้างความสงสัยให้กับใครหลายต่อหลายคนอย่างมาก กับคำถามที่ว่าคอมมิวนิสต์ (Communism) กับสังคมนิยม (Socialism) คืออะไร และทั้งสองเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายในแบบที่เข้าใจได้ง่ายกัน
โดยก่อนอื่นเราจะต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า "ลัทธิทุนนิยม" (Capitalism) กันเสียก่อน เพราะทุนนิยมคือสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้มีสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ขึ้นมา

ทุนนิยม คือรูปแบบของเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง ที่มีการปล่อยให้เอกชน (Private) ซึ่งก็คือคนรวยหรือนายทุน สามารถเป็นเจ้าของกิจการและทรัพยากรต่างๆ ได้
โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงเอกชน และปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันได้อย่างเสรี ทุนนิยมจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ทุนนิยมมักจะใช้ควบคู่กับการปกครองที่มีเสรีภาพอยู่เสมอ
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลัทธิทุนนิยมก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่อยู่ในชนชั้นกรรมกรและแรงงาน
นั้นก็เพราะ แรงงานกรรมกร รวมไปถึงเกษตรกรชาวนา จะต้องทำงานให้กับเหล่านายทุน ซึ่งส่วนมากพวกเขามักจะถูกกดขี่จากพวกนายทุนอยู่เสมอ พวกนายทุนมีรายได้เพิ่มขึ้นและร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับแรงงานที่รายได้เท่าเดิมและยากจนลง ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมาก ระหว่างคนรวยกับคนจน
และนี้เองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแนวความคิดอย่างคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมขึ้นมา โดยทั้งสองแนวคิดต่างก็มีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งก็คือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากลัทธิทุนนิยมนั้นเอง
ถ้าถามว่าทั้งสองต่างกันหรือไม่ คำตอบก็คือ มันต่างกัน นั้นก็เพราะทั้งคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม มีวิธีการในการแก้ไขลัทธิทุนนิยมที่แตกต่างกัน
สำหรับคอมมิวนิสต์นั้น พวกเขามีแนวคิดหลักมาจากนักปรัชญาชาวเยอรมันนามว่า คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) โดยพวกเขาเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากทุนนิยมนั้น จะต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิวัติ" (Revolution)

การปฏิวัติในแนวคิดของคอมมิวนิสต์ คือ การที่พวกเขาจะทำการยึดทรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่างจากพวกนายทุน และทำการแจกจ่ายให้กับผู้คนอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้จะต้องทำการล้มล้างชนชั้นต่างๆ รวมไปถึงลัทธิทุนนิยมให้ออกไปจากสังคมให้หมดสิ้น โดยให้เหลือไว้เพียงแค่ชนชั้นกรรมกรเท่านั้น
พูดง่ายๆ คือ คอมมิวนิสต์มีเป้าหมายสำคัญ คือ การล้มล้างทุนนิยมให้หมดสิ้นไปนั้นเอง

ซึ่งการปฏิวัติดังกล่าว จะต้องมีผู้นำที่เรียกว่า "เผด็จการโดยชนชั้นกรรมกร" (Dictatorship of the Proletariat) ซึ่งก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์นั้นเอง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จะทำหน้าที่ซักจูง และนำพาให้สังคมเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมกลายเป็นคอมมิวนิสต์แบบเบ็ดเสร็จ

และเมื่อการปฏิวัติสำเร็จลง จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ยูโทเปีย" (Utopia) ซึ่งก็คือ สภาวะที่สังคมไม่มีชนชั้น ไม่มีเงินตรา ไม่มีกฎหมายกฎระเบียบใดๆ ผู้คนจะอยู่อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด อยู่อย่างสงบสุขและมีสิทธิเสรีภาพ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

และนี้ก็คือเป้าหมายสูงสุดของคอมมิวนิสต์ ซึ่งแนวคิดแบบนี้จึงถูกมองว่ามีความสุดโต่งเกินไป และความเป็นยูโทเปียที่ว่านี้ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆ บนโลกของเราเลย...
เพราะตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ชาติคอมมิวนิสต์ต่างๆ บนโลกนี้ ล้วนกลับกลายสภาพเป็นประเทศที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จแทน...
แต่สำหรับแนวคิดแบบสังคมนิยมแล้ว พวกเขาไม่ได้มีแนวคิดสุดโต่งแบบคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อาศัยการปฏิวัติเพื่อล้มล้าง
แต่สังคมนิยมจะอาศัยการประนีประนอมกับทุนนิยมมากกว่า แนวคิดแบบสังคมนิยมนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้าแนวคิดคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มากซ์

พวกเขามีแนวคิดที่จะยึดครองทรัพยากรของนายทุนเช่นกัน แต่ยึดครองเพียงบ้างส่วนเท่านั้น โดยคำนึงถึงความต้องการของสังคมเป็นหลัก ตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ที่จะยึดครองทรัพยากรทุกอย่าง ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะจำเป็นหรือไม่
สังคมนิยมมองว่า การที่จะทำให้ผู้คนเท่าเทียมกันนั้น ไม่ใช้การปฏิวัติล้มล้าง แต่เป็นการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและแตกต่างกันให้น้อยที่สุด นายทุนและคนรวยจะต้องทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตน
และรัฐบาลจะทำหน้าที่ ในการทำให้ผู้คนในทุกชนชั้นมีความเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านทางโครงการต่างๆ อย่างเช่น รัฐสวัสดิการ การเรียกเก็บภาษีจากนายทุนในจำนวนที่สูง เป็นต้น

บางครั้งสังคมนิยมจึงถูกนำไปใช้ควบคู่กับการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ จึงเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม" (Democratic Socialism) ซึ่งถูกนำไปใช้ในหลายๆ ประเทศ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น กลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวีย (Scandinavian) เป็นต้น
Credit
https://www.blockdit.com/articles/5e48150e06e6460cb170c81f