ว่าด้วยเรื่องตำนานเบียร์ “LEO”
ร้อนๆ เหนื่อยๆ ตกเย็น สังสรรค์ เจอเพื่อน จิบเบียร์เย็นๆ เป็นเรื่องกิจกรรมที่หนุ่มๆ ต้องได้เจอกันบ่อย ทีมงาน UNLOCKMEN มีโอกาสได้ไปพบปะจิบเบียร์พูดคุยกับเจ้าของเพจ Beercyclopedia เพจสารานุกรมของคนชอบเบียร์และเบียร์ที่ได้ชนกันวันนั้นดันเป็นเบียร์ LEO ดังนั้นตำนานลีโอจึงบังเกิด…
คุณ Q เจ้าของเพจเล่าว่า “ผมเองก็เป็นเด็กไทยหัวดำธรรมดา โตมากับเบียร์บ้านๆอย่าง “LEO” (ลีโอ) ที่หาซื้อก็ง่าย ราคาก็น่าคบหา ตั้งแต่เด็กจนโต ไล่มาก็ตั้งแต่ยุคสามขวดร้อย น้ำแข็งห้าบาท ถั่วปากอ้าอีกห้าบาท ก็เมายับข้ามคืนสบายๆ
“เรื่องที่ผมจะเล่าให้เพื่อนๆฟังกันในวันนี้ จริงๆแล้วผมเชื่อว่าเด็กชายไทยร้อยละ 95 ที่เป็นนางรำทั้งหลาย (ชอบตั้งวง) ต้องเคยได้ยินตำนานที่เก่าแก่คู่วงเหล้ามาช้านาน ของเบียร์ “ลีโอ” ที่มีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง นั้นก็คือเรื่องของตัวเลข 1-6 บนฉลาก และอีกเรื่องที่คลาสสิคไม่แพ้กันคือ “ลีโอปทุม ลีโอขอนแก่น ลีโอนครปฐม ใครอร่อยกว่ากัน” เป็นไงครับแค่ได้ยินชื่อเรื่องผมเชื่อว่าหลายๆคนเกิดรอยยิ้มขึ้นที่มุมมากแน่นอน เพราะ 2 เรื่องนี้เป็นเหมือนตำนานประจำวงเหล้าที่หลอกหลอนเด็กไทยมาเกือบ 20 ปี เดี๋ยววันนี้ผมจะมาคลี่คลายตำนาน 2 เรื่องนี้ให้ฟังกัน”
ตำนานเรื่องแรก “เลข 1-6 บนฉลาก”
เรื่องนี้มีสมมุติฐานที่ผมเคยได้ยินมาว่า เลขบนฉลากมันคือเลขของระดับน้ำเบียร์ที่อยู่ในถังหมัก โดยเบียร์ขวดที่มีเลข 1 เป็นน้ำเบียร์ที่อยู่บนสุด ดูดออกมาจากถังก่อน ทำให้ได้น้ำเบียร์ที่นุ่มที่สุด ขมน้อย แล้วก็ค่อยๆไล่ระดับกันไปตามตัวเลข 2-3-4-5-6 ซึ่งเบียร์ 6 นั้นจะเป็นน้ำเบียร์ที่อยู่ก้นถัง ทำให้เบียร์มีรสชาติขม ไม่อร่อย ไม่ถูกใจวัยรุ่น ใครเคยเป็นแบบนี้บ้างยอมรับมาตามตรง (ฮ่าๆ) เพราะผมเองก็เคยเข้า 7-11 แล้วพลิกขวดหาเลข 1-2 มาก่อนครับ คนเราเคยมีอดีตกันทุกคน……
แต่ในความเป็นจริงนั้นตัวเลข 1-6 บนฉลากของเบียร์ลีโอและสิงห์ คือตัวเลขของ “สายการผลิต” โดยขอมูลนี้ผมได้มาจาก วิศวกรที่คุมสายการผลิตนี้จริงและอยู่กับเจ้าตัวเลขที่ว่านี่ทุกวัน ได้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อที่ว่า “เลขบนฉลากคือตัวเลขที่ระบุสายการผลิตของเบียร์ที่มีจำนวนทั้งหมด 6 สาย ซึ่งมีเอาไว้เพื่อช่วยในการผลิตและตรวจสอบย้อนหลังหากเบียร์เกิดปัญหา ซึ่งเบียร์ที่ผลิตจากทั้ง 6 สายการผลิตนั้นออกมาจากถังหมักใบใหญ่ใบเดียวกัน หรือหากต่างใบก็รสชาติไม่ต่างกันเพราะมีขั้นตอนในการผลิตควบคุมเข้มงวด ไม่มีทางที่รสชาติจะแตกต่างกันแน่นอน…….” ฟังแบบนี้แล้วผมถือว่าตำนานเลขบนฉลากลีโอ ถือว่าปิดไปแบบไม่มูล 100% นะครับ
ตำนวนเรื่องที่สอง “ลีโอปทุม ลีโอขอนแก่น ลีโอนครปฐม”
อีกเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมากในวงเหล้า เกือบจะทุกแยกถนนว่า ปทุมแบบนั้น ขอนแก่นแบบนี้ นครปฐมอร่อยสุด ว่ากันไปต่างๆนาๆ ถึงขั้นที่ผมเองเคยตามหาลีโอจากทั้ง 3 ที่มาจับชิมพร้อมๆกัน ผลลัพท์ที่ได้คือ……เมาทุกขวด ลิ้นไม่รู้รส (ฮ่าๆ)
จากปากคำของวิศวกรท่านเดิม ที่เป็นคนคุมเครื่องจักรผลิตลีโอ ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า “เรื่องแหล่งที่ผลิตมีผลต่อรสชาติเบียร์จริง!!!! เนื่องมาจากแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตเบียร์แต่ละที่มีความแตกต่างกัน ค่าของสารประกอบในน้ำแตกต่างกัน แต่เป็นไปได้น้อยมากที่ลิ้นมนุษย์ธรรมดาแบบเรายากจะแยกออก โดยโรงงานทั้ง 3 ที่นั้นถูกตั้งขึ้นเพื่อให้สะดวกต่อการจัดจำหน่ายและขนส่งในแต่ละพื้นที่ของประเทศ แต่ก็จะมีการส่งเข้ามาในกรุงเทพฯด้วยเพราะเป็นตลาดใหญ่ดังนั้นในกรุงเทพฯ เราจะเจอลีโอทั้งจาก 3 โรงงานผลิต
ก่อนที่เจ้าของเพจจะเล่าจบ แอบกระซิบให้พวกเราลองเล่นเกมส์กันขำๆในวงเหล้า โดยไปหาลีโอปทุมมาขวดนึง ลีโอนครปฐมมาอีกขวดนึง แล้วหาแก้วใสๆมาสองใบ รินใส่ซักครึ่งแก้วแบบไม่ให้เพื่อนเห็น แล้วให้เพื่อนลองทายดูครับว่าแก้วไหนมาจากไหน แล้วเรามาลองดูกันว่าเวลาที่เราดื่มเบียร์โดยไม่เอาฉลากมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินรสชาติ เราจะแยกหรือบอกได้มั้ยว่าขวดไหนมาจากไหน หรือขวดไหนเบอร์อะไร
ก่อนจบตำนานเบียร์ลีโอ ใครที่เคยเถียงกับเพื่อนเรื่องนี้ลองแชร์บทความนี้ไปให้เพื่อนอ่านดู จะได้เอาไปคุยกันขำๆ เพราะสุดท้ายไม่ว่าลีโอจากที่ไหน เบอร์อะไร ใส่น้ำแข็งก้อนใหญ่เป็นอันชื่นใจพี่ไทยแน่นอน เอ้าชนนนน
ปล. ดื่มแล้ว เมาไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัยนะคะ
http://www.unlockmen.com/leo-story/
