ถ้าจะให้พูดถึงภาพยนตร์ที่มีหน้าหนัง รวมไปถึงชื่อภาษาไทย ที่แตกต่างไปจากเนื้อหาที่แท้จริง Lucyคงเป็นหนึ่งในหนังประเภทนั้นอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นตัวนักแสดงเอง ซึ่ง Scarlett Johasson ได้รับบทเป็นตัวนำ
อาจทำให้ใครหลายๆคนติดภาพของตัวละครฮีโร่สาวที่เธอเคยแสดงมาก่อนหน้านั้นอย่าง Natasha Romanoff หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Black Widow นั่นเอง ไม่ใช่เพียงแต่ภาพลักษณ์ ของ สกาเล็ตจากหนังเรื่องก่อนๆอย่างเดียวเท่านั้น ตัวอย่างหนังกลับทำมาได้หนังแอคชั่น มีฉากต่อสู้ดุเดือด พล็อตของหนังดูน่าเร้าใจ และ Concept ของหนังที่ดูน่าจะเอื้อไปในด้านแอ็กชั่น นั่นก็คือคำพูดที่ว่า ‘The average person uses 10 % of their brain capacity today she will hit 100%’ คำพูดที่ว่ามานี้ทำให้เรามีความคิดว่ามันต้องบู๊กันสนั่นแน่ ถ้าใช้สมองได้ 100% มันต้องเป็นแบบ อลิซ ในResident Evilแน่ และที่น่าตกใจมากที่สุดกับชื่อภาษาไทยที่ว่า ‘สวยพิฆาต’ ที่คนแต่งชื่อไทย แต่งได้ราวกับว่าดูแค่ตัวอย่างหนังเท่านั้น หลังจากเขียนบรรยายมาถึงตรงนี้คงรู้กันแล้วว่า Lucy นั้นไม่ใช่หนัง Action หรือ หนังฮีโร่ใดๆทั้งสิ้น
แล้ว Lucy เป็นหนังแนวไหน?
Lucy เป็นหนังที่จะบอกว่าเป็นหนังไซไฟปรัชญาก็ว่าได้ ในเรื่องจะมีคำถาม และคำพูดเชิงปรัชญามากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นปรัชญาด้านการเป็นไปของธรรมชาติ การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และจุดประสงค์ในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ในทางด้านวิทยาศาสตร์ และ ทางศาสนา โดยมีการเสียดสีถึงตัวมนุษย์เองด้วยที่ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตทีสร้างความเป็นเอกลักษณ์เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งก็คือ คณิตศาสตร์ นั่นเอง แต่ กฎของสิ่งมีชีวิตในโลกทุกชนิดทุกสรรพสิ่งมิได้อยู่ภายใต้กฎของคณิตศาสตร์ แต่กลับเป็นเวลาที่กำหนดการมีอยู่ของทุกสิ่ง ไม่ใช่แค่นั้นหนังเรื่องนี้ยังสื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของกระบวนการความคิดของสมอง การรับรู้รวมไปถึงการปิดกั้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด ความเสียใจ รวมไปถึง ความรัก เมื่อสิ่งเหล่านี้ขาดหายไปความเป็นคนย่อมน้อยตามลงไปด้วย เมื่อสมองทำงานใกล้เลข 100%มากขึ้นเท่าไหร่ ความเป็นคนย่อมน้อยลง แต่กลับเข้าใกล้กับความเป็นธรรมชาติมากขึ้น จนถึงสุดท้ายร้อยเปอร์เซ็น ทุกอย่างจะกลับสู่จุดเดิม นั่นก็คือความว่างเปล่า ความว่างเปล่าที่เป็นที่มาของทุกสิ่ง ความว่างเปล่าที่เป็นความหมายของการอยู่เหนือกาลเวลา ความว่างเปล่าแห่งการหลุดพ้น การอยู่เหนือความสุขความทุกข์ หรือจะให้พูดในความหมายของศาสนาพุทธ ก็คือนิพพาน นั่นเอง
ที่ผมว่ามานี้เป็นปรัชญาส่วนหนึ่งของหนัง แต่ตัวหนังก็ยังไม่ได้ยัดเยียดปรัชญาจ๋าๆมาอย่างเดียวเท่านั้นยังสอดแทรกบท แอกชั่นเข้ามาเล็กๆน้อยๆระหว่างการดำเนินเรื่อง ทำให้เรื่องดูไม่ยากเกินไปในตอนแรกๆ โดยจะใช้วิธีเล่าปรัชญาที่ต่างๆกันออกไป เช่นผ่านบทบรรยายของ มอแกน ฟรีแทนระหว่างสอน, บรรยายผ่านภาพสารคดี รวมไปถึงจากปากของลูซี่เองเลย ฉากที่ดูล้ำลึกมากที่สุดคงไม่พ้นตอนท้าย เหมือนได้ดู 2001:Space Odyssey อยู่
สรุปคือหนังเรื่องนี้ถ้าใครไปดูหวังจะเป็นแนว ฮีโร่หญิง หรือแอกชั่น บู๊สนั่น ดูจบมีบ่นแน่นอน แต่ใครที่จะไปดูหนังไซไฟปรัชญา หรือใครที่ชอบ 2001:Space Odyssey ผมขอแนะนำเรื่องนี้ครับ เป็นหนังที่ดีมาเรื่องหนึ่ง แต่ก่อนไปดูผมขอแนะนำคือ เตรียมตัวไปให้พร้อม โดยการอ่านรีวิว ดูถึงทรรศนะ คนที่ดูมาก่อนแล้ว ผมยืนยันได้เลยว่า การสปอยไม่สามารถทำอะไรหนังเรื่องนี้ได้ แต่การเข้าใจคำพูดของตัวละครที่พดมานั้นสำคัญกว่า และ อย่าไปสนใจกับความไม่สมเหตุสมผลบางอย่างของหนัง เพราะจะทำให้เกิดอคติ และมองข้ามส่วนที่ดีไป(หนังปรัชญาส่วนใหญ่จะสื่อมาในแนวสัญลักษณ์ อย่างเช่น แท่งดำในเรื่อง 2001:Space Odyssey) และสุดท้ายมีสมาธิในการดูหนังจับคำพูดของหนังให้ได้ เพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ บทพูดมีความสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
สุดท้ายนี้ขออวยพรว่า - เสพหนังให้สนุกครับ