รีวิวซีรี่ย์ญี่ปุ่นเรื่องที่สองขอเลือกของพระเอกที่เป็นดาราในดวงใจของผมละกัน ทาคุยะ คิมูระกับซีรี่ย์ของปี 2011 เรื่องราวที่แสดงให้ถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น ความยากจน ไร้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีใดๆ รวมไปถึงความพยายามในการจะสร้างชาติขึ้นมาใหม่หลังยุคสงคราม ทำไมญี่ปุ่นที่เป็นผู้แพ้ในสงครามโลกใช้เวลาไม่กี่ปีในการกลับมาผงาดเป็นมหาอำนาจชาตินึงในโลก สิ่งที่เรียกว่า "ความฝัน" มันมีแรงผลักดันมากกว่าที่ใครต่อใครหลายคนคาดคิด ความฝันซึ่งมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นกับซีรี่ย์ที่มีชื่อว่า
Nankyoku Tairiku ~Kami no Ryouiki ni Idomunda Otoko to Inu no Monogatari~
Nankyoku Tairiku หรือ Antarctica
Nankyoku Tairiku นั้นมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของคณะสำรวจธรณีวิทยาของญี่ปุ่นที่ไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาพร้อมกับสุนัขลากเลื่อนพันธุ์ซาคาลิน ฮัสกี้ เรื่องราวความผูกพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขที่ดูแล้วชวนให้ซาบซึ้งใจมิใช่น้อย ขนาดผมเองซึ่งปกติไม่ถูกโรคกับสุนัขเท่าไหร่นักยังแอบผุดความคิดว่าอยากเลี้ยงสุนัขขึ้นมาทั้งๆที่ความเป็นจริงให้จับสุนัขตอนนี้ก็ยังไม่กล้าเลย
เรื่องนี้มีจุดน่าสนใจหลายส่วนทีเดียวนอกเหนือไปจากประเด็นหลักของเรื่องนั่นคือ การสำรวจแอนตาร์กติกา ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขถือเป็นประเด็นรองของเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
"สุนัขคือเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของมนุษย์"
คำกล่าวนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง มนุษย์เรามองมันเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์แต่ในยามคับขันเรามองมันเป็นเพื่อนที่ต้องช่วยเหลือหรือมองมันเป็นเพียงแค่ "สุนัข"
กลับมาที่ประเด็นหลักของเรื่องที่กล่าวถึงเรื่องการสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาจริงๆแล้วสภาพของประเทศญี่ปุ่นในขณะนั้นแทบจะไม่ต้องพูดเรื่องอื่นใดเลยนอกจากปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน อีกทั้งรัฐบาลก็ดูจะไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เท่าใดนักแต่พุ่งเป้าความสนใจไปที่ด้านพลังงานนิวเคลียร์ที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้มากกว่า
คุราโมจิ ทาเคชิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาประจำมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นชายผู้มีความฝันอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากสภาพของยุคหลังสงคราม สงครามซึ่งพรากชีวิตของภรรยาของเค้าไปรวมไปถึงแรงผลักดันจากการที่พ่อของเค้าเป็นคณะทีมสำรวจของญี่ปุ่นชุดแรกที่ไปถึงแอนตาร์กติกาแต่ไม่สามารถทำตามความปรารถนาของตนเองได้ จึงได้แต่บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกชายตัวเองฟังถึงความฝันของตนเอง ความฝันของบิดาจึงกลายมาเป็นความฝันของคุราโมจิไปด้วยนั่นคือการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดของทวีปแอนตาร์กติกา
ชิโรซากิ ซึงุรุ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียวและเป็นอาจารย์ของคุราโมจิเป็นผู้ริเริ่มโครงการสำรวจแอนตาร์กติกาเพียงแต่หน้าที่หลักๆของเค้าคือการประสานกับรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีบทบาทในทีมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาเท่าใดนัก ศจ.ซึงุรุ เป็นผู้หยิบยื่นโอกาสให้ญี่ปุ่นในการจะไปยืนทัดเทียมกับนานาประเทศในขณะนั้นเพียงแต่ทว่าสิ่งที่นานาชาติหยิบยื่นให้กับญี่ปุ่นคือ โอกาสที่เป็นไปได้เพียงน้อยนิด
อุปสรรคอย่างแรกสุดสำหรับการสำรวจแอนตาร์กติกาคือ เงินลงทุน เพราะสภาพของประเทศญี่ปุ่นในเวลานั้นไม่มีเงินทุนให้กับสิ่งที่ดูจะไร้สาระอย่างการไปสำรวจแอนตาร์กติกาเท่าใดนัก
"ความฝัน"
หากใครดูซีรี่ย์หรือการ์ตูนญี่ปุ่นบ่อยๆคงคุ้นกับคำๆนี้พอดู ในยามที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะยากจนเพราะสงครามคำว่า "ความฝัน" มันเป็นแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ มีการรับบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนสำหรับการไปสำรวจเอาจริงๆผมซึ้งกับฉากตอนนี้มากทีเดียวโดยเฉพาะที่เด็กจากโรงเรียนของน้องสาวภรรยาของคุราโมจิเอาเหรียญ(น่าจะ) 1 เยนมาบริจาค ซึ่งจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติเพียงไม่นานก็ได้ทุนสำหรับการไปแอนตาร์กติกา
คณะของทีมสำรวจนอกจากคุราโมจิแล้วยังมี
โฮชิโนะ เอย์ทาโร่ ศาสตราจารย์ธรณีวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเกียวโตอีกหนึ่งคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในคณะสำรวจซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมสำรวจวิจัยแอนตาร์กติกาฤดูหนาวชุดที่ 1 ด้วย นอกเหนือจาก 2 คนนี้ที่เหลือมาจากการคัดเลือกของรัฐบาลรวมไปถึงอาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาจากประชาชนทั่วไปในสาขาต่างๆ
เมื่อมีเงินทุนและทีมสำรวจแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการไปแอนตาร์กติกาก็คือ เรือ ซึ่งเรือของคณะสำรวจก็คือ เรือโซยะ ซึ่งเป็นเรือที่หลงเหลือมาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
"เรือมันมีทั้งลำที่โชคดีและโชคไม่ดี ดูอย่างเรือยามาโมโตะที่มีแสนยานุภาพยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือสิ เรือที่เชื่อกันว่าไม่มีวันจมแต่เพียงการออกรบครั้งแรกก็ถูกจมโดยตอร์ปิโด แต่เรือโซยะลำนี้เป็นเรือโชคดีไม่ว่ามันออกทะเลครั้งใดมันจะรอดกลับมาทุกครั้ง"
นี่คือคำกล่าวที่มีต่อเรือโซยะเพียงแต่ว่าสภาพของเรือโซยะในขณะนั้นไม่ต่างอะไรกับเรือเก่าที่รอวันผุพังไปตามกาลเวลา ซึ่งการจะนำเรือโซยะไปแอนตาร์กติกาได้นั้นมันจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเสียก่อนและผู้ที่มาออกแบบแก้ไขในครั้งนี้ก็คือ ชิเงรุ มากิโนะ ชายผู้ซึ่งออกแบบเรือรบยามาโตะนั่นเอง
การปรับปรุงซ่อมแซมเรือเป็นไปด้วยความยากลำบากและล่าช้าเนื่องจากอู่ต่อเรือก็มีงานของตัวเองล้นมืออยู่แล้ว และในการทดสอบสภาพครั้งแรกก็ปรากฎว่ามีการรั่วซึมของน้ำทะเลเข้ามาในท้องเรืออีกทั้งเวลากำหนดการออกเดินทางก็ใกล้เข้ามา เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ปรากฎว่ามีช่างมากมายจากทั่วสารทิศอาสามาซ่อมเรือโซยะให้เสร็จสิ้นตามกำหนดการ นี่ก็เป็นอีก 1 ฉากที่ประทับใจมากทีเดียวแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติจริงๆ
เมื่อไปถึงแอนตาร์กติกาแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างสถานีวิจัยซึ่งชื่อของสถานีวิจัยที่ถูกตั้งขึ้นและยังถูกใช้ต่อเนื่องมาจวบจนถึงทุกวันนี้ก็คือ
สถานีวิจัยโชวะ ในทวีปแอนตาร์กติกาที่โหดร้ายสถานีวิจัยไม่ต่างอะไรกับบ้านพักที่ช่วยปกป้องทีมสำรวจจากอันตรายภายนอกนั่นคือ ความหนาวเย็น ซึ่งคณะสำรวจชุดที่ 1 นั่นความตั้งใจในตอนแรกเพียงแค่การไปสร้างสถานีวิจัยแล้วก็กลับเท่านั้น แต่คณะสำรวจก็ดึงดันที่จะอยู่ต่อจนถึงเวลาที่ทีมสำรวจชุดที่ 2 มาถึงเพื่อตรวจสอบว่ามนุษย์สามารถอยู่ต่อในช่วงฤดูหนาวที่โหดร้ายของแอนตาร์กติกาได้
อ้างอิงจาก:
แอนตาร์กติกานั้นถึงแม้จะเป็นทวีปที่มีแต่น้ำแข็งอยู่แล้วก็ตามแต่ฤดูหนาวในทวีปนั้นโหดร้ายค่อนข้างมากเพราะอุณหภูมิจะต่ำมากอีกทั้งสภาพอากาศก็แปรปรวนจากพายุ ดังนั้นการสำรวจจะทำได้เพียงในช่วงแผ่นน้ำแข็งแตกออกในราวเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์แค่นั้น
อาจจะรีวิวได้ไม่ละเอียดเท่าใดนักเพราะอยากให้ลองไปสัมผัสและรับชมด้วยตัวเองจะเข้าใจได้ดีกว่า จะเข้าใจว่าทำไมชาวญี่ปุ่นถึงผลักดันตัวเองจากจุดต่ำสุดในยุคหลังสงครามโลกมาได้ สิ่งที่เรียกว่า "ความฝัน" ทำไมคนญี่ปุ่นแม้กระทั่งในยุคปัจจุบันถึงให้ความสำคัญกับสิ่งนี้นัก รวมไปถึงความผูกพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัข