อันดับที่ 25 แข้งไทยอาชีพคนแรกประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย
“ไทยก๊กจื๊อ” เอกไชย สนธิขันธ์ อดีตนักเตะทีมชาติไทยและสโมสรฟุตบอลทหารอากาศ, ราชวิถี รวมไปถึงท่าเรือ...คือ นักเตะไทยคนแรกที่มีได้รับสัญญาการเป็นนักฟุตบอลอาชีพในต่างแดน เมื่อปี พ.ศ. 2515
จาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ...ชีวิตช่วงวัยเยาว์ของ เอกไชย หมกมุ่นกับการฝึกฝนฟุตบอลและเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ ซึ่งหลังเลิกเรียนจะมุ่งหน้าสู่สนามฝึกซ้อมของสโมสรทหารอากาศด้วยรถเมล์ทุกวัน...แน่นอนว่าความฝันของเขา คือ การเป็นนักฟุตบอล
เอกไชย สนธิขันธ์ เริ่มสร้างชื่อให้กับตัวเอง เพราะฝีเท้าที่ยอดเยี่ยม แถมยังสารพัดประโยชน์เล่นได้ทั้งกองหลังและกองหน้า ก่อนได้เข้าไปเล่นให้กับทีม “ชาววัง” สโมสรฟุตบอลราชวิถีในเวลาต่อมา พร้อมก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทยรุ่นเยาวชนชุดชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทัวร์นาเม้นต์นั้นเองฟอร์มของเขาไปเตะตาแมวมองของทีมแรงเยอร์ สโมสรฟุตบอลจากฮ่องกง… เอกไชย ในวัยเพียง 20 ปีขณะนั้น ไม่รีรอตัดสินใจพุ่งชีวิตเข้าหาอนาคตใหม่กับวิถีลูกหนังต่างแดนทันที โดยได้รับสัญญาเป็นนักเตะ 2 ปี กลายเป็นแข้งไทยประวัติศาสตร์คนแรกที่ได้สัญญาจากทีมต่างประเทศ พร้อมค่าเหนื่อยคิดเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท ซึ่งนับเป็นเงินที่สูงมากเมื่อปี พ.ศ. 2515
ช่วงเวลาที่อยู่ที่ฮ่องกง… ฟอร์มการเล่นของ เอกไชย สนธิขันธ์ เป็นที่ถูกอกถูกใจแฟนลูกหนังตี๋น้อย จนได้รับฉายาจากสื่อที่นั่นว่า “ไทยก๊กจื้อ” หรือ ที่แปลว่า “เด็กชายไทย” อย่างไรก็ตามด้วยเกมที่หนักในลีกของฮ่องกง ทำให้เขาเล่นได้แค่ 8 เดือน จึงต้องกลับมายังแผ่นดินถิ่นเกิด และแขวนสตั๊ดในปี พ.ศ. 2516
แม้จะมีระยะเวลาที่ไม่นานกับทีมชาติ และชีวิตการค้าแข้ง… แต่คำว่า “ตำนาน” ที่เป็นคนไทยคนแรกที่ได้สัญญาอาชีพจากทีมต่างประเทศก็เพียงพอที่จะทำให้เขาเข้ามาอยู่ในโผ
อันดับที่ 24 แข้งไทยหนึ่งเดียวผู้เคยคว้าแชมป์โลก
ชาริล ยานนิส ชัปปุยส์ หนุ่มหล่อลากไส้รายนี้ อาจเพิ่งติดทีมชาติไทยได้ไม่นาน แต่ฝีเท้าบวกกับดีกรีในอดีต ทำให้เขาเข้ามาอยู่ในโผ…
ชาริล ชัปปุยส์ ลูกครึ่งสวิส-ไทย วัย 24 ปี คนนี้ ปัจจุบันค้าแข้งกับ สุพรรณบุรี เอฟซี ทีมแกร่งแห่งศึกไทยพรีเมียร์ลีก เขาเกิดที่สวิตเซอร์แลนด์ และเคยเป็นเยาวชนของ กร๊าสฮ็อปเปอร์ ซูริค ทีมดังในบ้านเกิด และเคยพาทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ คว้าแชมป์โลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี เมื่อปี 2009 ที่ไนจีเรีย...นับเป็นนักเตะไทยคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เคยคว้าแชมป์โลก!
แข้งยุคแชมป์โลกรุ่นเดียวกับเขา ตอนนี้กลายเป็นนักเตะระดับโลกมากมาย ทั้ง ริคาร์โด โรดริเกซ (โวล์ฟบวร์ก), ปัจติม กาซามี่ (โอลิมเปียกอส), แฮริส เซเฟโรวิช (แฟรงค์เฟิร์ต) กรานิต ชาก้า (กลัดบัค) โดยในการคว้าแชมป์โลกครั้งนั้น พวกเขาสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการอัดทีมชาติ บราซิล ที่มี เนย์มาร์ และ ฟิลิเป้ คูตินโญ่ นำทัพมาแล้ว
ชัปปุยส์ ย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปี 2013 พาทีมเข้ารอบน็อคเอ๊าท์ในรายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ได้สำเร็จอีกด้วย พร้อมเถลิงบัลลังก์แชมป์ลีกปีดังกล่าวได้สำเร็จ ก่อนย้ายมาร่วมทีม สุพรรณบุรี เอฟซี ในเลกที่ 2 ของปี 2014 โดยที่ผ่านมาเขามีส่วนช่วยในการพาทีมชาติไทย คว้า 1 เหรียญทอง ซีเกมส์ 2013 ที่พม่า, อันดับ 4 เอเชี่ยน เกมส์ 2014 ที่อินชอน เกาหลีใต้ และ แชมป์อาเซียน คัพ 2014
จุดเด่นของ ชัปปุยส์ คือ การสอดหาตำแหน่งทำประตู มีลูกจ่ายที่แม่นยำและคมกริบ ทั้งลูกสั้น และลูกยาว อีกทั้งยังมีทีเด็ดจากลูกเซ็ตพีซ
อันดับที่ 23 “นินู” ผู้พิชิตตาข่าย
“อัลเฟร็ด” เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ อดีตแข้งลูกครึ่งที่มีคุณพ่อเป็นชาวไทยและคุณแม่เป็นชาวเวียดนาม - ฝรั่งเศส พกดีกรีดาวยิงระดับดิวิชั่น 3 ของสโมสร “นัวรี” สโมสรในระดับดิวิชั่น 3 ของเมืองน้ำหอม... ในวัย 21 ปี เขาหอบความฝันและความหวังข้ามทวีปมายังประเทศไทย เพื่อคัดตัวกับทีมชาติ…
“อัลเฟร็ด” นับเป็นของแปลกใหม่สำหรับคนไทยในยุคปี ‘90 และแม้ฝีเท้าฉกาจจนหลายคนชื่นชม แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เขาต้องกลับบ้านเกิด ก่อนที่จะกลับมาไทยอีกครั้ง และลงเล่นให้ในนามสโมสรธนาคารกรุงเทพ…
ความเป็นเพชรฆาตในกรอบเขตโทษ… ทวงท่าการยิงประตูที่สวยงามและชาญฉลาด ทำให้ “อัลเฟร็ด” หรือที่หลายคนเรียกว่า “นินู” ถูก “แบงค์รวงข้าว” ธนาคารกสิกรไทย สโมสรยักษ์ใหญ่ของไทยในเวลานั้นดึงตัวไปร่วมทีม และถูกเรียกติดทีมชาติในปี พ.ศ.2537
ความสำเร็จของ “อัลเฟร็ด” กับทีมชาติไทย มีมากมาย...ทั้งคว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2 สมัย ที่เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2538 และ ครั้งที่ 20 ปี พ.ศ. 2540 ที่อินโดนีเซีย รวมถึงฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในนามสโมสรนั้นเขาพาทีม กสิกรไทย คว้าแชมป์เอเชี่ยน คลับ แชมเปี้ยนชิพ หรือ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ.1994)
น่าเสียดายที่ “อัลเฟร็ดเครื่องจักรสังหาร” คนนี้ ตัดสินใจยุติบทบาทของตัวเองในวัยเพียง 25 ปี กับเกมลูกหนัง เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2540 และตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ และเล่นกีฬากอล์ฟ โดยให้เหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ กับการแขวนสตั๊ดว่า...”เบื่อแล้ว”
แต่แฟนบอลเมื่อยุค 20 ปีก่อน...มีใครกล้าเถียงไหม? ว่าเขาสุดยอดไม่จริง!
อันดับที่ 22 ไอ้เด็กระเบิด
ดัสกร ทองเหลา อดีตเด็กหนุ่มชาวจังหวัดหนองบัวลำภู ถูกจับตามองจากบรรดาแฟนบอลและสื่อมวลชนอย่างมากมาย เพราะด้วยวัยเพียง 17 - 18 ปี ก็ได้เข้าร่วมทีม “มังกรไฟ” บีอีซี เทโรศาสน ทีมยักษ์ใหญ่ของไทยยุคก่อนในช่วงปี พ.ศ. 2543 แถมยึดตำแหน่งตัวจริงได้ด้วย...เขามีชั้นเชิงที่เหนือเด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน จนได้รับฉายา “ไอ้เด็กระเบิด”
ดัสกร ทองเหลา หรือ “โก้” โดดเด่นในตำแหน่งกองกลาง ฟอร์มที่ดุดัน, การวางบอลที่แม่นยำ, เซนส์บอลที่เหนือชั้น, ฟรีคิกเฉียบขาดเขาจึงถูกเรียกติดทีมชาติไทยในทุกรายการ ทั้ง คิงส์คัพ,ปรี โอลิมปิก, ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก, เอเซียนคัพ , และ อาเซียน คัพ โดยปัจจุบันเขาติดทีมชาติไทยไปแล้ว 98 นัด เป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกมาแล้วถึง 4 สมัย (บีอีซี เทโรฯ 1 สมัย และ เมืองทองฯ ยูไนเต็ด 3 สมัย)
ช่วงหนึ่งของชีวิตฟุตบอล ดัสกร ทองเหลา เคยเดินทางไปร่วมฝึกฝนฟุตบอลกับสโมสร ไกเซอร์ สเลาเทิร์น ในบุนเดสลีกกาของเยอรมัน อีกทั้งยังเคยประสบการณ์ลงเล่นกับ ฮองอันห์ยาลาย ในวีลีกของเวียดนาม ช่วงปี พ.ศ. 2550-52 ก่อนที่จะกลับมาร่วมทัพ เมืองทอง ยูไนเต็ด ในปี พ.ศ. 2553
นี่คือ “มิดฟิลด์อัจฉริยะ” อีกคนของวงการฟุตบอลไทย…
อันดับที่ 21 “เมสซี่เจ”
“เมสซี่เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ กองกลางวัย 21 ปี จากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม คือ นักเตะที่ถูกมองว่า “เก่ง” ที่สุดในทีมชาติไทยชุดนี้ และอนาคต ทั้งที่มีส่วนสูงเพียง 158 เซนติเมตรเท่านั้น
เขาถูกหัดให้สัมผัสบอลลูกเล็กๆ ตั้งแต่อายุได้ขวบกว่าๆ โดยมี คุณพ่อ ก้องภพ สรงกระสินธ์ อดีตพ่อค้าขายขนมหวานเป็นคนริเริ่ม พอโตขึ้นหน่อยก็คอยเขี่ยวเข็น ฝึกสอนให้แบบจริงจัง ทั้งตีทั้งตบแบบแนวซีรี่ย์เกาหลี… คุณพ่อคาดหวังและเคยบนบาทศาลกล่าวอยากให้เขาเป็นเหมือนกับ ดีเอโก้ มาราโดน่า ตำนานทีมชาติอาร์เจนติน่ามาตั้งแต่ “เจ้าเจ” ยังอยู่ในครรภ์มารดา
หลังจบ ม.ต้น ชนาธิป สรงกระสินธ์ เข้าศึกษาต่อที่พณิชยการราชดำเนิน และพาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษา ถ้วย ก. เมื่อปี 2554… แม้จะมีฝีเท้าที่ยอดเยี่ยม แต่ด้วยรูปร่างที่เล็กจนเกินไป ทำให้เขาถูกมองว่ามีขีดจำกัดของความสามารถ แต่ บีอีซี เทโรศาสน ไม่คิดเช่นนั้น… เขาถูกดึงตัวไปร่วมทีมเยาวชน รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ภายใต้การคุมทีมของ แอนดรูว์ ออร์ด กุนซืออังกฤษ-ออสเตรเลียน ที่มั่นใจในศักยภาพของเด็กน้อยคนนี้ ก่อนที่เขาจะตอบด้วยการพาีทมคว้าแชมป์ เอฟเอ ยูธ คัพ เมื่อปี 2011 และก้าวขึ้นมาเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ในปี 2012 ในยุคที่ แอนดรูว์ ก้าวขึ้นมาเป็นเฮดโค้ชของ “มังกรไฟ” นั่นเอง
เขาแสดงให้เห็นว่าร่างกายสำหรับเขาไม่ใช่ปัญหา เพราะความเร็ว ความคล่องตัว ทักษะการเลี้ยงบอล สมดุลของร่างกาย และการเล่นได้ทั้งสองเท้าเท่ากัน ทำให้ใครก็จับเขาลำบาก จน “วินนี่” วินฟรีด เชเฟอร์ อดีตกุนซือทีมชาติไทยชาวเยอรมัน เรียกเขาไปติดทีมชาติครั้งแรกในการแข่งขัน อาเซียน คัพ 2012 และความเป็น “เมสซี่เจ” เริ่มสั่นคลอนภูมิภาคอาเซียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และในทีมชาติไทยยุคเปลี่ยนมือจาก “วินนี่” มาเป็น เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง… ชีวิตของ “เมสซี่เจ” กับ “ช้างศึก” ยิ่งพุ่งพวยขึ้นหลายเท่าตัว เขาพาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2013 ที่เมียนมา, คว้าอันดับ 4 เอเชี่ยน เกมส์ 2014 ที่อินชอน เกาหลีใต้, คว้าแชมป์อาเซียน คัพ 2014 และคว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2015 ที่สิงคโปร์ ได้อีกครั้ง
อันดับที่ 20 ดร.ลูกหนังไทย
ดร. วิชิต แย้มบุญเรือง ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2500 วงการลูกหนังไทยมีดาวรุ่งพุ่งแรงขึ้นมาประดับวงการด้วยวัยเพียง 16 ปี ชื่อของหนุ่มน้อยคนนั้น คือ วิชิต แย้มบุญเรือง เกิดในเมืองกรุงย่านสวนมะลิ เขาได้รับการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว ทั้งเรื่องการศึกษา และเรื่องความฝันที่อยากจะทำ… แม้วัยเด็กจะชื่นชอบแบดมินตัน แต่เมื่อเกมลูกหนังเข้ามาวนเวียนในชีวิต เขาจึงตัดสินใจหันมาเล่นฟุตบอล และได้เล่นฟุตบอลทีมโรงเรียนอย่างที่ใจอยากทำสมัยก้าวเข้าสู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนติดทีมชาติไทยเยาวชน 16 ปีชิงแชมป์เอเชีย ครั้งแรก ที่มาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2500
ด้วยความเป็นเด็กเรียนดี ทำให้เขาจึงได้เข้าเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาตรี พร้อมกับลง ลงเล่นในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานให้กับสโมสรรวมมิตรและจามจุรี สโมสรธนาคารกรุงเทพ ดึงตัวเขาไปร่วมทีม และพาทีมคว้าแชมป์ถ้วยพระราชทาน ก. ถึง 3 สมัย พ.ศ. 2506, 2507 และ 2509
ผลงานระดับชาติ วิชิต แย้มบุญเรือง เริ่มเป็นหนึ่งในฐานะนักเตะชุดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกปี พ.ศ. 2502 ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 (กีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน) ซึ่งแข่งขันที่กรุงเทพมหานคร แม้ครั้งนั้นไทยจะได้เพียงเหรียญเงิน แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหลังจากนั้นเขาลงเล่นให้กับทีมชาติไทยอย่างต่อเนื่องทุกรายการ ทั้งคิงส์คัพ, เมอร์เดก้าคัพ, เอเชี่ยนเกมส์ และคว้าเหรียญทอง ร่วมกับพม่าในกีฬาแหลมทองได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2508 ที่มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพ (โดยเหรียญทองนั้นได้มอบให้แด่ อัศวิน ธงอินเนตร เพื่อนร่วมทีมที่เสียชีวิตระหว่างฝึกซ้อม) จุดเด่นของเขา คือ การเล่นได้ทุกตำแหน่ง ตั้งแต่กองหลังยันกองหน้า
แต่ช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตของ วิชิต แย้มบุญเรือง คือ การพาทีมชาติไทยไปโอลิมปิก ที่เม็กซิโก อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธที่จะรับใช้ชาติต่อไปด้วยเหตุผลที่จะไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2510 - 2512 และกลับมาติดทีมชาติอีกครั้ง โดยลงเล่นมากกว่า 100 นัด ยิงได้ 5 ประตู ก่อนแขวนสตั๊ดในปี พ.ศ. 2516
ดร. วิชิต แย้มบุญเรือง เคยทำงานเป็นประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ในช่วงเริ่มก่อตั้งไทยพรีเมียร์ลีก วันนี้ในวัย 74 ปี ณ ปัจจุบัน เขายังคงมีใจรักในเกมลูกหนังเสมอ
เดี่ยวมาต่อครับ อันดับที่ 19-15