http://www.oknation.net/blog/print.php?id=886365
ตามลิ้งนี้เลยคับ
หรืออ่านได้เลย เครดิต โดย ลูนาร์
-1-
เคยมีคำพูดบางคำจากใครที่ไหนก็ไม่รู้ ทำวลีหล่อๆ ตกหล่นไว้
'ฟุตบอล คือชีวิต' หรือ 'ฟุตบอล เป็น ยิ่งกว่าชีวิต'
แต่ที่แน่ๆ คือมันสะท้อนชีวิตคนเราในชีวิต แม้แต่โยงมันไปผูกกับเรื่องอื่น
เดวิด มอยส์ กับความกดดันจากความคาดหวัง ของแฟนบอลที่คุ้นเคยกับความสำเร็จมาตลอด 2 ทศวรรษ
โชเซ่ มูรินโญ่ หนังภาคสองที่ไม่มีวันติดตราตรึงใจไปตลอดกาลเหมือนภาคแรก
หลังความพ่ายแพ้ 4-1 มีแฟนบอลที่ส่วนใหญ่เก่งจากการคุมทีมในโลกของเกม Football Manager เข้ามากดดัน ทับถม
ชื่อของ เดวิด มอยส์ คงทำให้แฟนบอลผู้มองโลกตื้นเขินร้องยี้ ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้ง พวกเขามองหา มูรินโญ่, เป๊บ, หรือ คล็อปส์
โดยลืมหน้าที่ของแฟนบอลที่ดีที่ เซอร์ อเล็กซ์ เคยสั่งเสียไว้หลังเกมกับ สวอนซี เมื่อเดือนพฤษภาคม
-2-
มันไม่ต่างอะไรกับการการทำงานให้ผ่านโปรฯ ที่มีระยะเวลาที่สั้น และต้องเห็นผลงานในระยะเวลาที่กำหนด
โลกของฟุตบอลก็สะท้อนสังคมปัจจุบัน สะท้อนเทคโนโลยี ที่คนหลงลืมไปว่า โลกใบนี้ยังมี ความช้า อยู่
หากคุณอดทน คุณจะได้รับมันมาแบบรู้คุณค่า ไม่ต่างจากการเลือกผู้หญิง มองหน้า สบตา มันใช่ว่าแค่อ้าขาแล้วจบ
มันเป็นแนวทางความสำเร็จแบบฟาสต์ฟู้ด ที่คนรุ่นเจนวายและซี เข้าใจยาก เพราะพวกเขาไม่ลึกซึ้งมากพอ
พวกเขาต้องการซูชิขั้นเทพ ที่พร้อมเสิร์ฟ พวกเขาไม่ได้ไปสนใจว่า ความคลุ้มคลั่งยามเช้าที่ตลาดปลาซึกิจิเข้มข้นเพียงใด
พวกเขาไม่สนที่มา สนเพียงที่พวกเขาได้รับ
-3-
คนที่บอกว่าดูบอลมานานกี่สิบปี มันไม่ได้การันตีว่าคุณเข้าใจทุกอย่างนะ แล้วมันก็ยากกว่าการเล่นเกมอยู่หน้าจอ
ล้วนแล้วแต่เป็นพวกนักวิจารณ์ขี้แพ้ ไม่ก็กลุ่มคนปัญญาอ่อน ผมไม่ได้บอกว่าผมถูก แต่การที่ไปขับไล่ เดวิด มอยส์
ทั้งที่ลีกเริ่มไป 5 นัด แฟนบอลยูไนเต็ดพวกนั้นก็ไม่ต่างกับแฟนบอลของทีมที่ใช้เงินทุ่มซื้อความสำเร็จในทุกปี
ผมขอให้คุณมองดูแฟนบอล อาร์เซน่อล เป็นตัวอย่าง พวกเขาต้องทนต่อสู้ไปกับทีม กับ อาร์แซน เวนเกอร์ มาเท่าไหร่?
พวกเขาไม่ได้แชมป์มาตั้งแต่ปี 2005 แล้วมองดูทีมวันนี้ที่เขามีสิ?
ช่วงเวลาที่ผ่านไป ไร้แชมป์ สำหรับผมไม่ใช่ช่วงเวลาที่สูญเปล่าไปทั้งหมด มันเคยเป็นทีมเด็ก
มันเคยเป็นทีมอุดมคติของ เวนเกอร์ ที่ต้องการจะทำทีมอายุเฉลี่ยที่ 23
เขาก็ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงทีมในช่วง 3 ปีหลังมาแล้วว่า จะลุ้นแชมป์ จะทำงานใหญ่
ปรัชญานั้นใช้ไม่ได้ใน EPL ต้องมีคนที่มีประสบการณ์เป็นแกนหลักของทีมด้วย
ถ้าถามผมว่าเกมไหน ที่เวนเกอร์ตาสว่าง?
แน่นอนว่า 8-2 ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ต้องเป็นหนึ่งในเหตุผลนั้น
-4-
แมนฯ ยูฯ ไม่ได้มีประธานที่เข้ามาก้าวก่าย หรือบ้าคลั่งฟุตบอลเหมือน ซามปารินี่ (ปาแลร์โม่), เปเรซ,
อบราโมวิช, หรือชีค มันซูร์ แต่พวกเขามีนักธุรกิจ นักลงทุน ที่ทำงานในอีกมุมมองหนึ่ง
เพราะฉะนั้น แม้ เดวิด มอยส์ จะไม่ได้มีเวลา 4 ปีในการหาแชมป์แรกเหมือน เฟอร์กี้ ในปี 1990
แต่แน่นอนว่าเขาจะมีเวลาอย่างน้อย 2-3 ฤดูกาล ที่จะเรียนรู้และสร้างผลงาน
ด้วยวัฒนธรรมขององค์กร ต่างจาก เชลซี แมนฯ ซิตี้ ที่เติบโตขึ้นมาได้จากการลงทุนระยะสั้น
ยูไนเต็ด ให้โอกาสเด็กท้องถิ่น และทำงานกับนักเตะดาวรุ่ง เฟอร์กี้ทิ้งทีมที่เต็มไปด้วยนักเตะโฮมกราวน์
และเป็นนักเตะในสหราชอาณาจักร ไว้มาก หากเขาเลือก มูรินโญ่ มาทำทีม เด็กอย่าง เวลเบ็ค, เคลฟเวอร์ลีย์, สมอลลิ่ง
เอแวนส์, โจนส์ ไม่มีทางแจ้งเกิด แน่นอน เพราะเขาต้องการบิ๊กเนม เพื่อการันตีว่า จะไม่ต้องมาทนเห็นความผิดพลาด
ของเด็กหัดเดินพวกนี้
-5-
จากโครงสร้างทีมที่เฟอร์กี้ทิ้งไว้ คุณจะเห็นว่า 4-4-2 แทบไม่มีอยู่จริงแล้วในยุคนี้ เพราะมันถูกตัดแต่งพันธุกรรมใหม่
ให้ปรับตัวกับแวดล้อมการแข่งขัน เหตุไม่ใช่เพราะมันล้าสมัยในตัวของมัน แต่เป็นเพราะว่า ทุกทีมต้องการ
ที่จะครองบอล ไม่อยากการเสียประตูจากพื้นที่ที่พวกเขาเหลือไว้ให้คู่ต่อสู้
เฟอร์กี้ สร้างแมนฯ ยูฯ ให้ขึ้นเกมออกปีกสองข้าง ตั้งแต่ ชาร์ป-แคนเชลสกี้ส์, กิ๊กส์-เบ๊คแฮม, ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง
ในปี 2008 เพื่อ เตเวซ รูนี่ย์ โรนัลโด้ ได้ดึงศักยภาพออกมาด้วยกันสูงสุด พอ โรนัลโด้ย้าย ออกไปในปี 2009
แมนฯ ยูฯ กลับมาเป็นทีมที่ใช้ปีกสองข้างอีกครั้ง วาเลนเซีย-นานี่ แอชลีย์ ยัง และมีหน้าต่ำ เป็น รูนีย์ สนับสนุน เบอร์บาตอฟ
-6-
ปีที่แล้ว ชินจิ คากาวะ เข้ามาสร้างความแตกต่าง เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า อยากให้จ่ายทะลุช่อง เจาะตรงกลางมากขึ้นด้วยซ้ำ
เพราะเห็นเพื่อน พยายามผ่านบอลออกปีก แล้วใช้วิธีครอสบอลเข้าเขตโทษ วาเลนเซีย มีข้อดีตรงนี้ชัดเจน ที่พยายามจะเปิดเข้าไป
การเปิดเข้าเขตโทษก็เป็นการกดดันอย่างหนึ่ง แต่หลายคนมองว่ามันเป็นวิธีล้าสมัย ทุกวันนี้บอลต้องเจาะ ทำชิ่ง ตึ๊ดๆ เข้าไปยิงเท่ๆ
แต่คุณคงลืมไปว่า แมนฯ ยูฯ ไม่ได้มีอะคาเดมี่ ชื่อ ลาร์ มาเซีย นะ ไม่ต้องเทียบกัน มันเป็นเพียงวิธีการ ที่ต่างกัน
ปรัชญาฟุตบอลต่างกัน แล้วการเปิดเข้ากลาง ก็อันตรายของมันเองอยู่แล้ว ซึ่งแมนฯ ยูฯ ยุคเฟอร์กี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า
พวกเขาก็หากินด้วยรูปแบบนี้มาตลอดจนประสบความสำเร็จ
เพราะฉะนั้น มันจะต้องเป็นวิธีการที่ทุกคนต้องยอมรับ และไม่สามารถดูแคลนได้
-7-
คุณมี รูนี่ย์ คากาวะ ฟาน เพอร์ซี่ อยู่ในทีม จะทำอย่างไร? แน่นอนว่าพวกเขาต้องได้เล่นด้วยกัน เฟอร์กี้ วางระบบ 4-2-3-1
โดยมี คาร์ริค และ สโคลส์ คอยคุมกลาง แน่นอนว่ายังมีนักเตะแบบ กิ๊กส์ แบบ เคลฟเวอร์ลี่ย์ แอนเดอร์สัน หรือเฟล็ทเชอร์
ที่พร้อมเล่นตรงนี้ การมาของ เฟลไลนี่ ก็สร้างความแกร่งในเกมรับได้ แต่เขาไม่ใช่ตัวรุกธรรมชาติ เพราะฉะนั้นทำความเข้าใจใหม่
ว่า กลางรับสองตัวที่ ยูไนเต็ดมี ไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะทำเกมบุก เพราะมี ตัวรุก สามคน รับหน้าที่อยู่แล้ว
นั่นคือ คากาวะ รูนี่ย์ และ วาเลนเซีย ตำแหน่งของ คากาวะ จะยืนค่อนไปทางซ้าย รูนี่ย์ หน้าต่ำ จะเห็นว่าระบบนี้
ทำให้มีการสลับตำแหน่งเคลื่อนที่ได้อิสระ คือมีตัวบุก 4 ตัวรับ 6 โครงสร้างระบบจึงค่อนข้างแน่น แม้ว่านักเตะในทีม
จะไม่ใช่ระดับท็อป เหมือนทีมอื่น แต่เวลาลงไปเล่น เฟอร์กี้แสดงให้เห็นว่า เอาชนะได้ เพราะทีมเวิร์คและระบบการเล่น
ที่ ดึงศักยภาพของนักเตะ ได้ออกมาใช้สูงสุดไงครับ
-8-
แล้วนักเตะที่มีอยู่ในทีม ที่ยูไนเต็ดมี ผมจะแยกให้ชัดเจนว่า ทำไมพวกเขาถึงมาอยู่ในทีมได้ ทั้งที่ตำแหน่งเดียวกัน
มันคือการที่ทีมขนาดใหญ่ จะต้องมีนักเตะที่เล่นในหลากหลายสไตล์ไงครับ ถ้าเหมือนกัน เขาไม่ซื้อมาหรอก ดูอย่าง โอซิล ก็ได้
จากมิดฟิลด์ คาร์ริค คือตัวออกบอลจากหลัง เขามีวิสัยทัศน์ การอ่านเกม การประคองเกมตรงเกม ทำอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ
เข้าใจภาพรวม สั่งการได้ แม้ว่าจะช้า แต่เขาจะคอยมองเกมจากด้านหลังบอลเสมอ
เคลฟเวอร์ลีย์ เป็นนักเตะที่ให้บอลเร็ว จ่ายบอลง่าย ทำให้สปีดเกมเร็วขึ้น และมีความขยัน คล่อง เคลื่อนที่ดี
ต้องการเอาบอลมาเล่นตลอดเวลา เขาจะหาที่ว่างเพื่อรับบอลได้ดี ถ้ามองภาพรวม นักเตะแบบนี้ทำให้ทีมครองบอลได้มากขึ้น
แต่หากมองในมุมส่วนบุคคล ข้อเสียคือ ผ่านบอลยาวไม่แม่น ผ่านบอลแล้วเพื่อนไม่ได้เปรียบเท่าไหร่ จึงไม่เด่นในเกมบุก เหมาะเป็นผึ้งงานได้
อันแดร์สัน ออกบอลเร็ว จังหวะเดียว ชอบผ่านบอลไปข้างหน้า และจ่ายทะลุช่องดี เติมขึ้นไปลุ้นยิงได้ แต่จังหวะจบแย่
อันแดร์สันต่างกับกลางคนอื่นตรงไปกับบอลดี เลี้ยงพาบอลไปข้างหน้าได้ เปิดช่องให้ทีมได้เปรียบ
แต่จังหวะจ่ายบอลยังไม่ละเอียด เพราะยังใจร้อน
แต่ภาพรวมคือมีพลังขับเคลื่อนให้เกมเร็วขึ้นได้
เฟลไลนี่ เด่นที่ความแข็งแกร่ง การแย่งบอล และลูกกลางอากาศ เด่นในการเชื่อมเกม รับบอล จ่ายบอล
สร้างสมดุลให้ทีมมากกว่า ที่จะเป็นกลางคอยออกบอลสั้น ยาว เหมือนคาร์ริค แน่นอนว่า เล่นเกมรับได้ดีกว่า
จะเห็นเลยว่า เกม แพ้ซิตี้ 4-1 พอเฟลไลนี่ ถูกดันไปเล่นหน้าต่ำ แล้วทำไม่ได้ เพราะช้า และไม่ได้มีเทคนิคเยอะ
แต่ที่ไม่ถูกเปลี่ยนออกเพราะ เดวิด มอยส์ ติดนิสัยมาจากการคุมทีมเล็กแบบเอฟเวอร์ตัน มุมมองในเกมนี้
จึงถอดใจ เน้นการครองบอลเพื่อไม่ให้ทีมเสียประตูมากกว่านี้ และมุมมองนี้ถือเป็นบทเรียนที่สอนเขาแล้วว่า
การคุม แมนฯยูฯ ต่างจาก เอฟเวอร์ตัน แค่ไหนในเรื่องความทะเยอทะยานและความเสี่ยง
-9-
ปีกที่เฟอร์กี้ทิ้งไว้มีเยอะมาก เพราะปรัชญาการขึ้นเกมทางปีก เฟอร์กี้มีปีกให้เลือกเยอะจนมาถึงยุคมอยส์
นานี่ เด่นที่เทคนิค ลากตัดเข้าใน ยิงไกลได้ดี ครองบอลดี ไปกับบอลได้ และเปิดบอลได้ทั้งสองเท้า แต่เสียที่ผ่านบอลยาก
คร่อมจังหวะกับเพื่อนบ่อย เพราะมัวแต่ยึกยัก
แอชลีย์ ยัง เป็นปีกที่เล่นหน้าต่ำได้ดีตั้งแต่สมัยอยู่ แอสตัน วิลล่า มีทีเด็ดเรื่องของความเร็วจัด การเลี้ยงบอล
ลากตัดจากซ้ายเข้ามายิงได้ดี และเด่นที่สุดคือเรื่องการหาพื้นที่ เปิดบอลทแยงมุมเข้าไปกดดันในเขตโทษ
บอลจะโค้งและมีน้ำหนัก แต่เสียที่เล่นมิติเดียวเกินไป พยายามล็อกเข้าขวาก่อนทุกครั้งจนเคยชิน พอตันก็จ่ายคืนหลัง
แล้วก็มีปัญหากับการประสานงานกับเพื่อนอยู่
วาเลนเซีย เด่นที่สภาพร่างกาย วิ่งขึ้นลงได้ไม่มีปัญหา แข็งแกร่ง แต่ขาดความคล่องตัว การเปลี่ยนทิศทางขณะเร่งสปีด
ทำได้ช้ากว่า เพราะมีช่วงบนที่หนา เพราะฉะนั้น หากใครมาแข่งกับเขาเรื่องทางตรง ก็ยากหน่อยเพราะเร็วจัดมาก
นั่นเลยส่งผลต่อสไตล์การเล่นเขาด้วย ที่จะออกไปสุดเส้นแล้วเปิดยัดเข้ามา ข้อดีของวาเลนเซียคือ เล่นเป็นทีม ไม่ฝืน
ไปไม่ได้ก็คืนหลังหรือฝากไว้ที่ กองกลาง และก็ทำงานได้ตามแท็คติกคือ เปิดบอลเข้ากลางได้ตลอด การครอสบอลนี่แหละ
คือ 'ผลลัพธ์' ที่เฟอร์กี้ต้องการหลังยุคโรนัลโด้ ไม่สนใจว่า 'วิธีการ' จะหวือหวา ต้องสับขา หลอกล่อ ต้องลากตัดเข้ามายิงเท้าซ้าย
เอาเป็นว่า เปิดบอลเข้ามาในเขตให้กดดันได้ นั่นคือหน้าที่คุณ แค่นั้น และเขาช่วย ราฟาเอล เล่นเกมรับได้ดีที่สุดในบรรดา
ปีกที่มีทั้งหมดด้วย
-10-
คากาวะ เข้ามาเพิ่มมิติการบุกให้หลากหลาย สไตล์ของเขาคือ ผ่านบอลง่าย เคลื่อนที่ ให้คู่ต่อสู้ตามเขาไป เกิดช่องว่าง
เขายืนด้านซ้ายก็จริง แต่เขาเคลื่อนไปรอบๆ รวมถึงถอนต่ำไปเชื่อมบอลกับ มิดฟิลด์คู่กลางด้วย บทบาทเขาเลยหลากหลาย การจ่ายบอล
รวมถึงชอบไปแทรกระหว่างช่องของแนวรับของฝ่ายตรงข้าม นั่นคือจุดอันตรายที่เขาทำได้ดีมาก เหมือนหนูที่คอยซ่อนตัวอยู่
เราจะเห็นว่าเขาได้บอลในพื้นที่ไม่อันตราย 35-40 หลา เคาะบอล ไปเรื่อยๆ แต่เขาเคลื่อนตลอดเวลา แว๊บเดียวก็และแทรกเข้าไป
อยู่ในพื้นที่ยิงประตูได้ ซึ่ง ยูไนเต็ดขาดคนแบบนี้ มานานมาก อาจบอกได้ว่าไม่เคยมีเลยก็ได้ในช่วง 15 ปีหลัง
ข้อเสียคากาวะคือ สภาพร่างกาย และการปะทะหนัก คากาวะ แสดงให้เห็นว่ามีปัญหา รวมถึงการประสานงานยังขาดๆ เกินๆ บ้าง
บางครั้งก็ฝืนครองบอลนานไปบ้าง แต่เขาไม่เจอปัญหานี้ที่เยอรมัน นี่เลยเป็นสิ่งที่เขาต้องปรับตัว
เมื่อคุณมี เวลเบ็ค ล่ะ? แดนนี่ น่าจะเป็นนักเตะที่ underrated นะ สำหรับผม ถ้าใครได้ดูและสังเกต เวลเบ็คได้ออกสตาร์ทก่อน
คากาวะเพราะ เป็นนักเตะที่ครบเครื่องนะ แข็งแกร่ง มีความเร็วจัด คล่องตัว เก็บบอลได้ ขยัน สร้างความแตกต่างได้
และเด่นลูกกลางอากาศด้วย เกมที่เบอร์นาบิวปีเมื่อต้นปี เวลเบ็ค สร้างปัญหาให้แนวรับมาดริดของ มูรินโญ่ มาก เวลามั่นใจ
เขาจะกล้าเลี้ยงทะลุทะลวง แต่ข้อเสียคือ ตัดสินใจไม่ดี ไม่รู้ว่าเวลาไหนควรเก็บบอลไว้ หรือ ผ่านบอล รวมถึงความมั่นใจ
ในการจบสกอร์ ที่เขามีปัญหา ทำให้หลายคนมองข้ามเขาไป จุดดีเขาก็มี และเล่นเพื่อทีมมากๆ ด้วย แต่ความผิดพลาด
ทำให้หลายคนเลือกที่จะมองในด้านลบมากกว่า แต่ผมมองว่าเขาพัฒนาได้อีกไกล จากสิ่งที่มี ต้องการอีกไม่มาก
เพราะเหตุนี้ โค้ชบ้านเขา ทั้งมอยส์ และเฟอร์กี้ ก็พยายามดัน เด็กท้องถิ่นที่มีแววไว้ก่อน ยังไงก็ไม่ถูกแช่แข็งแน่นอน
และผมว่าเขาก็มีความสามารถสูง แฟนบอลต้องมองในมุมบวก ที่เขามอบให้ทีมครับ
-11-
ที่ผมร่ายยาวมาขนาดนี้ เป็นเพราะต้องการอธิบาย ว่าฟุตบอลมันเล่นกัน 11 คน คนที่เข้าใจโครงสร้างของทีมโดยรวม จะเข้าใจ
และรู้ว่าทำไมตัวเองต้องอดทน หรือยอมรับบางสิ่งอย่างที่เราอาจไม่เห็นด้วยได้ เพียงถอยออกมามองในมุมที่กว้างขึ้น
และพยายามมองใน ภาพรวม เหมือนคุณเป็น อันเดรีย ปีร์โล่ เพลย์เมกเกอร์ที่ยืนอยู่หน้ากองหลัง ไม่ต้องไปลุ้นยิงประตู แต่คุณเข้าใจ
แล้วว่าภาพรวม การยืนตำแหน่ง ของเพื่อนร่วมทีมรอบๆ คุณ เป็นอย่างไร แล้ว พยายามทำให้มันสมดุล
การจ่ายบอลสั้นๆ ง่ายๆ แล้วขยับตัวเองมาในพื้นที่ที่รับบอลได้ การทำเรื่องที่คุณคิดว่าจ่ายบอลง่ายๆ แบบ ชาบี เอร์นานเดซ นั้น คุณคิดว่า
ทำไมเขาถึงได้รับการยกย่องว่าเป็น the master เพราะเขาเป็นคนที่มองเห็นภาพรวมทั้งหมดของบาร์เซโลน่า และรู้ว่าจังหวะไหน
ควรฝากบอล ออกบอล หรือขวางบอลซื้อเวลา รอช่องแนวรับเปิด หากเรามองในภาพนี้ได้ เราจะเข้าใจครับ
ว่า เดวิด มอยส์ ต้องการเวลา แม้แต่การซื้อขายนักเตะ เราไม่ควรซ้ำเติมเลย เพราะเขาเพิ่งเข้ามาคุมทีม เขาต้องเห็นนักเตะก่อน
จากเกมอุ่นเครื่อง เขาต้องทำงานร่วมกับนักเตะมากมาย เขาจึงจะมองออกว่าเขาต้องเสริมจุดไหน แม้แต่เฟลไลนี่ ผมก็ยังไม่คิดว่า
เขาตั้งใจจะซื้อแต่แรก แต่การซื้อเขามาก็ไม่ได้เลวร้าย อาจสร้างความต่างจากที่มีได้ในบางมุมมอง เพียงแต่เราไม่ควรไปด่วนตัดสินเขา
มันก็เหมือนกับชีวิตคนเราจริงๆ ที่เราควรศึกษาและรู้จักเลือกมองสิ่งต่างๆ ในหลายๆ มุมก่อน เราอาจจะพลาดสิ่งดีๆ ไปก็ได้
และผมยังเชื่อว่า เดวิด มอยส์ คือ คนที่ใช่สำหรับยูไนเต็ด ที่มีรอยัลตี้ และสปิริตแบบบริติชดั้งเดิม ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ใน้อยเต็มทีในฟุตบอล
สมัยใหม่ เฟอร์กี้สร้างทีมมาด้วยความเชื่อมั่น และสปิริต แมนฯ ยูฯ ยังเป็นทีมที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ตายยากอยู่ ด้วยทัศนคติที่
โค้ชคนก่อนได้ปลูกฝังไว้ และมอยส์ จะเดินไปด้วยความเชื่อมั่นแบบเดียวกันแน่นอน
ในฐานะแฟนบอล ผมก็ต้องให้ความเชื่อแบบนั้นกับเขาเหมือนกัน ผมก็อยากเห็นเหมือนกันว่า แมนฯยูฯ จะตกต่ำไปแค่ไหน
รสชาติของการดิ้นรนมันเป็นอย่างไร ผมก็รับได้นะ ถ้ามันมีวันนั้นจริงๆ
"งานของพวกคุณคือ จงยืนเคียงข้างผู้จัดการทีมคนใหม่ เหมือนที่พวกคุณเคยยืนข้างผม"
-เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน-