ที่มาของการพระราชทาน นามสกุล ที่มีคำว่า “ณ”
ที่มาของการพระราชทาน นามสกุล ที่มีคำว่า “ณ”
สกุลต่าง ๆ ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ณ” (อ่านว่านะ) นั้นเป็นสกุลสามัญชน แต่เพราะบรรพบุรุษทำคุณงามความดีแก่แผ่นดินและมีบทบาทสำคัญในบ้านเมืองนั้น ๆ รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์จะให้ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ และให้คนทั้งปวงได้ทราบถึงเกียรติคุณนี้ จึงพระราชทานนามสกุลว่า ณ แล้วตามด้วยชื่อเมืองที่เกี่ยวข้อง
ข้อนี้คงจะทรงได้แบบอย่างมาจากฝรั่งเศสซึ่งมีธรรมเนียมมาแต่โบราณที่ผู้สืบเชื้อสายจากขุนนางหรือบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองต่าง ๆ จะใช้คำว่า “de” (อ่านว่าเดอ) ต่อท้ายชื่อ เช่น มาดาม เดอ แม็งเตอนง (พระสนมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (ทูตฝรั่งเศสคนแรกที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (ทูตฝรั่งเศสคนที่ 2 ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) เดอ แปลว่าของ (of) ในภาษาไทยใช้ว่า ณ ซึ่งแปลว่าที่ ของ แห่ง ก็ไพเราะดี
ตระกูล “ณ” เหล่านี้ทำคุณงามความดีแก่บ้านเมืองไว้มาก ถ้าไม่ใช่เพราะช่วยรักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้ก็เพราะจัดการปกครองเรียบร้อยดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี สมัยก่อนคำว่า “ณ” จะสงวนไว้เป็นนามสกุลพระราชทาน แต่หลัง ๆ มานี้ตั้งกันเองเป็น ณ โน่น ณ นี่ก็มี
“ณ นคร” เป็นนามสกุลสามัญมีชื่อเสียงทางปักษ์ใต้มาแต่โบราณ แต่จะว่าเป็นสกุลสามัญชนเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะเป็นสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหมดบุญ สกุลนี้ก็ลดลงเป็นสกุลสามัญชนแต่ก็มีคุณงามความดียิ่งใหญ่มาตลอด
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระสนมคนหนึ่งชื่อ “ปราง” เป็นลูกสาวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) หัวหน้าก๊กเจ้านครซึ่งเป็น 1 ใน 5 ก๊กที่ตั้งตัวเป็นใหญ่หลังกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กเจ้านครได้แล้วเจ้านครก็ได้ถวายบุตรี 2 คน คือ ฉิมผู้พี่และปรางผู้น้องเข้าไปรับราชการเป็นพระสนม (การเป็นพระสนมถือเป็นการทำราชการอย่างหนึ่ง) เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลกไม่รู้ว่าแม่ปรางได้เป็นพระสนมแล้วจึงทูลขอตัวไปเป็นภริยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกริ้วว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง บังอาจจะมาเป็นเขยใหญ่เขยเล็กเทียบกับพระองค์ จึงให้ประหารชีวิตเจ้าพระยาพิชัยราชา
เรื่องนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ลือกันว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระสติวิปลาส เพราะเจ้าพระยาพิชัยราชาเป็นนายทหารใหญ่และมีบริวารมาก
ต่อมาอุปราชพัฒน์ ลูกเขยเจ้านคร (หนู) ขึ้นไปเฝ้าที่ธนบุรีทรงทราบว่าเป็นม่ายเมียตายก็พระราชทานเจ้าจอมปรางให้ไปเป็นเมียอุปราชพัฒน์ (คุณปรางเป็นน้องเมีย) ปรากฏความภายหลังว่าเจ้าจอมปรางมีครรภ์ติดไป อุปราชพัฒน์จะถวายคืนก็ไม่ได้ จะ
ล่วงเกินก็ไม่ได้ ได้แต่ยกให้เป็นท้าวนางผู้ใหญ่ ต่อมาอุปราชพัฒน์ได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครแทนพ่อตา บุตรที่คลอดมาให้ชื่อว่า “น้อย” คนทั้งเมืองนครเรียกว่าคุณชายน้อย ที่เรียกเจ้าฟ้าน้อยก็มี
เรื่องคุณชายน้อยเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นที่ทราบทั่วไป รัชกาลที่ 1 ก็ทรงทราบ โปรดฯ ให้รับขึ้นมาอุปการะในกรุงเทพฯ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ถึงอสัญกรรม คุณชายน้อยก็ได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแทนพ่อเลี้ยง มีบทบาทสำคัญในการรบกับหัวเมืองไทรบุรีและรบกับพม่าที่มาตีถลาง
รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุลให้ผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าพระยานคร (พัฒน์) พ่อเลี้ยงของท่าน และเจ้าพระยานคร (หนู) คุณตาของท่านว่า “ณ นคร” แต่เฉพาะสายเจ้าพระยานคร (น้อย) ลงมาเท่านั้นที่เป็นเชื้อสายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาเจ้าพระยามหาศิริธรรม (เมืองหรือน้อยใหญ่) บุตรคนโตของเจ้าพระยานคร (น้อย) ขอแยกไปรับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “โกมารกุล ณ นคร” และพระยาเสนามหามนตรี (น้อยเอียด) บุตรคนเล็กขอแยกไปใช้อีกนามสกุลว่า “จาตุรงคกุล” สกุลเหล่านี้แม้แยกสายไปก็เป็นญาติกันและถือว่าสืบมาจากเจ้าพระยานคร (น้อย) พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้าจอมมารดาปรางทั้งสิ้น
ปลายกรุงธนบุรีเรามีเรื่องรบกับเวียงจันทน์ ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปรบจนชนะได้พระแก้วมรกตและพระบางกลับมา เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) เจ้าเมืองโคราชไปรบด้วย ระหว่างนั้นภริยาของท่านถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพระเมตตา พระราชทานเจ้าจอมยวนหรือจวน พระสนมไปเป็นภริยา แต่ก็ซ้ำเหตุการณ์เดิมเพราะเจ้าจอมยวนมีครรภ์ติดไปก่อน ไม่กี่เดือนต่อมาก็คลอดบุตรเป็นชายชื่อทองอินทร์
ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ทองอินทร์ได้เป็นเจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองโคราช มีอำนาจปกครองทั่วอีสาน คนทั้งปวงก็รู้ว่าท่านเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมัยนั้นเองที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพจากเวียงจันทน์มาตีอีสาน ระหว่างที่ท่านเจ้าพระยาและพระยาปลัดเมืองไปราชการหัวเมือง ทัพเจ้าอนุวงศ์มาถึงโคราช กวาดต้อนผู้คนไปเป็นอันมาก ภริยาพระยาปลัดเมืองที่ชื่อ “โม” รวบรวมผู้คนสู้กับข้าศึกจนชนะ ภายหลังได้เป็นท้าวสุรนารี (ย่าโม)
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) มีบุตรหลายคน ต่างแยกใช้นามสกุลที่สืบมาจากท่านและท่านผู้หญิงคือ อินทรกำแหง ที่แยกไปใช้สกุลอื่นมี มหาณรงค์ อินทโสนัส เมนะรุจิ ชูกฤส คชวงศ์ เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 9 ลูกหลาน 6 สกุลขอพระราชทานนามสกุลใหม่ใช้ร่วมกันว่า “ณ ราชสีมา” ซึ่งก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่ขอ
คราวที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพลงไปปราบก๊กเจ้านคร (หนู) นั้นได้ทรงเลยไปถึงเมืองสงขลา ได้ทรงตั้งนายโยม ชาวเมืองสงขลาเป็นพระสงขลา ครั้งนั้นจีนฮกเกี้ยนอาชีพค้าขายชื่อ “เหยี่ยง แซ่เฮา” ได้เข้าสวามิภักดิ์ โปรดฯ ให้เป็นหลวงอินทคีรีสมบัติ นายอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า
ต่อมาพระสงขลา (โยม) ปกครองราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก หลวงอินทคีรีสมบัติ (เหยี่ยง) เข้าไปถวายรายงานสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดฯ ให้กลับลงไปเป็นหลวงอินทคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลาแทนพระสงขลา หลังจากนั้นลูก หลาน เครือญาติของท่านได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาสืบต่อมาโดยไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่จะมีราชทินนามว่า “วิเชียรคีรี” และล้วนมีบทบาทเข้มแข็งในการรักษาเมืองสงขลาและหัวเมืองปักษ์ใต้ตอนล่างไว้ได้ ทั้งยังสร้างความเจริญแก่เมืองสงขลาเป็นอันมาก เช่น ตัดถนน สร้างสะพาน โรงเรียน วัด เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 6 แต่งงานกับท่านผู้หญิงสุทธิ ท่านผู้หญิงผู้นี้เองที่สร้างวัดสุทธิวราราม ที่ยานนาวา บุตรคนโตของท่านชื่อเนตร ได้เป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ เป็นบิดาของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองสงขลาคนสุดท้าย และพระอนันต์สมบัติ (เอม)
พระอนันต์สมบัติ (เอม) เป็นบิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตร์) และพระยามานวราชเสวี (ปลอด) สองนักกฎหมายผู้ยิ่งใหญ่ คนพี่โด่งดังทางศาลได้เป็นอธิบดีศาลฎีกา คนน้องโด่งดังทางอัยการ ได้เป็นอธิบดีกรมอัยการ แต่ที่เหมือนกันคือได้เป็นรัฐมนตรี ประธานสภา และองคมนตรีในรัชกาลปัจจุบันทั้งคู่
สกุลที่สืบจากจีนเหยี่ยงนี้ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “ณ สงขลา” ปกครองเมืองสงขลามานานถึง 130 ปี จนถึง พ.ศ.2447 เมื่อพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองสงขลาคนสุดท้ายถึงแก่กรรม รัชกาลที่ 5 จึงให้จัดระเบียบการปกครองหัวเมืองใหม่
สกุล “ณ” นอกจากนี้ซึ่งขออภัยที่คงจะเล่าต่อไปไม่หวาดไม่ไหว ดีไม่ดีจะมีคนเขม่นว่าเล่าแต่สกุลอำมาตย์ ยังมีอีกหลาย ณ เช่น ณ ระนอง คนสำคัญในสกุลนี้คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เจ้าเมืองตรัง ที่นำยางพาราต้นแรกมาปลูกในปักษ์ใต้ ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน เป็นสกุลเจ้าฝ่ายเหนือซึ่งก็เป็นญาติกัน
เดิมรัชกาลที่ 6 เคยโปรดฯ ให้พวกสืบเชื้อสายจากราชสกุลที่เป็นนาย นาง นางสาว หรือคนที่สมรสกับสมาชิกในราชสกุลใช้คำว่า ณ กรุงเทพฯ ต่อท้ายสกุล เช่น ลูกของ ม.ร.ว. เป็น ม.ล. แต่พอลงไปจาก ม.ล. ก็เป็นนาย นางสาว คนเหล่านี้ให้ใช้ราชสกุลแล้วต่อท้ายว่า ณ กรุงเทพฯ เช่น อิศรางกูร ณ กรุงเทพฯ เทวกุล ณ กรุงเทพฯ ต่อมามีพระราชดำริว่าราชสกุลทั้งหลายไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นในกรุงเทพฯ แต่มีประวัติย้อนไปถึงสมัยอยุธยาได้ จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนเป็น ณ อยุธยา แทนจนกระทั่งทุกวันนี้
ที่มา
http://iam.hunsa.com/happysung/article/102079