เรื่องต้องรู้!...วิธีทำบุญวันเกิดให้ถูกต้องทุกขั้นตอน...เพื่อเสริมบุญบารมี มั่งมีศรีสุข ทุกข์นิราศ..
จุดเริ่มต้นของประเพณีการทำบุญวันเกิดนั้น มาจากสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ท่านมีพระราชดำริว่าเมื่ออายุมากครบรอบบรรจบปีหนึ่งๆ เราควรมีความรู้สึกยินดีและก็ควรทำอะไรที่เป็นประโยชน์เป็นบุญกุศลต่อตัวเองและผู้อื่น ให้คุ้มค่ากับที่มีชีวิตผ่านพ้นมาได้ปีหนึ่งๆ และท่าน ก็ได้ทรงทำบุญตักบาตรเป็นตัวอย่างโดยการสวดมนต์เลี้ยงพระจำนวน 10 รูปอย่างเรียบง่ายเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ต่อมาก็เริ่มเป็นพวกเจ้าขุนมูลนายต่างๆที่ทำตามแต่ลดจำนวนการทำบุญเลี้ยงพระลงเปลี่ยนไปเป็นงานเลี้ยงที่สนุกสนานครึกครื้นมากขึ้น จนกลายเป็นประเพณีการทำบุญวันเกิดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบในการทำบุญวันเกิด การทำบุญวันเกิดมีรูปแบบและวิธีการปฏิบัติที่หลากหลายอันสามารถเลือกปฏิบัติได้ตามสะดวกและตามความสบายใจดังนี้
1. ตักบาตรพระสงฆ์จำนวนกิโลก็ได้ตามสะดวก
2. อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ
3. บำเพ็ญกุศลให้กับตัวเองเนื่องในวันเกิด
4. สวดมนต์ ฟังเทศน์
5. ถวายสังฆทาน
6. ทำทานด้วยการปล่อยสัตว์ เช่น โคกระบือ ปล่อยนก ปล่อยปลา
7. ทำทานด้วยการให้เพื่อนมนุษย์ เช่น การบริจาคตามบ้านเด็กต่างๆ หรือช่วยเหลืองานสังคม
8. รักษาและดำรงตนให้อยู่ในศีล
9. กราบเท้า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นการรับพรที่เป็นสิริมงคล
10. ตั้งใจเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นมากกว่าตั้งใจเป็นผู้รับ
ข้อพึ่งปฏิบัติในการทำบุญวันเกิด
1. ดำรงตนเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน อาจไปทำทานบริจาคแก่ผู้ด้อยโอกาสต่างๆช่วยเหลือ “ไถ่ชีวิตสัตว์”
2. การทำบุญวันเกิดที่ดี ควรเน้นเป็นบุญที่ไม่ยึดติดกับวัตถุ เช่น การถือศีลทำจิตใจให้สงบหรือการเข้าไปฟังเทศน์แล้วทำบุญตามกำลังศรัทธา
3. หากต้องไปร่วมงานวันเกิดผู้ใหญ่คำอวยพรที่เหมาะสมต้องอ้างถึง “คุณพระศรีรัตนตรัย” ก่อนแล้ว ตามด้วยคำอวยพร ส่วนของขวัญก็ควรดูตามความเหมาะสม
4. สำหรับผู้ใหญ่ที่อวยพรวันเกิดผู้ที่อายุน้อยกว่าก็ควรใช้คำอันเป็นมงคล
5. ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายหรือต้องสิ้นเปลืองมากมายในการทำบุญวันเกิด
อานิสงส์ที่ได้รับจากการทำบุญวันเกิด
ผลแห่งการทำบุญในวันเกิด จะเกิดขึ้นดังข้อเขียนในพระไตรปิฎกที่อยู่ว่าไว้เป็นพุทธภาษิตเล่มที่ 15 ข้อ 138 หน้า 44 ความว่า “ผู้ให้อาหาร” เชื่อว่าคือ “ให้กำลัง” “ผู้ให้ผ้า” เชื่อว่า “ให้ผิวพรรณ” “ผู้ให้ทาน” เชื่อว่า “ให้ความสุข” “ผู้ให้ประทีป” เชื่อว่า “ให้ดวงตา” และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ข้อ 44 หน้า 66 ความว่า “ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ ย่อมได้สิ่งที่น่าพอใจ” “ผู้ให้สิ่งที่เลิศย่อมได้สิ่งที่เลิศ” “ผู้ให้สิ่งประเสริฐย่อมได้สิ่งที่ประเสริฐ” “ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐสุดย่อมได้สิ่งที่ประเสริฐสุด”
การปล่อยปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ การทำบุญทำทานด้วยการปล่อยปลา
และสัตว์น้ำอื่นๆ เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติกันมานาน เพราะเชื่อกันในความหมายของปลา หรือสัตว์น้ำอื่นๆที่ปล่อย หรือไม่ก็เชื่อว่า “การให้ชีวิตสัตว์โลก จะช่วยให้ผ่านความทุกข์ ความยากลำบากในชีวิตของช่วงนั้นๆ ให้ผ่านไปได้” โดยมีความหมายของสัตว์ที่ปล่อย ดังนี้
ปลาไหล เชื่อว่า มันจะช่วยให้ไร้ อุปสรรค ขจัดปัญหา การเงินการงานที่ติดขัดจะได้รับความช่วยเหลือราบรื่น
ปลาหมอ เชื่อว่า จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือ ช่วยให้โรคที่ประสบอยู่บรรเทาทุเลาลง
ปลาดุก เชื่อว่าจะช่วยให้รอดพ้นจากศัตรูสิ่งที่ไม่ดีต่างๆได้
ปลาดุกเผือก เชื่อว่า จะช่วยให้เสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตที่ดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งขึ้นหากอยู่ในช่วงที่ไม่ดีก็จะเบาลง
ปลาช่อน เชื่อว่า จะช่วยให้สิ่งที่มุ่งหวังอยู่สำเร็จได้หรือไม่ก็ช่วยให้ได้รับเงินรับทอง
ปลาดำราหู เชื่อว่า จะช่วยลดเคราะห์ร้าย หรือลดความทุกข์ยากลำบากที่เผชิญอยู่ให้เบาลงและป้องกันการเกิดเหตุร้ายแรงที่ไม่คาดฝัน
ปลานิล เชื่อว่า จะช่วยเสริมให้ได้รับโชคลาภทรัพย์สินเงินทองเพิ่มขึ้นส่งเสริมให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง
ปลาทับทิม เชื่อว่าจะช่วยให้หน้าที่การงานการศึกษาเป็นไปได้ด้วยดีไม่มีอะไรติดขัด
ปลาสวาย เชื่อว่า จะช่วยให้พาคุณผ่านช่วงที่ติดติด ขัดขัด ชักหน้า ไม่ถึงหลังไปได้ด้วยดี ในระยะเวลาอันสั้น
ปลาจาละเม็ด เชื่อว่า จะช่วยเสริมให้ดวงแข็งขึ้นไม่ถูกใครเอารัดเอาเปรียบได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ปลาบู่ เชื่อว่า จะช่วยให้ผู้มีพระคุณได้รับบุญกุศลและสะเดาะเคราะห์ให้ ผู้มีพระคุณ
ปลาขาว เชื่อว่า จะช่วยให้เกิดแต่สิ่งที่ดีงามขึ้น ทำสิ่งใดก็เกิดแต่เรื่องดีดี มีโชคลาภที่ดีคอยเกื้อหนุน
ปลาใน เชื่อว่า จะช่วยเสริมให้ได้รับการเคารพนับหน้าถือตาที่ดี มีลูกน้องบริวารที่อยู่ในโอวาท
หอยขม เชื่อว่า จะช่วยให้ชีวิตที่กำลังทุกข์ขมขื่นให้มีความสุขสดใสมากขึ้น
หอยโข่ง เชื่อว่า จะช่วยให้สิ่งที่กำลังมุ่งหวังอยู่เป็นจริงได้ โดยง่าย และมีคนที่ดีคอยช่วยเหลืออุปถัมภ์
ตะภาพ เชื่อว่า จะช่วยให้อายุมั่นขวัญยืน สามารถปราบความเลวร้ายที่เข้ามาได้สิ้นซาก และเชื่อว่าดีกับผู้ที่เป็นอัมพาต
กบ เชื่อว่า เป็นการช่วยให้เจ้ากรรมนายเวรได้รับกุศล
การเลือกของทำบุญใส่บาตรตามวันเกิด
วันอาทิตย์
อาหารคาว : ประเภทไข่ ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ต้ม แกงกะทิ
อาหารหวาน : ไข่หวาน มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก้ว ขนมใส่กะทิ น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะพร้าว น้ำขิง เงาะ
ของถวายพระ : หลอดไฟ ไฟฉาย เทียน ธูป อุปกรณ์แสงสว่าง แว่นตา หมากพลู
ไหว้พระ : ปางถวายเนตร (พระประจำวันเกิด) บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) อะ วิช สุ นุส สา นุต ติ
ทำทาน : เติมน้ำมันตะเกียงตามวัด ช่วยเหลือทำทานแก่คนตาบอด โรงพยาบาลโรคตา มูลนิธิคนตาบอด โรงพยาบาลโรคหัวใจ มูลนิธิโรคหัวใจ
พฤติกรรม : ออกรับแสงอาทิตย์อ่อนๆ ช่วงเช้าหรือเย็นๆ เพื่อให้เกิดพลัง อย่าใจร้อน เลิกทิฐิ ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
วันจันทร์
อาหารคาว : ประเภทสัตว์ปีก สัตว์น้ำ เช่นไก่ผัดขิง ไก่ย่าง ไก่ทอด ปูผัดผงกะหรี่ ปูนึ่ง ข้าวมันไก่ ข้าวผัดปู เต้าหูทอด แกงจืดเต้าหู้ แกงเผ็ดเป็ดย่าง ปลาสลิดทอด
อาหารหวาน : น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำอ้อย โดนัท นมสด นมกล่อง เผือก มัน ลางสาด ขนมเปี๊ยะ
ของถวายพระ : แก้วน้ำ แจกัน ของโปร่งๆ ใส ๆ
ไหว้พระ : ปางห้ามญาติ (พระประจำวันเกิด)
บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา ทำทาน : มูลนิธิช่วยเหลือสตรี
พฤติกรรม : ทำจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส อยู่เสมอ อย่าวิตกกังวลเกินเหตุ ให้ความช่วยเหลือสตรี เช่น ลุกให้สตรีนั่งบนรถเมล์
วันอังคาร
อาหารคาว : อาหารประเภทเส้น ขนมจีน วุ้นเส้น บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว ปลาช่อนตากแห้งทอด
อาหารหวาน : ฝอยทอง สลิ่ม ลอดช่อง ทุเรียน ระกำ ขนุน
ของถวายพระ : เหล็ก เครื่องมือประเภทเหล็ก กรรไกร แปรงสีฟัน ยาสีฟัน พัดลม กรรไกรตัดเล็บ
ไหว้พระ : ปางไสยาสน์ (พระนอน) บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง
ทำทาน : คนพิการทางปาก ปากแหว่ง ผู้ป่วยโรคลมชัก
พฤติกรรม : ทำตัวให้กระฉับกระเฉง ตื่นตัว ขยันให้มากขึ้น ลดอารมณ์ร้อน
วันพุธ (กลางวัน)
อาหารคาว : แกงเขียวหวานหมู หมูปิ้ง หมูทอด ผัดพริกหมู คะน้าน้ำมันหอย
อาหารหวาน : ขนมเปียกปูนเขียว น้ำฝรั่ง ชมพู่เขียว องุ่นเขียว มะม่วงเขียวเสวยฝรั่ง
ของถวายพระ : สมุด กระดาษ ปากกา ดินสอ อุปกรณ์การเรียนการศึกษา
ไหว้พระ : ปางอุ้มบาตร (พระประจำวันเกิด) บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท
ทำทาน : คนพิการทางหู โรงพยาบาลโรคสมอง โรงเรียนสอนคนหูหนวก
พฤติกรรม : อ่านหนังสือธรรมะ ร้องเพลง ฝึกสร้างความมั่นใจให้ตนเอง
วันพุธ (กลางคืน)
อาหารคาว : ของหมักดอง ผักกาดดองผัดไข่ อาหารกระป๋อง แกงใบยอ หมูยอ แหนม ไข่เยี่ยวม้า ห่อหมก
อาหารหวาน : ข้าวหมาก ขนมเปียกปูนดำ เฉาก๊วย ข้าวเหนียวดำ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้หัวโตๆ ทุเรียน
ของถวายพระ : พัดลม เทปธรรมะ ยาแก้โรคลม ยาหอม
ไหว้พระ : ปางป่าเลไลย์ (พระประจำวันเกิด) บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ
ทำทาน : มูลนิธิหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับยาเสพติด
พฤติกรรม : เลิกบุหรี่ เลิกดื่ม หรือลดปริมาณ การดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เลิกการพนัน เลิกทำตัวเหลวไหล เลิกเที่ยวกลางคืน เลิกยาเสพติดทุกชนิด
วันพฤหัสบดี
อาหารคาว : ประเภทเถา แกงเลียง บวบผัดไข่ น้ำเต้า
อาหารหวาน : แตงโม แตงไทย น้ำสมุนไพร ส้ม สาลี่ น้ำมะตูม น้ำว่านหางจระเข้
ของถวายพระ : สบง จีวร หนังสือธรรมะ ตู้ยา โต๊ะหมู่บูชา
ไหว้พระ : ปางสมาธิ (พระประจำวันเกิด) บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ
ทำทาน : โรงพยาบาลสงฆ์ บริจาคข้าวสาร เสื้อผ้า ผ้าห่มกันหนาว
พฤติกรรม : นั่งสมาธิ สวดมนต์ ถือศีล 5 อย่าซื่อจนเกินไป
วันศุกร์
อาหารคาว : ประเภทของหอม หวาน ข้าวหอมมะลิ ผักกาดหอม ไข่เจียวหอมใหญ่ยำหัวหอม
อาหารหวาน : ขนมหวาน หอมทุกชนิด น้ำเก๊กฮวย ผลไม้ที่มีกลิ่นหอม กล้วยหอม
ของถวายพระ : นาฬิกา โต๊ะรับแขก ดอกไม้สวยหอม ระฆัง ย่าม
ไหว้พระ : ปางรำพึง (พระประจำวันเกิด) บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) วา โธ โน อะ มะ มะ วา
ทำทาน : เด็กด้อยโอกาส ให้เงิน ให้เสื้อผ้า อาหารที่หอมหวานชวนกิน เช่น ไอศกรีม
พฤติกรรม : ทำตัวให้สดชื่นแจ่มใส ดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่ตลอด จัดสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ สวยงาม เลิกการฟุ่มเฟือย
วันเสาร์
อาหารคาว : ประเภทของขม ของดำ มะระยัดไส้ สะเดาน้ำปลาหวาน น้ำพริกปลาทู มะเขือยาว
อาหารหวาน : ลูกตาลเชื่อม กาแฟ โอเลี้ยง
ของถวายพระ : ร่มสีดำ กระเบื้องมุงหลังคา ไม้กวาด สร้างห้องน้ำถวายวัด
ไหว้พระ : ปางนาคปรก (พระประจำวันเกิด) บูชาด้วยบทสวดมนต์(แบบย่อ) โส มา ณะ กะ ระ ถา โธ
ทำทาน : โรงพยาบาลโรคจิต โรงพยาบาลโรคประสาท
พฤติกรรม : กวาดลานวัด ล้างห้องน้ำวัด ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี ขยะในบ้านยกทิ้งทุกวัน อย่าหมักหมม