[RE: ^^หลวงปู่เอี่ยม ผู้ถวายคำพยากรณ์ แด่ ร.๕ (ตอนที่ 1) ค่ะ^^]
เมื่อล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๕ ได้รับคำแนะนำจากพระเจ้าน้องยาเธอ "กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์"ให้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เข้านมัสการ "หลวงปู่เอี่ยม" วัดโคนอน เพื่อขอรับคำพยากรณ์ก่อนที่จะเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น ภายหลังที่กำหนดการเสด็จวัดโคนอนได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ส่งหมายกำหนดการไปถวายแด่หลวงปู่เอี่ยม เป็นการภายใน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับเสด็จ
ขบวนเสด็จประกอบด้วย เรือพายสี่แจวที่ทรงประทับ และขบวนเรือคุ้มกัน ควบคุมโดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ ได้เคลื่อนที่เข้าคลองลัดสู่วัดโคนอน ชาวบ้านละแวกนั้นไม่ได้ไหวตัวหรือเอะใจแต่อย่างใด เพราะเห็นเป็นขบวนเรือธรรมดา มิได้ประดับประดาธงทิวให้แปลกไปกว่าเรือลำอื่นดูเหมือนกับเรือที่ขุนนางหรือเศรษฐีผู้มีทรัพย์ใช้กันทั่วไป และผู้ที่ขึ้นมาจากเรือสี่แจวต่างก็แต่งกายแบบธรรมดา มีหมวกสวมไว้บนศีรษะ ใบหน้าบ่งบอกถึงเป็นผู้มีบุญ หนวดบอกถึงผู้มีอำนาจดวงตาฉายแววแห่งความเมตตาปราณีตลอดเวลา เวลาเดินมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง ทุกคนไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า
"บุรุษผู้ขึ้นมาจากเรือสี่แจวนั้น คือ เจ้าชีวิตแห่งกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ผู้ทรงประกาศเลิกทาสโดยสิ้นเชิง"
พระปลัดเอี่ยมนั่งรออยู่บนอาสนะอันสมควรแก่ฐานานุรูป ภายในพระอุโบสถอันแคบ แบบวัดราษฏรในเขตอันไกลจากพระบรมมหาราชวัง กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ก้าวนำเสด็จเข้ามาภายในพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงจุดธูปเทียนบูชาสักการะพระประธาน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงเสด็จกลับมาถวายนมัสการพระปลัดเอี่ยม ซึ่งกราบทูลให้ทรงประทับนั่งธรรมดาตามสบายพระองค์
"ที่รูปมาในวันนี้ ("รูป" เป็นคำที่พระมหากษัตริย์สมัยก่อนใช้แทนพระนามเมื่อมีพระราชดำรัสกับพระสงฆ์) เพื่อขอให้ท่านปลัดได้ช่วยตรวจดูเหตุการณ์ว่า การที่รูปจะเสด็จไปยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักในยุโรปนั้น จักเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยหนทางไกลและอันตรายมีอยู่รอบด้าน"
"มหาบพิตร อาตมาจักตรวจสอบให้ อย่าได้ทรงมีพระหทัยกังวล ทั้งนี้ด้วยพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพแบบพระองค์นั้น มีบุญญาธิการ สามารถผ่านพ้นความทุกข์ได้อย่างมั่นคง"
พระปลัดเอี่ยมลุกจากที่นั่งไปคุกเข่าลงหน้าพระประธาน ก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ระลึกถึงองค์พระรัตนตรัย และหลวงปู่รอดผู้มรณภาพไปแล้ว ขอบารมีในการจะเข้า "ฌาน" เพื่อดูอนาคตด้วย"อนาคตังสญาณ" จากนั้นก็กลับเข้ามาสู่ท่านั่งสมาธิตัวตรง เจริญอานาปานสติ แล้วเข้าสู่ฌานที่ ๔ ตามลำดับ จากนั้นเข้าสู่อนาคตังสญาณ โดยกำหนดจิตไว้มั่นเพื่อให้นิมิตเกิด
ในท่ามกลางความคะนองของท้องทะเล และคลื่นลมตลอดจนวังวนของทะเล เรือพระที่นั่งกำลังอยู่ในปากแห่งวังวนนั้น น้ำในวังวนเชี่ยวกราก และส่งแรงดูดมหาศาล ภายใต้วังวนนั้น ซากเรือใหญ่น้อยจมอยู่เป็นอันมาก พ้นจากทะเลมาสู่บก พลันภาพของกลุ่มคนที่นั่งกันอยู่เป็นชั้น ๆ ส่งเสียงจ้อกแจัก ด้านล่างเป็นผืนหญ้า และมีผู้จูงม้าเข้ามาในที่นั้น ม้าตัวนั้นมีคนถือเชือกที่ล่ามขาทั้งสี่คอยดึงไว้ไม่ให้พยศ ดวงตาของมันเหลือกโปน น้ำลายฟูมปาก
ภาพของฝรั่งแต่งตัวด้วยเครื่องแบบประหลาด ผายมือให้พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราชเจ้าทรงเสด็จไปรับม้าเพื่อประทับ แล้วทุกอย่างก็ดับวูบหายไป ถึงวาระที่ออกจากญาณพอดีลุกขึ้นเดินมานั่งบนอาสนะที่เดิม ก่อนจะกราบทูลความถวายว่า
"มหาบพิตร การเสด็จพระราชดำเนินสู่ยุโรปครั้งนี้ จะต้องประสบภัยสองครั้ง ครั้งแรกในทะเลที่วังวน อาตมาจะถวายผ้ายันต์พิเศษและคาถากำกับ เมื่อเข้าที่คับขันขอให้ทรงเสด็จไปยืนที่หัวเรือ แล้วภาวนาคาถากำกับผ้ายันต์แล้วโบกผ้านั้น จะเกิดลมมหาวาตะพัดให้เรือหลุดจากการเข้าสู่วังวนได้
ภัยครั้งที่สองเกิดจากสัตว์จตุบท (สี่เท้า) คืออัศดรชาติอันดุร้ายที่ฝ่ายตรงข้ามจะทดลองพระองค์อาตมาจะถวายคาถาพิเศษสำหรับภาวนาเวลาถอนหญ้าให้อัศดรอันดุร้ายนั้นกิน จะคลายพยศและสามารถประทับบังคับให้ทำตามพระราชหฤทัยได้เหมือนม้าเชื่อง" ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เล่าลือกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง ปู่ย่าตายายได้เล่าสืบทอดกันมาอันมีส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต
คาถาเสกหญ้าให้ม้ากินที่หลวงปู่เอี่ยมถวายนั้น คือ "คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย" หรือ "มงกุฎพระพุทธเจ้า" มีตัวคาถาว่า "อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตังพุทธะปิติอิ "
หลังจากได้ทรงมีพระราชดำรัสกับพระปลัดเอี่ยมพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทรงถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่พระปลัดเอี่ยม จากนั้นได้เสด็จทอดพระเนตรโดยรอบวัดโคนอน ซึ่งตอนนี้มีผู้จดจำพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าได้แม่นยำ ได้บอกกันออกไป ทำให้มีผู้มาหมอบเฝ้ารับเสด็จกันเป็นจำนวนพอสมควร ครั้นทรงสำราญพระอิริยาบถพอสมควรแล้ว ก็เสด็จกลับสู่พระบรมมหาราชวัง เพื่อเตรียมพระองค์ไปทวีปยุโรปต่อไป
โปรดอ่านต่อตอนต่อไปค่ะ