**ข้อความต่อไปนี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์หน้านึงของประเทศเราน่ะครัช**
*จอมพลถนอมก็คือคนขวาสุด
เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจกรณี 6 ตุลาคม 2519 ได้กระจ่างโดยไม่ตอบคำถามว่า กรณี 6 ตุลาฯคม พ.ศ.2519 เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งก่อนอื่นใดต้องเริ่มต้นจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 นับเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาและประชาชนที่ปราศจากอาวุธ และไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้ลุกฮือขึ้นสู้ต่อสู้ จนกระทั่งสามารถโค่นรัฐบาลเผด็จการ ที่นำโดยสถาบันทหารและระบบราชการลงได้
หลังจากที่ระบอบนี้ครอบงำการเมืองไทยอยู่นานถึง 16 ปีนับตั้งแต่การยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 การเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่เมื่อเกิดความรุนแรงในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม จากการเกิดเหตุปะทะของนักศึกษาประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร จากนั้นการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนลุกลาม จนทำให้รัฐบาลไม่อาจควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ในที่สุด
จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาเย็นวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นั้นเอง จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์จึงได้กลับคืนสู่สภาพปกติในวันที่ 15 ตุลาคม หลังจากที่อดีตผู้นำ 3 คน คือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ได้เดินทางหนีออกจากประเทศ
เมื่อจอมพลถนอม กลับเข้าประเทศ
เริ่มมีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จะขอกลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง เนื่องจากบิดาขุนโสภิตบรรณลักษณ์(อำพัน กิตติขจร) ซึ่งมีอายุถึง 90 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2519 ศูนย์นิสิตได้เรียกประชุมกลุ่มต่างๆ 165 กลุ่ม เพื่อคัดค้านการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร โดยระบุความผิดของจอมพลถนอม 11 ข้อ จากนั้น ในวันที่ 7 กันยายน ก็มีการอภิปรายที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อทำไมจอมพลถนอมจะกลับมา ซึ่งผู้อภิปรายหลายคนได้สรุปว่า การเข้ามาของจอมพลถนอมส่วนหนึ่ง เป็นแผนการที่วางไว้เพื่อจะหาทางก่อการรัฐประหารนั้นเอง อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้มีมติมิให้จอมพลถนอม กิตติขจรกลับเข้าประเทศ
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็กลับเข้าประเทศจนได้ โดยบวชเป็นสามเณรมาจากสิงคโปร์ จากนั้นก็ตรงไปยังวัดบวรนิเวศ เพื่อบวชเป็นภิกษุ โดยมีพระญาณสังวร เป็นองค์อุปัชฌาย์ และเมื่อบวชเรียบร้อยก็ขนานนามว่า สุกิตติขจโรภิกษุ ในกรณีนี้ วิทยุยานเกราะได้นำคำปราศรัยของจอมพลถนอมมาออกอากาศในวันที่ 19 กันยายน ซึ่งมีสาระสำคัญว่า จอมพลถนอมกลับเข้ามาในประเทศครั้งนี้เพื่อเยี่ยมอาการป่วยของบิดา จึงได้บวชเป็นพระภิกษุตามความประสงค์ของบิดา และไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างใดเลย จากนั้น วิทยุยานเกราะได้ตักเตือนมิให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย มิฉะนั้นแล้วอาจจะต้องมีการประหารสักสามหมื่นคน เพื่อให้ชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากภัย
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ขบวนการนักศึกษาที่นำโดยศูนย์นิสิต และแนวร่วมต้านเผด็จการแห่งชาติ ก็เคลื่อนไหวโดยทันที โดยยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล แสดงการคัดค้านจอมพลถนอม ที่ใช้ศาสนาบังหน้า ทำให้พระศาสนามัวหมอง เรียกร้องให้นำเอาจอมพลถนอมมาขึ้นศาลพิจารณาคดี พร้อมทั้งคัดค้านความพยายามที่จะก่อการรัฐประหาร นอกจากนี้ ขณะที่กลุ่มยุวสงฆ์ ก็ออกคำแถลงคัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม โดยขอให้มหาเถรสมาคมตรวจสอบการบวชครั้งนี้ว่า ถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่ และถวายหนังสือต่อสังฆราช ให้สอบสวนพระญาณสังวรด้วย ในฐานะที่ทำการบวชให้แก่ผู้ต้องหาคดีอาญา ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราชยอมรับว่าการบวชนั้นถูกต้อง ส่วนเรื่องขับไล่จอมพลถนอมจากประเทศนั้นเป็นเรื่องทางโลก ที่ทางมหาเภระสมาคมไม่อาจเกี่ยวข้องได้
แผนการก่อการรัฐประหาร
แผนการก่อการรัฐประหารและเตรียมการที่จะสังหารนักศึกษานั้น ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ก่อน อย่างน้อยตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2517 เมื่อเกิดกรณีพลับพลาไชย กรณีนี้ ก็ได้เห็นถึงความพร้อมของอำนาจรัฐ ที่จะใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายประชาชน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวา และกลุ่มอันธพาลการเมืองขึ้น แล้วใช้ความรุนแรงสะกัดกั้นการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา และได้เกิดการสังหารฝ่ายนักศึกษา นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยม และผู้นำชาวนาเกือบตลอดเวลา นอกจากนี้ ก็ได้เริ่มมีการสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อหาทางปราบปรามฝ่ายนักศึกษาประชาชน รวมทั้งการปิดล้อมการประชาสัมพันธ์ของขบวนการนักศึกษา แล้วทำลายภาพลักษณ์ของฝ่ายนักศึกษา และแม้กระทั่งมีการเชื่อมโยงหลายครั้งว่า ฝ่ายนักศึกษามีเป้าหมายจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนรังเกียจชิงชังขบวนการนักศึกษา หรืออย่างน้อยก็สับสนไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ไม่ให้การสนับสนุนฝ่ายนักศึกษา การกระทำเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่มีการวางแผนและกำหนดการล่วงหน้าทั้งสิ้น
หลังจากที่ได้มีการเตรียมการเรียบร้อย ใน พ.ศ.2519 ก็ได้เริ่มมีการวางเงื่อนไขรัฐประหาร ในส่วนการปราบปราม ก็ได้มีการเตรียมไว้ก่อนเช่นกัน จึงได้มีการนำเอาจอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร เข้ามาในประเทศตามลำดับ เพื่อสร้างสถานการณ์ปราบปรามและก่อรัฐประหาร และเงื่อนไขดังกล่าวสมบูรณ์เมื่อเกิดกรณีใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษา ในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จึงได้ปลุกระดมประชาชนขึ้นมาต่อต้านนักศึกษาในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2519 และใช้ความรุนแรงของอำนาจรัฐเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนในเวลาเช้าวันที่ 6 ตุลาคม และก็ก่อการรัฐประหารฟื้นเผด็จการในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง
เช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นฝันร้ายของคนกว่าสามพันคนในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ พวกเขาได้เห็นได้สัมผัสกับความโหดเหี้ยมทมิฬหินชาติ เผชิญหน้ากับโชคชะตาที่นำพาไปสู่ความสยดสยองและการนองเลือดและข้อกล่าวหาเป็นอัปยศ
วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นทั้งวันสิ้นสุดและจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่าง การล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหดทารุณเพื่อต้องการปิดฉากการแสดงพลังของนักศึกษาประชาชน เป็นปลายทางของกระบวนการทำลายพลังประชาชนและเป็นจุดเปิดของความสิ้นหวังในแนวทางสันติวิธีที่ทำให้ไม่มีทางเลือก
สำหรับพวกเขาเหล่านั้น 30 กว่าปีที่ผ่านมา ภาพแห่งความป่าเถื่อนยังคงตราตรึงและระทึกขวัญราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน ชะตากรรมอันเลวร้ายเกินกว่าที่จะคาดได้ถูกยัดเยียดให้ ด้วยข้อกล่าวหาที่คลุมเครือและก่อให้เกิดความเคลือบแคลง
ถึงวันนี้ผ่านมา 30 กว่าปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ข้อมูลจากบันทึกและความทรงจำ คงทำให้สามารถปะติดปะต่อภาพประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ได้ชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง เพื่อร่วมระลึกถึงเพื่อน ๆ ที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันในธรรมศาสตร์เช้าวันนั้น.......
ที่มา แฟนเพจ ลดความเป็นไทยให้น้อยลง แล้วเพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น
ปล.ผมอยากเน้นข้อความส่วนใดส่วนนึง เพราะทุกข้อความ สำหรับผม ผมว่ามันไม่ต้องการให้เน้นเลย