กองทัพแจง มีสิทธิแจ้งความ อ.พอล แชมเบอร์ส พบพฤติกรรมใช้ความรู้สึกส่วนตัว
‘กองทัพบก’ ยัน ‘กอ.รมน.ภาค 3’ มีสิทธิแจ้งความ ‘พอล แชมเบอส์’ ผิด ม.112 อ้างได้รับแจ้งจากประชาชน ชี้ พบพฤติกรรมใช้ความรู้สึกส่วนตัว ตีความและกระจายไปยังบุคคลภายนอก มีผลกระทบต่อสถาบันฯ บอก ประเด็นถกใน กมธ. อาจไม่ใช่ประเด็นหลักที่ใช้ฟ้องร้อง สอนมารยาท ประธานที่ประชุมฟันธงประจานสาธารณะ ย้ำเป็น คดีอาญาปกติ ไม่ใช่เสนอแผนขออนุมัติแก้ปัญหาความมั่นคง
วันที่ 28 เม.ย.68 พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีการประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 24 เม.ย. 2568 วาระพิจารณาศึกษา เรื่อง กอ.รมน. ภาค 3 ไปแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี พอล แชมเบอส์ (Paul Chambers) ลูกจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2568 โดยจากที่ได้ติดตามผลของการประชุมพบว่า อาจมีรายละเอียดบางอย่างที่ผู้แทนหน่วยที่เข้าร่วมประชุมอาจนำเสนอไม่ครบ จึงขอเรียนเพิ่มเติมให้ดังนี้
1. เรื่องข้อสงสัยว่า กอ.รมน.ภาค 3 ใช้อำนาจอะไรไปแจ้งความ
พล.ต.วินธัย ชี้แจงว่า การไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เมื่อพบเห็นว่าอาจมีการกระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายบ้านเมือง เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทั่วไปสามารถทำได้ ต่างจากการไปขอจับกุมผู้กระทำความผิดที่จำเป็นต้องอ้างใช้อำนาจตามกฎหมาย ในกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ใครที่พบเห็นข้อความที่มีลักษณะเข้าข่ายทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดในลักษณะดูหมิ่นสถาบันฯ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้นำเข้าสู่กระบวนการทางศาลเพื่อพิจารณาได้ โดยผู้ถูกกล่าวหาจะสามารถพิสูจน์ตัวเอง แก้ต่างข้อกล่าวหาได้ตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม
2. การดำเนินการต่อกรณีนี้ เริ่มจากได้รับแจ้งจากประชาชน กอ.รมน.ภาค 3 จึงได้มีการติดตามตรวจสอบ และนำเข้ากระบวนการพิจารณาของหน่วย พบว่ามีพฤติกรรมใช้ความรู้สึกส่วนตัวตีความและกระจายไปยังบุคคลภายนอก อันมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้ทำหนังสือร้องทุกข์ดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน
3. สำหรับข้อกังวลเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นชาวต่างประเทศนั้น กฎหมายของประเทศนั้นย่อมสามารถใช้บังคับได้กับทุกคนที่อยู่ในประเทศนั้นตามหลักสากล ไม่มีประเทศไหนในโลกจะมีข้อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายให้กับคนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติตัวเอง ซึ่งหากผู้ถูกแจ้งความคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถใช้ช่องทางของกฎหมายมาดำเนินการผู้แจ้งความได้
4. ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนั้น พบว่า มีภาพบรรยากาศที่อาจดูน่ากังวล เนื่องด้วยมีบางคนมีการใช้คำพูดในลักษณะดูหมิ่น เสียดสี ผู้เข้าร่วมประชุม เช่น “โง่แต่ขยัน ลุแก่อำนาจ ไร้สติปัญญา และขาดทักษะภาษาอังกฤษ”
พล.ต.วินธัย ชี้แจงว่า เนื่องจากรายละเอียดประกอบข้อมูลการฟ้องอยู่ในระบบของกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว ซึ่งการจะเปิดเผยคงทำได้แบบจำกัด ส่วนการโต้แย้งผ่านการประชุมฯ ไม่น่าส่งผลต่อรูปคดีจริง เนื้อหาที่นำมายกตัวอย่าง มาพูดโต้แย้งกันในที่ประชุม ก็อาจไม่อยู่ในประเด็นหลักการฟ้องในครั้งนี้
แต่กลับพบว่าถูกนำมาเป็นประเด็นเพื่อใช้เหยียดหยาม ประจานด้อยค่าบุคคลและองค์กร อยู่หลายคำหลายประโยค เช่น โง่แต่ขยัน ลุแก่อำนาจ ไร้สติปัญญา หรือเป็นหน่วยงานดักดาน ทั้งหมดเหล่านี้ ขอให้ทางองค์กรที่รับผิดชอบหรือสังคมเป็นผู้พิจารณา
5. พล.ต.วินธัย ชี้แจงกรณีที่มีหลายความเห็นกล่าวถึงการใช้เวทีกลไกสภาฯ นี้ เพื่อพยายามปกป้องช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือไม่ เช่น ชี้แจงว่าข้อความที่เป็นประเด็นนั้น ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เขียนเอง พร้อมได้ยกตัวอย่างว่า เพราะเขาใช้คำสรรพนามภาษาอังกฤษว่า he ไม่ได้ใช้คำว่า I ซึ่งกรณีนี้ คณะ กมธ. อาจเข้าใจว่าประเด็นปัญหาที่ถูกนำไปแจ้งความคือตรงนี้ จึงมุ่งมาช่วยเหลือ พยายามแก้ต่างให้ผ่านเวทีประชุมนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ เพราะข้อมูลที่เป็นประเด็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้องทางคดีนั้นอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว ทำให้ประเด็นที่นำเอาไปถกเถียงในวันนั้น อาจไม่ใช่ประเด็นหลักที่ใช้ประกอบการฟ้องร้องครั้งนี้ก็ได้
ซึ่งจากการที่ประธานที่ประชุมได้ไปพูดฟันธงต่อสาธารณะ ในทำนองประจานให้มีผลต่อภาพลักษณ์บุคคลและหน่วยงานนั้น เป็นเรื่องที่สังคมต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งอาจต้องไปดูในระเบียบ และมารยาทวิธีการปฏิบัติในการประชุม
6. กรณีมาตรา 7 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พล.ต.วินธัย ชี้แจงว่า ปกติกลไกนี้มีไว้สำหรับการเสนอจัดทำแผนงานเพื่อใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาฯ มีความยุ่งยากและซับซ้อน และอาจต้องอาศัยหลายหน่วยงานมาร่วมแก้ จึงมีขั้นตอนต่างๆ ไปให้ฝ่ายบริหารอนุมัติ เพื่อนำไปประกอบกับกลไกของกฎหมายตาม มาตรา 15 เพื่อใช้แก้ไขปัญหาความมั่นคงนั้นๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นปัญหา จชต. ซึ่งกรณีคดีของ พอล แชมเบอส์ เป็นคดีอาญาปกติ ไม่ใช่การเสนอแผนฯ เพื่อจะขออนุมัตินำไปใช้แก้ปัญหาความมั่นคง
------------------------------------------------------------------------------
โง่ ขยัน ชาติหม....