ขึ้นมาแล้วก็ตก? - ถอดบทเรียนทีมเลื่อนชั้นจากแชมเปี้ยนชิปสู่พรีเมียร์ลีก
ขึ้นมาแล้วก็ตก? - ถอดบทเรียนทีมเลื่อนชั้นจากแชมเปี้ยนชิปสู่พรีเมียร์ลีก
____________________________
หลังจากลีดส์มีคะแนนเพียงพอต่อการการันตีเลื่อนชั้นขึ้นพรีเมียร์ลีกเป็นที่แน่นอนแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่มีหลายเสียงค่อนขอดปรามาสว่า ขึ้นชั้นมาได้ปีเดียวเดี๋ยวก็ตก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวอย่างในปีหลังๆ นั้นมีให้เห็นเยอะ ที่ทีมตกชั้นคือแทบจะชุดเดียวกับทีมที่เลื่อนชั้นเลย
อย่างปีที่แล้ว เบิร์นลีย์ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์ ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมา ก็ตกกลับสู่แชมเปี้ยนชิปในปีเดียว ในขณะที่ปีนี้ เซาธ์แฮมป์ตันและเลสเตอร์ ตกชั้นอย่างเป็นทางการแล้ว เหลือแค่อิปสวิช ที่คงมีแค่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะช่วยพวกเขาได้ ซึ่งทั้งสามทีมต่างก็เป็นหนังม้วนเดิม คือเลื่อนชั้นขึ้นมาหมาดๆ
ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ช่องว่างระหว่างทีมพรีเมียร์ลีกกับแชมเปี้ยนชิปนั้น นับวันจะยิ่งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักๆ ก็มาจากเรื่องรายรับ ที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว ยิ่งรวมกับกฎทางการเงิน ยิ่งทำให้ทีมที่ไม่ได้มีต้นทุนมาก่อน ยิ่งขยับตัวลำบาก
แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ ระดับความสามารถในการเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะในด้านส่วนตัวหรือระบบ ซึ่งจุดนี้แหละที่ผมอยากเอามาเขียนบทความชวนคุยกันในวันนี้
.
—----------------------------------------------
เน้นครองบอล : ปรัชญาที่อาจไม่เหมาะกับทีมเพิ่งเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก?
—----------------------------------------------
ยุค 10+ ปีหลังมานี้ ทีมที่มักจะได้เลื่อนชั้นจากแชมเปี้ยนชิปสู่พรีเมียร์ลีก คือทีมที่มีวิธีการเล่นแบบ Possession Based หรือเน้นครองบอล สังเกตได้เลยว่าทีมระดับหัวตารางของลีกรองนั้น เป็นทีมที่เล่นต่อบอลเท้าสู่เท้า ทำชิ่งภาคพื้นดิน ใช้การผ่านบอลมากจังหวะเพื่อหาช่องเข้าไปสร้างโอกาสทำประตูเป็นส่วนใหญ่
- เบิร์นลีย์ ในปี 22-23 ที่คุมทีมโดยแวงซองต์ ก็องปานี เปลี่ยนจากทีมที่เน้นบอลโยนยาว มาสู่การเป็นทีมเน้นต่อบอลสั้น มีเปอร์เซ็นต์การครองบอลทั้งฤดูกาลสูงถึง 64% และพวกเขาเป็นแชมป์ลีกรองในปีนั้น
- เซาธ์แฮมป์ตัน 23-24 ก็มีเปอร์เซ็นต์ครองบอลมากถึง 65.5% ในขณะที่แชมป์ของดิวิชั่นอย่างเลสเตอร์ก็สูงถึง 61%
แต่เมื่อขึ้นมาพรีเมียร์ลีก สไตล์การเล่นแบบนี้ กลับไม่ได้ผลเหมือนอย่างที่เคยเป็นในแชมเปี้ยนชิป
เซาธ์แฮมป์ตันของรัสเซลล์ มาร์ติน พยายามจะเน้นครองบอลและบิลด์อัปจากหลังอย่างที่เคยทำ แต่สุดท้าย พวกเขาเก็บได้ 5 คะแนน จาก 16 เกม ก่อนที่มาร์ตินจะถูกปลดออกไป
นอริช 19-20 และ 21-22 ภายใต้การคุมทีมของแดเนียล ฟาร์เคอ ก็เคยได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์มากมายว่า กล้าเล่นต่อบอลสู้กับทีมพรีเมียร์ลีกได้อย่างน่าสนใจ แต่สุดท้ายพวกเขาตกชั้นในฐานะบ๊วย
บอร์นมัธ 22-23 ของสก็อตต์ พาร์เกอร์ ก็เลื่อนชั้นมาด้วยการครองบอล 56.4% พวกเขาผ่านบอลด้วยจำนวนครั้งที่มากเป็นอันดับ 4 แต่พอขึ้นมาพรีเมียร์ลีก พาร์เกอร์ก็โดนปลดตั้งแต่ยังไม่ถึง 10 นัดด้วยซ้ำ ก่อนจะให้แกรี่ โอนีล มารับไม้ต่อแทน และเปลี่ยนวิธีการเล่นมาเป็นแนวไดเรกต์ จนทำให้พวกเขารอดตกชั้นได้สำเร็จ ด้วยเปอร์เซ็นต์การครองบอลที่น้อยเป็นอันดับ 19 ของลีก คือ 40.4% เท่านั้น
.
—---------------------------------------------
บอลไดเรกต์ : อาจจะเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์?
—---------------------------------------------
ตัวอย่างที่ยกไปข้างบนคือเรื่องราวของบอร์นมัธ แต่ถ้าเราจะขยายความจุดนี้ให้มากขึ้น ลองย้อนไปดูทีมอย่างลูตัน ทาวน์ และ อิปสวิช
ลูตัน - ปี 22-23 ที่เลื่อนชั้น พวกเขามีเปอร์เซ็นต์การครองบอลอันดับ 18 จาก 24 ทีมของแชมเปี้ยนชิป (46.2%) โดยพวกเขาเป็นทีมที่ใช้บอลยาวในการแข่งขันสูงถึงอันดับ 5 เรียกว่าเน้นบอลโยนจัดๆ
พอพวกเขาขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีก แม้จะตกชั้นไปในปีเดียว แต่พวกเขาคือทีมที่เก็บคะแนนได้มากที่สุดในบรรดา 3 ทีมน้องใหม่ และจำนวนการใช้บอลยาวของพวกเขาก็ยังคงมากเป็นอันดับ 3 ของพรีเมียร์ลีกปีนั้น
อิปสวิช - ตอนนี้แม้พวกเขาน่าจะไม่รอดตกชั้นอยู่ดี แต่ก็เหมือนกับลูตัน ที่เป็นทีมน้องใหม่ที่เก็บคะแนนได้มากที่สุดในบรรดาทีมที่ขึ้นมาพร้อมกัน ทั้งที่พวกเขามีเปอร์เซ็นต์การครองบอลน้อยกว่าเลสเตอร์และเซาธ์แฮมป์ตันในปีนี้เสียอีก
แต่ตัวอย่างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมคือ เบรนต์ฟอร์ด
ปี 20-21 ที่พวกเขาขึ้นชั้น ปีนั้นทีมของโธมัส แฟรงค์ มีเปอร์เซ็นต์การครองบอลสูงเป็นอันดับ 5 ของลีก พวกเขาผ่านบอลด้วยจำนวนที่มากเป็นอันดับ 6 ของแชมเปี้ยนชิป นั่นแสดงให้เราเห็นว่าพวกเขาก็เป็นหนึ่งในทีมที่เล่นเน้นครองบอลได้ดี
แต่พอขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก พวกเขามีเปอร์เซ็นต์การครองบอลเป็นอันดับ 15 และในด้านการใช้บอลยาว พวกเขาอยู่สูงถึงอันดับ 9 เก็บคะแนนไปได้ 46 คะแนน รอดตกชั้นสบายๆ
สิ่งที่น่าสนใจคือ โธมัส แฟรงค์ สามารถปรับเปลี่ยนปรัชญาการเล่นของตัวเอง จากเน้นต่อบอลไปสู่การโจมตีเร็วด้วยบอลไดเรกต์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักไม่ค่อยได้เห็นกันในบรรดาผู้จัดการทีมระดับท็อป ที่ทุกคนต่างยึดมั่นในระบบของตนเอง ไม่ค่อยเปลี่ยนวิธีจากหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้สักเท่าไหร่
แล้วทุกวันนี้ เบรนต์ฟอร์ดคือหนึ่งในทีมที่ลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงในพรีเมียร์ลีกเรียบร้อยแล้ว และส่งผลให้ชื่อของโธมัส แฟรงค์ กลายเป็นกุนซือเนื้อหอมคนหนึ่งในวงการอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีนี้เรามีตัวอย่างที่สุดโต่งมากๆ อย่างน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ของนูโน่ เอสปิริโต ซานโต ที่ตอนนี้ลุ้นพื้นที่แชมเปี้ยนส์ลีกอย่างเข้มข้น ด้วยสไตล์การเล่นที่สถิติบ่งบอกว่า พวกเขาคือทีมที่ครองบอลน้อยที่สุด และผ่านบอลน้อยที่สุดของพรีเมียร์ลีกปีนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้ดีระดับท็อปของลีกคือการทำ Fast Break หรือการเปลี่ยนรับเป็นรุกอย่างรวดเร็ว หรือที่เราเข้าใจกันว่าเคาเตอร์ แอทแท็ก นั่นแหละ
ทีมเจ้าป่าทำ Fast Break ได้ 38 ครั้ง รั้งอันดับ 5 ของลีกในด้านนี้ อันดับ 1 คือลิเวอร์พูล ซึ่งการเล่นเคาเตอร์นี่เอง ที่ก็เป็นอีกหนึ่งในรูปแบบการเล่นที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก หากคุณทำมันได้ดี
และสุดท้าย เรื่องที่ผมอยากชวนคุยก็คือ
.
อ่านต่อได้ที่
https://www.facebook.com/luscthailand