เนสท์เล่ เจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ ได้ทำการผลิตในประเทศไทยผ่านบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมีคุณประยุทธ มหากิจศิริ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น
ถัดมา เนสท์เล่ ได้แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิแก่ บริษัท ควอลิตี้คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในการผลิตเนสกาแฟที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยศาลให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567
ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ได้
และใน 14 มีนาคม พ.ศ. 2568 เนสท์เล่ เอส เอ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ซึ่งเป็นคำร้องเพื่อขอให้ยกเลิกการจดทะเบียนบริษัท
ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ปี พ.ศ. 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท ควอลิตี้คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ จำนวน 2 คดี ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของศาล
และในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย
หลังจากศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แม้เนสท์เล่ยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว เนสท์เล่ก็ให้ความเคารพต่อกฎหมายและได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้ โดยเนสท์เล่ได้ออกหนังสือแจ้งลูกค้า อันได้แก่ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2568 ให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแจ้งว่าบริษัทฯ จะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าเหล่านี้ได้ โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ร้านค้าปลีกที่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่ในร้าน ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ
เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา เนสท์เล่ ยื่นคัดค้านคำสั่งศาลที่ศาลแพ่งมีนบุรี และศาลจะนัดไต่สวนต่อไป และจะแจ้งให้ทราบรายละเอียดเป็นระยะ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการร่วมทุนทำธุรกิจติดลมบนตลาดมายาวนานกว่า 34 ปี แต่หากไร้ข้อตกลงเพื่อเดินหน้าต่อของธุรกิจก็อาจจะเป็นการปิดตำนานสินค้ากาแฟชื่อดังของไทยลงได้