ทีวีก็เก๊ ลูกค้าฟ้อง TCL - Hisense ทีวี QLED เก๊
ลูกค้าในสหรัฐฯ รวมตัวกันฟ้อง TCL - Hisense ข้อหาโฆษณาหลอกลวง (แยกกันคนละคดี - คนละศาล แต่รายละเอียดสำคัญเหมือนกันเกือบหมด)
TCL และ Hisense ถูกกล่าวหาว่าทีวี QLED บางรุ่นของค่าย ไม่มี ในพาเนล quantum dot หรือมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก จนภาพแทบไม่ต่างจาก LCD (LED) ธรรมดา
ตัวแทนโจทก์บอกว่า ถ้าลูกค้ารู้แบบนี้คงไม่หลวมตัวไปซื้อแต่แรก สู้กำเงินไปซื้อรุ่นอื่นที่ได้ภาพพอกันโดยไม่หลงไปกับคำว่า QLED ตามที่ TCL และ Hisense อวดอ้างว่าภาพสวย สีแจ่ม ก็อาจประหยัดเงินไปอีกหลายพัน โดยมีการเรียกร้องให้ทั้ง 2 ค่ายคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายตามสมควร
ข้อกล่าวหานี้ไม่ใช่ข้อกล่าวหาลอย ๆ เพราะ Hansol Chemical ที่เป็นบริษัทซัปพลายเออร์ของ Samsung ส่งทีวี TCL ให้สถาบันตรวจสอบและออกมาตรฐานชื่อดังอย่าง SGS และ Intertek ตรวจสอบมาแล้วตั้งแต่ ต.ค. ปีก่อน ซึ่งพบว่าสเปค quantum dot ไม่ถึงเกณฑ์จริง วัดด้วยแคดเมียมก็ไม่ถึง วัดด้วยอินเดียมก็ไม่ถึง
ต่อมา Hansol Chemical จึงได้หอบหลักฐานยื่นฟ้อง TCL ต่อคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC) เท่ากับว่า TCL มีคดี QLED พัวพันในสหรัฐฯ อยู่ 2 คดีใหญ่ ๆ
ฝั่ง TCL แก้ต่างว่าทีวี QLED ของค่ายมีแคดเมียมเป็นส่วนอยู่จริง ไม่ใช่ QLED เก๊ ตามที่โดนกล่าวหา แต่ฟิล์ม quantum dot ถูกรับต่อมาจากซัปพลายเออร์อีกทอด ปริมาณแคดเมียมอาจต่างกันไปตามผู้ผลิต
ประเด็นคือ TCL อ้างข้อมูลจากฝั่งซัปพลายเออร์ ส่วน Hansol Chemical ส่งทีวีเครื่องที่ขายจริงให้ SGS และ Intertek ตรวจสอบ งานนี้ก็ต้องไปสืบกันต่อ ว่าต้นเหตุมาจากใครกันแน่ แล้วหลุดการตรวจสอบมาได้ยังไง
นักวิเคราะห์มองว่า หนึ่งในต้นตอของปัญหาของคดีนี้คือ คำว่า QLED ในปัจจุบันไม่มีคำนิยามที่ตายตัว ดังนั้น การแปะป้ายว่า 'ทีวี QLED' (หรือชื่ออื่นที่สื่อถึง quantum dot ตามแต่แบรนด์จะตั้ง) อาจไม่ใช่เรื่องผิด แม้จะมีสารที่เป็นองค์ประกอบอยู่น้อย แต่ก็จะไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพที่แท้จริงเสมอไป เช่นกรณี TCL ที่เกิดขึ้น ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าลดสเปค quantum dot แล้วใช้ฟอสเฟอร์ช่วยในการแสดงภาพ เพื่อลดต้นทุน (ส่วนเรื่องการโฆษณาเกินจริง ก็เป็นอีกเรื่อง)
เบื้องต้น TCL ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยระบุว่าอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีที่อยู่ในชั้นศาล ดังนั้น ประเด็นนี้จะจบอย่างไร คงต้องตามกันต่ออีกยาว ๆ