เก่งพอก็แก่พอ...จริงหรือ ? เจมส์ ลาลีก้า
เครดิต
https://www.facebook.com/share/p/1BkY9hwbhw/
เก่งพอก็แก่พอ...จริงหรือ ?
"เอ็นดริก น่ะเหรอ ? ถ้าเขาอยากอยู่กับ มาดริด มันก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องนั่งดูเพื่อนเล่นที่ข้างสนามบ้างเล็กน้อย"
"ผมคิดว่าประวัติศาสตร์สโมสรแห่งนี้บอกชัดเจนแล้วนะ พวกตัวจริงต่างก็เคยนั่งข้างสนามมาแล้วทั้งนั้น วินิซิอุส นั่งอยู่ 2 ปี,วัลเวร์เด้,กามาวินก้า "
คาร์โล อันเชล็อตติ ตอบคำถามนักข่าวถึงโอกาสลงสนามของ เอ็นดริก ที่ดูจะไม่มากอย่างที่ใครหลายคนคาดหวัง
อายุน้อย แต่เก่ง ฝีเท้าดี ควรได้ลงเล่น หรือ เก่งแค่ไหน ก็ควรรอเวลาที่เหมาะสม ?
นี่เป็นประเด็นที่ผมอยากชวนคุณผู้อ่านคุยมาสักระยะแล้ว
กับพวกวันเดอร์คิดทั้งหลาย แนวทางที่สโมสรส่วนใหญ่ปฏิบัติกับนักเตะกลุ่มนี้หลักๆจะมีอยู่ 2 แบบ
แบบแรก คล้องกับประโยคสุดคลาสสิคที่ว่า "ถ้าคุณเก่งพอ คุณก็แก่พอ"
ชัดเจนว่าแนวทางนี้ ไม่สนว่าคุณอายุเท่าไหร่ ถ้าคุณแสดงให้เห็นว่าเล่นได้ เทรนเนอร์ที่มีแนวคิดข้างต้นนี้ก็พร้อมให้โอกาสคุณโดยไม่ลังเล
ในยุคนี้ ตัวอย่างไม่ต้องมองไกล บาร์เซโลน่า นั่นไง
เปดรี เล่นตัวจริงให้ บาร์ซ่า ตั้งแต่อายุ 17, เปา กูบาร์ซี่,ลามีน ยามาล ก็ 16 หยกๆ 17 หย่อนๆ , กาบี อีกล่ะ พวกนี้เล่นเอา มาร์ค กาซาโด้ ที่ได้ออกสตาร์ทชุดใหญ่ตอนอายุ 20 ดูเป็นเด็กโข่งไปเลย
แล้วที่เห็นเล่นมานานอย่าง อเลฆานโดร บัลเด้ ปีนี้ก็เพิ่ง 21 เองนะ
ถ้าเล่นได้ คุณก็เล่นไปเถอะ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ นั่นคือแนวคิดนึง ทว่าอีกแนวทางก็มองว่า "ทุกอย่างมีเวลาของมัน"
ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป เติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ใช้เวลาในการเรียนรู้ประสบการณ์จากการนั่งดูรุ่นพี่ๆลงสนาม เมื่ออายุได้ เมื่อร่างกายพร้อม โอกาสจะมาถึงเอง
ยุค 90 การที่นักเตะอายุ 18-19 สักคนได้ลงเล่นชุดใหญ่นั่นถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
แต่นักดูบอลรุ่นใหม่ อาจจะชินแล้วเพราะได้ดู คิลิยัน เอ็มบั๊บเป้ ตอนพุ่งขึ้นมากับ โมนาโก, ไหนจะ ลามีน ยามาล ,เปา กูบาร์ซี่ และอีกหลายคน
เห็นชัดอยู่แล้วว่า อันเชล็อตติ ยึดมั่นในแนวทางแบบเก่า เขามองว่า เอ็นดริก หรือ กือแลร์ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอะไร แม้จะมีกระแสเรียกร้องว่า "ให้โอกาสเด็กมันหน่อย" ก็ตาม
อีกทั้งในพาร์ทเกมรุก กุนซืออิตาเลี่ยนเองก็ไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น เมื่อมีทั้ง เอ็มบั๊บเป้,วินิ,โรดรีโก้,จู๊ด และ บราฮิม ดิอ๊าซ ให้ใช้งาน
การได้เห็นเด็ก 16-17-18 ได้โอกาสลงเล่นในระดับสูง แน่นอนว่ามันน่าตื่นเต้น สโมสร-โค้ชได้รับคำชื่นชมที่กล้าเปิดโอกาส
แต่ในทางร่างกาย นักเตะบางคนอาจยังไม่พร้อมเต็มที่หรือเปล่า ?
การเร่งรีบใช้งานร่างกายหนักเกินไป ส่งผลเสียในระยะยาวหรือไม่ ?
กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆของเด็กอายุ 17-18 หากปะทะหนักๆกับนักเตะวัย 28 ที่ร่างกายกำลังแข็งแกร่งสุดขีด ถือเป็นการชกข้ามรุ่นหรือเปล่า ?
เรื่องนี้มีการถกเถียงกันพอสมควร
ตัวอย่างเช่น อันซู ฟาติ ตอนอายุ 17 เจ็บหนักที่หมอนรองกระดูกจากการปะทะกับ อิสซ่า มานดี้ ปราการหลังเรอัล เบติส ในวัย 28 เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ปี 2020
จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาเป็นเวลา 5 ปี จากวันเดอร์คิดผู้ถูกวางตัวให้สืบทอดเสื้อหมายเลข 10 ของ คิงเลโอ กลายเป็นนักเตะที่ถูกลืม
แฟนๆบ่นกันระงมว่าเมื่อไหร่หมอนี่จะย้ายออกไปซะทีหลังจากเห็นค่าเหนื่อย 13 ล้านยูโรต่อปี บางคนถาม บาร์ซ่า บ้าหรือเปล่า จ่ายไปได้ยังไงกับนักเตะแบบนี้ อืม.....5 ปีก่อนมันไม่ใช่แบบนี้นี่ครับ เหตุการณ์เมื่อ 5 ปีก่อนมันเปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย
มาร์ค กาซาโด้ อายุ 20 แต่เอ็นเข่าฉีกซะแล้ว , ปาโบล กาบี เคยเจ็บหนักที่ ACL กับหมอนรองกระดูกเมื่อ พ.ย. 2023 , เปดรี เคยเบิร์น เอาท์ ช่วงที่เล่นต่อเนื่องจากยูโรถึงโอลิมปิก
อย่าว่าแต่รุ่นโตเต็มวัยที่เดี้ยงกันเพียบ ฟุตบอลยุคนี้ เราได้เห็นเด็กอายุ 19-20 ผ่าเข่าซ่อมเส้นเอ็นกันแล้ว
ยิ่งโปรแกรมแข่งทุกวันนี้ ทั้งทีมชาติ ทั้งสโมสร ชุกขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ไหนจะความเข้มข้นในแต่ละเกมอีก
อย่างที่ทราบ ฟุตบอลยุคปัจจุบัน เน้นร่างกายมากกว่า สปีดความเร็ว แรงปะทะตลอด 90 นาทีนั้นหนักหน่วง แต่ละจังหวะการเล่นนักเตะต้องใช้ศักยภาพทางร่างกายถึงขีดสุดแทบทุกครั้งเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ ระหว่างเกมคุณแทบไม่มีเวลาพักหายใจเลย
เกมหนักระดับอาชีพที่ใส่กันไม่ยั้ง ไม่ใช่การเล่นเพื่ออกกำลังกายทั่วไป ควรรอให้นักเตะพร้อมทั้ง physical และ mentality ก่อนหรือไม่ ?
กระนั้นมันก็พูดยาก นักเตะที่เล่นตั้งแต่อายุยังน้อยที่ไม่เจ็บก็มี อีกทั้งไอ้คำว่า 'พร้อม' ก็บอกยากว่ามันควรจะต้องอายุเท่าไหร่
เด็กมันโคตรเก่ง อยากลงไปปล่อยของใจแทบขาด แต่ต้องดึงไว้เพื่อประโยน์ในวันข้างหน้าของตัวเด็ก นับเป็นความหวังดีหรือการทำเช่นนี้คือการจำกัดโอกาสที่เด็กเก่งควรจะได้รับกันแน่ ?
คุณๆคิดเห็นกันอย่างไรครับ
#เจมส์ลาลีกา