ถือว่าผมเป็นวิศวกรอาสาแล้วกัน
สวัสดีพี่ ๆ น้อง ๆ SS ทุกท่านครับ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวาน ผมก็ได้มีโอกาสให้คำแนะนำคนรู้จักหลาย ๆ คน รวมถึงได้อ่านความเห็นในอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ซึ่งเอาตามตรง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเท่าไร
ผมเลยขออนุญาตถือโอกาสสรุปเป็นข้อ ๆ ความรู้เผื่อท่านใดจะมีโอกาสได้ใช้ความรู้เหล่านี้ไปบอกต่อหรือคลายความกังวลนะครับ ถ้าท่านใดอยากเสนอแนะก็รบกวนสอนผมได้นะ วิศวกรโยธามีหลายสาย โครงสร้าง ปฐพี ก่อสร้าง ขนส่ง สำรวจ แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม ผมเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง
ผมมีกว.วิศวกรรมโยธา แต่ยังไงก็แล้วแต่ ขอว่าข้อมูลที่ผมนำเสนอเป็นแบบ Trust me bro แล้วกันนะ ผมไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นกับสิ่งที่คุณนำไปใช้แล้วเกิดความเสียหายใด ๆ นะ
1. โครงสร้างร้าวไม่ได้แปลว่าไม่ดี และโครงสร้างไม่ร้าว ก็ไม่ได้แปลว่าดี
Spoil
การที่โครงสร้างร้าว แปลว่าเกิดการเสียหายของโครงสร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราเห็นได้ เหมือนคุณเล่นเกม RPG แต่ไม่มีหลอดเลือดให้ดู คุณจะรู้ยังไงว่าตัวละครใกล้ตายแค่ไหน ผมเห็นหลายที่มากที่คนชมตึกเก่า ๆ "ไม่ร้าวเลย ดีจัง" แต่ในความเป็นจริง Code การก่อสร้างก็มีหลายตัว การที่อาคารสมัยก่อนนิยมสร้างให้แข็งแกร่ง ต้านการไหวได้ เป็นการสะสมความเค้นและเครียดในตัวอาคาร ซึ่งรู้ตัวอีกทีตึกก็อาจจะถล่มไปแล้ว คุณก็ตายไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ตึกสมัยใหม่จะเน้น "ความเหนียว" มากกว่า เพื่อให้เกิดรายร้าวที่ควบคุมได้ และเป็นสัญญาณให้คนในตึกรู้ว่าต้องออกจากตึกแล้วนะ เพราะฉะนั้น โครงสร้างไม่ร้าว ก็ควรต้องมีการตรวจสอบอยู่ดีว่าต้านได้จริง ๆ หรือมีความเสียหาย แต่ไม่ปรากฏ
2. รอยร้าวที่กำแพง = อันตราย?
Spoil
ต้องไปดูที่ชนิดกำแพงด้วย โดยส่วนใหญ่ผนังไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้รับแรงนะครับ พวกผนังอิฐเนี่ย ไม่ได้ออกแบบเพื่อให้รับแรงในโครงสร้างเลย ผนังที่ช่วยรับแรงคือผนังที่มีการใส่เหล็กและเทปูนครับ เพราะฉะนั้นถ้ากำแพงคุณสร้างจากอิฐฉาบปูนแล้วมีรอยแตก แต่คานกับเสาอยู่ดี ก็ขอให้เบาใจได้เปราะหนึ่งครับว่าโครงสร้างยังอยู่ได้ ถ้ามีการตรวจสอบเสาคานแล้วว่าปลอดภัยจริง ก็โป๊วปิดรอยแตกกำแพงต่อไปได้ครับ กลับกัน ถ้าเป็นผนังแบบที่รับแรงแล้วคุณเห็นรอยแตกระดับเห็นเหล็กเลย อันนั้นโครงสร้างวิบัติไปแล้วครับ ให้รีบออกจากตึกและรอผู้เชี่ยวชาญมาประเมินจริงจังดีกว่าครับ
สำหรับ อาคาร Precast เองก็สามารถออกแบบให้เป็นแบบนี้ได้ครับ ก็ต้องไปดูอีกทีว่าเป็นโครงสร้างแบบเสาคานพื้น หรือเอาผนังรับแรง (Load Bearing Wall/Shear Wall) วิธีดูคือ ถ้าเห็นเสากับคาน ก็เป็นแบบเสาคานพื้น แต่ถ้าไม่เห็นเสา ไม่เห็นคาน ผนังก็จะเรียบเลย ไม่มีเสานูน ๆ ออกมา หรือนิติบางที่จะบอกเลยว่าห้ามเจาะผนังหรือเจาะได้ ถ้าเจาะได้ส่วนใหญ่คือผนังก่ออิฐธรรมดาหรือไม่ได้รับแรงครับ อันนี้ปล่อยร้าวได้
3. ปล่องลิฟต์ต้องแข็งแรงที่สุดในโครงสร้าง
Spoil
โดยปกติแล้ว ปล่องลิฟต์จะถูกดีไซน์ให้แข็งแรงที่สุด เนื่องจากเป็นช่องเปิดทะลุทั้งตึกซึ่งทำให้การเดินทางสะดวก นักผจญเพลิงสามารถไปได้ทุกชั้นถ้าเกิดไฟไหม้ เป็นต้น ทางหนีไฟส่วนใหญ่ก็จะมีการดีไซน์คล้าย ๆ กัน เพราะต้องแข็งแรงพอที่จะทำให้คนอพยพได้ทัน จึงอาจทำเป็น Shear Wall หรือยึดติดไปกับปล่องลิฟต์ครับ เพราะฉะนั้น ถ้าปล่องลิฟต์มีปัญหา อาคารนั้นจะค่อนข้างวิกฤติครับ อย่างรพ.ที่เป็นปัญหาตอนนี้ก็มีเรื่องปล่องลิฟต์แตกร้าวอยู่ครับ
4. เสา-คานแตกเห็นเหล็ก ให้รีบวิ่ง
Spoil
ใช่ครับ ปกติขีดจำกัดความแข็งแรงของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กมาจาก 3 ส่วนครับ 1. ความแข็งแรงคอนกรีต 2. ความแข็งแรงเหล็ก 3. ความแข็งแรงการยึดเกาะระหว่างคอนกรีตกับเหล็ก ปกติแล้วที่วิบัติกันส่วนใหญ่จะเป็นที่ความแข็งแรงการยึดเกาะระหว่างคอนกรีตกับเหล็กนี่แหละครับ เพราะฉะนั้น ถ้าร้าวขนาดเห็นว่าปูนกับเหล็กแยกชิ้นกันแล้ว เท่ากับว่าโครงสร้างชิ้นนั้นพังแล้วครับ ก็ต้องไปลุ้นว่าโครงสร้างอื่น ๆ ในตึกที่ต้องแบกแรงแทนโครงสร้างชิ้นนี้ จะยังรับไหวไหม โดยปกติโครงสร้างเราจะมีแรงภายในอาคารสองประเภทแรง คือ แรงกด (ผลัก) กับแรงดึง โดยปกติแล้ว เราจะให้คอนกรีตรับแรงกด และใช้เหล็กรับแรงดึง แต่เมื่อโครงสร้างบางชิ้นพังไปแล้ว แรงภายในโครงสร้างจะเปลี่ยนใหม่หมดครับ นึกสภาพรถวิ่งบนถนนครับ รถต้องมีถนนวิ่งฉันใด แรงก็ต้องมีโครงสร้างให้ถ่ายฉันนั้นครับ พอถนนมันขาด รถก็เท่าเดิมก็ต้องหาที่วิ่งครับ แรงก็เหมือนกันต้องหาที่วิ่งครับ แต่แรงพิเศษกว่าอีกครับ เพราะแรงมีสองแบบคือแรงกดกับแรงดึง บางโครงสร้างตอนแรกรับแรงกดดี ๆ ต้องมารับแรงดึง มันก็อาจจะพังได้ครับ เพราะไม่ได้ดีไซน์หรือโครงสร้างรับไม่ไหว
คิดไม่ออกล่ะ เอาประมาณนี้ก่อนแล้วกัน

ใครอยากถามอะไร ถ้าตอบได้จะตอบนะครับ ไว้ผมจะมาดูเป็นพัก ๆ แล้ว ผมมีงานวิจัยต้องทำ ส่ง 31 นี้ ยังไม่ได้เริ่มเขียนเลย