คารม ( ภจท ) กังวล DSI รับคดีฮั้วเลือกตั้ง สว. เป็นคดีพิเศษ ขัดต่อกฎหมาย มอง รมว.ยุติธรรม ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ
‘คารม’ กังวล หาก DSI รับคดีฮั้วเลือกตั้ง สว. เป็นคดีพิเศษ ขัดต่อกฎหมาย มอง รมว.ยุติธรรม ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ หวังล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ
.
วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) คารม พลพรกลาง สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในฐานะนักกฎหมาย แสดงความเห็นทางกฎหมายกรณีที่มีกลุ่มผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ไม่ได้รับเลือกไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยระบุว่า การเลือก สว. มีการฮั้วกัน และมีแนวโน้มว่าจะรับเป็นคดีพิเศษ เรื่องนี้ต้องรับว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจมาก เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2545 นั้น
.
โดยมีเจตนาเพื่อเป็นพนักงานสอบสวนในคดีอาญาและคดีอาชญากรรมที่มีผลกระทบเศรษฐกิจ มีการกระทำความผิดที่ซับซ้อนเป็นเครือข่ายอาชญากรรมเดิมนั้น เดิมผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญาทุกประเภทคือพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
.
จากพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 นั้น กำหนดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสังกัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้กำกับ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น จะเห็นว่าต้องการให้มีพนักงานสอบสวนในคดีอาญาที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าคดีอาญาทั่วไป แต่ไม่น่าจะรวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้เฉพาะ และข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเพียงพนักงานสอบสวน เหมือนพนักงานสอบสวนคดีอาญาทั่วไป การฟ้องคดีจึงต้องส่งผ่านพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามปกติของการฟ้องคดี
.
ส่วนสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 มาตรา 107 ถึง 113 การเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และคนรับรองสมาชิกวุฒิสภาคือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
.
คารมกล่าวว่า การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนัดประชุมคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีที่มีผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แต่ไม่ได้รับเลือกมาร้องและอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ชอบนั้น จึงมีคำถามทางกฎหมายว่า
.
1.
แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะบอกว่าอาจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาสามารถทำได้ เพราะถือกฎหมายคนละฉบับ แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งและละเอียดแล้ว การพ้นตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาภายหลังจากกรรมการการเลือกตั้งรับรองแล้ว ย่อมเป็นไปตามมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญ แม้กรมจะสอบสวนคดีพิเศษจะมีการดำเนินคดีก็อาจทำได้เฉพาะบุคคล แต่แม้จะดำเนินคดีอาญาเฉพาะบุคคลในสมัยประชุมก็ต้องขออำนาจจากสภา หากจะจับกุมคุมขังในสมัยการประชุมสภาก็ไม่อาจทำได้
.
2.
คดีที่อ้างว่าการเลือกตั้ง สว. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองและยืนยันแล้วว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามคำกล่าวหาหรือคำร้อง และ กกต. เป็นองค์กรที่จัดการเลือกตั้งได้รับรองแล้ว แต่หากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษ และให้มีการดำเนินคดีอาญากับ สว. จะถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายไหม
.
3.
การที่รัฐมนตรียุติธรรมอ้างว่า มีสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนถึง 138 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีจนต้องพ้นตำแหน่งทั้ง 138 คนซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา ก็ต้องมีการเลือกวุฒิสภาขึ้นใหม่เพื่อให้ครบ 200 คนถึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ย่อมแปลได้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถล้มการเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้ ทั้งที่สมาชิกวุฒิสภามาตามรัฐธรรมนูญ
.
4.
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และเป็นผู้บังคับบัญชากรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเพียงพระราชบัญญัติ และมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญมาดำเนินการ ซึ่งหากเป็นไปตามที่มีผู้สมัคร สว. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งร้องมา ก็อาจทำให้ สว. ต้องหลุดไป หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ถึง 138 คนนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญได้ไหม และมีผลอย่างไร หรือเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป
.
“ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญทางกฎหมายอย่างยิ่ง สามารถนำเอาไปทำวิทยานิพนธ์ได้เลย เพราะเป็นใช้อำนาจขององค์กรทางการบริหารมาล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติที่ดูสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นจุดจบของฝ่ายนิติบัญญัติ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถทำได้ เพราะถ้าตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภาจนต้องหลุดไป ทั้งที่ กกต. รับรองไปแล้ว ต่อไปก็จะมีการตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เช่น โดยมีการอ้างว่ามีการฮั้วการเลือกตั้ง อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะใหญ่กว่าอำนาจของประชาชน ผมเชื่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายตอนร่างขึ้นไม่น่าจะเป็นแบบนี้” คารมกล่าว
.
#TheStandardNews