เฮ ดัชนีเหลื่อมล้ำลดลง เพราะเงินหมื่น

.
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) ที่อาคารรัฐสภา เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบกระทู้ถามสดของ วรภพ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถึงการบริหารเศรษฐกิจไทย และโครงการแจกเงินหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 1 เป็นการกระจายเงินหมื่นไปยังกลุ่มเปราะบางอย่างถูกฝาถูกตัว โดยหากพิจารณาจากแผนที่ประเทศไทยเจาะลงไปจะเห็นว่า พื้นที่ใดมีความยากจนสูง แล้วก็พิจารณาต่อได้ว่าเงิน 1 หมื่นบาทจะลงไปยังจังหวัดไหน ซึ่งสะท้อนชัดว่าเงิน 1 หมื่นบาทลงไปยังจังหวัดที่มีความจำเป็นสูงสุด ไม่ได้มีตำบลใดที่ไม่ได้กระจายในส่วนนี้เลย
.
ขณะเดียวกันข้อทักท้วงว่า เงินจะกระจายเข้าสู่เพียง ‘รายใหญ่’ เท่านั้น ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า 68% ลงสู่ร้านเล็ก ร้านค้ารายย่อย ร้านค้าในตลาด และหาบเร่แผงลอย และพบว่า 82% ใช้เงินอย่างรวดเร็วหมดภายใน 3 เดือน นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็ว รุนแรง และทันท่วงที
.
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังยังระบุด้วยว่า ในไตรมาส 4 ที่โครงการนี้ลงไปในพื้นที่ดัชนีต่างๆ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมก็ดีขึ้น อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก็เพิ่มสูงสุดในหลายไตรมาส
.
“ถ้าเราไม่มีอคติ ดูกันที่ตัวเลข โครงการนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี รัฐบาลสามารถปิดการบริหารเศรษฐกิจปี 67 ได้ดี และมีโมเมนตัมในเชิงบวกตั้งแต่ Q1-Q4 ส่งต่อไปถึงปี 2568”
.
ส่วนเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายเม็ดเงินเฟส 1 ให้กับกลุ่มเปราะบางพบว่า หากวัดค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งวัดเรื่องความเหลื่อมล้ำพบว่า โครงการนี้สามารถร่นระยะเวลาเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำลงได้ 2-3 ปี จึงตอบโจทย์ในเรื่องแก้ความเหลื่อมล้ำด้วย
.
ขณะเดียวกันตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าปี 2567 เติบโตอยู่ที่ 2.5% และเกือบรั้งท้ายในอาเซียนนั้น เผ่าภูมิระบุว่า ทุกไตรมาส การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ และดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 2567
.
Credit: The Momentum