ผู้ว่ากรุงโซล vs ผู้ว่า กทม. ในวันที่ฝุ่น PM2.5 รุนแรง
(21 ม.ค.68) - ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “ผู้ว่ากรุงโซล กับ ผู้ว่ากรุงเทพในวันที่ฝุ่น PM 2.5รุนแรง” มีรายละเอียดดังนี้
1.ประเทศเกาหลีใต้ประสบกับฝุ่น PM 2.5 อย่างรุนแรงในช่วงฤดูหนาวเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยรัฐบาลได้ประกาศให้ฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานจนถึงระดับที่มีผลต่อสุขภาพหรือ "Unhealthy" เป็นภัยพิบัติทางสังคม(Social disaster) ที่ต้องจัดการแก้ไขทันทีโดยกำหนดแผนเร่งด่วนในแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2022 และยังให้มีการใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เรียกว่า “Comprehensive Plan on Fine dust Management” โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น commander สามารถสั่งการลดแหล่งกำเนิดมลพิษในเมืองได้เบ็ดเสร็จและยังสามารถยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้เมื่อภัยพิบัติหมดไป
.
2. ในวันที่คาดว่าคุณภาพอากาศในกรุงโซลมีจะค่าเกินค่ามาตรฐานในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือUnhealthy โดยตามแผนผู้ว่าการกรุงโซลมีอำนาจประกาศให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลได้ฟรี เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินและบนดิน รถ ขนส่งสาธารณะ รถไฟ เป็นต้น ในช่วงเวลาเร่งด่วนตั้งแต่ 05.00น-09.00น.และ ช่วงเวลา18.00 -21.00น. และขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องนำรถยนต์ออกมาวิ่งบนถนนในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งสั่งลดกำลังการผลิตของโรงงานที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง, ตั้งเขตห้ามนำรถยนต์ดีเซลเก่าวิ่งเข้าเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย.ถึงเดือน ก.พ., ให้เปลี่ยนรถบัสโดยสารในเมืองต้องเป็นรถยนต์ EVทั้งหมด, สั่งห้ามเผาในที่โล่ง เป็นต้น
.
ทั้งนี้เกาหลีใต้สามารถพยากรณ์คุณภาพอากาศและคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำอย่างน้อย 5 วันโดยผู้ว่าการกรุงโซลจะประกาศให้ประชาชนทราบและเสนอมาตรการดังกล่าวออกไป
.
..ผู้ว่ากรุงโซลทุกสมัยจะต้องมีนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน ยึดหลัก "คุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าเงินตราที่เสียไป(The value of human beings is far greater than that of money)" ถึงแม้จะเสียรายได้มหาศาลก็ไม่เป็นไรแต่มูลค่าสุขภาพอนามัยของประชาชนต้องมาก่อน
.
3.ปี 2022 เกาหลีใต้ได้จัดการแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศให้ลดลงได้อย่างมาก เช่น ใช้รถเครื่องยนต์และน้ำมันEuro6, เริ่มใช้รถยนต์EV, ยกเลิกสถานประกอบการและโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง, เพิ่มสวนสาธารณะโดยมีขนาดของพื้นที่สีเขียวเป็นอันดับ 7 ของโลกคิดเป็น 27.8% ของพื้นที่กรุงโซลและมีสวนสาธารณะขนาดต่างๆมากกว่า2200 แห่ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ ตามทุกวันนี้ก็ยังประสบกับฝุ่นละอองที่พัดข้ามแดนจากประเทศจีนในบางช่วงเวลาเท่านั้นแต่ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงโซลในปี 2024 ลดลงถึง 75% สภาพอากาศดีเยี่ยมถึงปานกลาง
.
4.สำหรับประเทศไทยเจ้าภาพจัดการฝุ่นละอองมีหลายหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการของชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเพียงใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุขเรื่องเหตุรำคาญและพ.ร.บ.โยธาและผังเมือง เรื่องการก่อสร้างและปลูกต้นไม้และพ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเท่านั้น ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าภัยจากฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นภัยพิบัติหรือไม่ ที่เหลือเป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการฝุ่น PM2.5 ได้เหมือนประเทศเกาหลีใต้.
.
Cr. THESTATESTIMES
---------
‘ห้ามรถบรรทุกเข้าเมือง-ขยายเวลา WFH’
ชัชชาติประกาศรับมาตรการรับมือ ‘ฝุ่น’ เพิ่มเติม
หลังคุณภาพอากาศย่ำแย่หนักตลอดสัปดาห์
วันนี้ (21 มกราคม 2568) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศยกระดับมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 โดยสั่งห้ามไม่ให้รถบรรทุกเกิน 6 ล้อที่ไม่ได้อยู่ใน ‘บัญชีสีเขียว’ (Green List) เดินทางเข้ามาภายในพื้นที่วงแหวนชั้นใน (วงแหวนรัชดาภิเษก)
.
ชัชชาติกล่าวว่า หากรถคันใดเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรอง หรือเป็นรถบรรทุกยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตลอดจนรถบรรทุกที่ได้รับมาตรฐานยูโร 5-6 และใช้ก๊าซ NGV ที่ลงทะเบียนกับ กทม.ไว้ สามารถเดินทางเข้ามาภายในพื้นที่วงแหวนชั้นในได้
.
ทั้งนี้ปัจจุบันมีรถบรรทุกกว่า 3 หมื่นคันที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ดังนั้นจะไม่สามารถเดินทางเข้ามาในพื้นที่ที่กำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น.
.
“มาตรการนี้ไม่ได้ห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปทุกคัน ถ้าเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและมาลงทะเบียน Green List ก็สามารถเข้ามาได้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
.
อย่างไรก็ตามหากมีการฝ่าฝืนเข้ามาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
.
ชัชชาติระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีจุดเผาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี อีกทั้งอัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ยังอยู่ในระดับ ‘แย่’ จึงทำให้มีการประเมินว่า ในช่วง 3 วันให้หลังค่าฝุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น
.
ในวันเดียวกัน กทม.ประกาศขยายระยะเวลามาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพิ่มเติมอีก 3 วันคือ วันที่ 22-24 มกราคม 2568 เพื่อลดการเดินทาง รวมถึงปริมาณรถยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่น โดยคาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นจะเริ่มดีขึ้นช่วงวันที่ 25-27 มกราคม 2568 เนื่องจากมีอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น
.
ภาพ: AFP
.
Cr. TheMomentum
ปล.เอาตรงๆ ห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองของพี่ไทยนี่ mission impossible เชียว แค่ตามกฏหมายไม่ให้วิ่งช่วงกลางวันก็ไม่เห็นจะห้ามได้
ที่จริงไม่ควรเกี่ยงว่าหน้าที่ใคร ควรเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว