ราโชมอน? ต่างฝ่ายต่างพูดในมุมของตัวเอง
อะไรคือ ปรากฏการณ์ราโชมอน?
จากคำบอกเล่าที่แตกต่างและมุมมองที่หลากหลาย ความจริงที่ไม่ได้มีเพียงความจริงเดียวและล้วนขึ้นอยู่กับตัวบุคคล สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ปรากฏการณ์ราโชมอน
ปรากฏการณ์ราโชมอน (Rashomon effect) หรือ ปรากฏการณ์คุโระซะวะ (Kurosawa effect) คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนกล่าวถึงสิ่งเดียวกันที่ได้พบเจอหรือเผชิญนั้นแตกต่างกัน คำบอกเล่าที่แสดงให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันในการตีความสิ่งเดียวกัน ปรากฏการณ์ราโชมอน มีต้นกำเนิดมาจากภาพยนตร์ที่โด่งดังเรื่อง Rashomon (1950) ผลงานชิ้นเอกของ อาคิระ คุโระซะวะ
ภายหลังภาพยนตร์ Rashomon มีภาพยนตร์อย่าง Predestination (2014) Gone Girl (2014) Citizen Kane (1941) The Woman in Question (1950) Courage Under Fire (1996) อีกทั้งหนังสือเรื่อง Night of January 16th ของ ไอน์ แรนด์ และ As I Lay Dying ของ วิลเลียม ฟอกเนอร์ นำปรากฏการณ์ราโชมอนไปใช้เป็นเทคนิคในการดำเนินเรื่อง โดยนำเสนอปมของเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้สนุกไปกับการตีความเรื่องราวของภาพยนตร์แล้วเฉลยปมต่างๆ ในภายหลัง
ความสับสนที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ราโชมอนนำไปสู่คำถามที่ว่า คำกล่าวไหนคือความจริง และคำกล่าวที่เหลือคือคำโกหกหรือเปล่า
ปรากฏการณ์ราโชมอนไม่เพียงเกิดขึ้นในโลกภาพยนตร์และหนังสือ แต่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยหลายครั้งที่ปรากฏการณ์ราโชมอนเกิดขึ้นในการพิจารณาคดีฆาตกรรมในชั้นศาลเมื่อเหล่าพยานที่เห็นเหตการณ์ให้การแตกต่างกัน แม้ว่าแท้จริงแล้วความจริงจะมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ความจริงในความทรงจำ การรับรู้ และการตีความของพยานแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกัน ปรากฏการณ์ราโชมอนสร้างความสับสนและเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ฆาตกรสามารถหยิบยกมาเพื่อบิดเบือนความจริงและหลีกเลี่ยงการลงโทษได้
ปรากฏการณ์ราโชมอนได้นำเสนอความจริงแท้เกี่ยวกับความแตกต่างของมนุษย์ เพราะหากมนุษย์นั้นมีตัวตน มุมมองความคิด และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ก็ไม่แปลกที่การตีความถึงสิ่งๆ หนึ่งจะมีความหลากหลายกันไปตามตัวบุคคล ปรากฏการณ์ราโชมอนเป็นอีกสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตน ความคิด และมุมมองของมนุษย์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อริสา จิรสิทธิบัณฑิตย์ : เรียบเรียง
ที่มา
https://www.sm-thaipublishing.com/content/11375/rashomon-effect