‘Survivorship Bias’ เรียนรู้ความผิดพลาดทางการคิด จากเครื่องบินสงคราม
ย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายๆ ประเทศที่เข้าร่วมสงครามต่างก็ต้องหากลยุทธ์มาฟาดฟันกัน ไม่ใช่แค่กลยุทธ์ในการบุกโจมตีหรือป้องกันข้าศึกเพียงอย่างเดียว แต่วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นนักสถิติและนักคณิตศาสตร์จำนวนไม่น้อย จึงถูกเกณฑ์มาช่วยในการวิเคราะห์แก้ปัญหาในหลายๆ เรื่อง
และหนึ่งในเรื่องที่กลายเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือเรื่องราวของ "อับราฮัม วัลด์ ผู้คิดต่าง"
ณ ตอนนั้นเองทางกองทัพสหรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับการที่เครื่องบินรบของพวกเขาถูกยิงร่วงอยู่บ่อยครั้ง นักคณิตศาสตร์และนักสถิติหลายคนถูกขอให้วิเคราะห์ว่าควรจะแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร
ในที่สุด ทางกองทัพก็ได้รับแผนภาพวิเคราะห์ที่ระบุว่า จุดที่เครื่องบินมักจะได้รับความเสียหายมากที่สุด อยู่บริเวณไหนบ้าง ผลการวิเคราะห์นี้ถูกส่งต่อให้กับทีมวิศวกรเพื่อช่วยสร้างเกราะป้องกันให้หนาขึ้น เฉพาะส่วนที่เครื่องบินมักจะได้รับความเสียหายมากที่สุด
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้างั้นทำไมถึงไม่สร้างเกราะให้หนาขึ้นทั้งลำเลยล่ะ ?
คำตอบก็คือ การสร้างเกราะเพิ่มจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเครื่องบิน ซึ่งส่งผลให้เครื่องบินขาดความคล่องตัว แถมยังกินปริมาณเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่หลังจากนั้น สถิติเครื่องบินที่ถูกยิงร่วงกลับไม่ได้ลดน้อยลงเลย นั่นจึงทำให้ทางกองทัพถึงกับต้องกุมขมับกับปัญหานี้
จนกระทั่งพระเอกของเรื่องได้ปรากฏตัวขึ้น
อับราฮัม วัลด์ นักคณิตศาสตร์ชาวฮังกาเรียน ที่อยู่ในทีมวิจัยสถิติของอเมริกาได้กล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแผนนี้อย่างสิ้นเชิง วัลด์กล่าวว่า จากสถิติที่วิเคราะห์กันมา เกิดขึ้นกับเครื่องบินที่สามารถกลับมายังฐานทัพได้ นั่นหมายความว่า เครื่องบินเหล่านั้นไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราควร “คิดตรงกันข้าม” กับที่ทางกองทัพกำลังทำอยู่ตอนนี้
วัลด์กล่าวว่า ทางกองทัพควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า
บริเวณที่ไม่มีความเสียหายบนแผนภาพต่างหากที่เป็นจุดสำคัญ เพราะเครื่องบินเหล่านั้นโดนยิงบริเวณจุดดังกล่าว และไม่มีโอกาสบินกลับมาให้เราได้วิเคราะห์กันนั่นเอง
ส่วนจุดสำคัญที่วัลด์วิเคราะห์ไว้ก็คือส่วนของ
เครื่องยนต์ ซึ่งเครื่องบินที่สามารถบินกลับมาได้ ไม่มีร่องรอยการถูกยิงที่เครื่องยนต์แม้แต่น้อย นั่นแสดงว่าเครื่องบินลำไหนที่ถูกยิงเข้าที่เครื่องยนต์ เป็นอันไม่รอดทุกราย จริงๆ แล้วทางกองทัพเองไม่ได้เชื่อวัลด์ เพราะคิดว่าเขาต้องเสียสติแน่ๆ ที่สั่งให้ทางกองทัพติดเกราะในจุดที่เครื่องบินไม่เคยโดนยิง
แต่หลังจากได้ฟังเหตุผลของเขาอย่างถ้วนถี่ดีแล้ว ก็ได้มีการทดลองติดเกราะบริเวณเครื่องยนต์ให้หนาขึ้น
และผลที่ตามมาก็คืออัตราการรอดของเครื่องบินรบอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน สิ่งที่อับราฮัม วัลด์ พบก็คือ ความ
ผิดพลาดเชิงตรรกะที่เรียกว่า “Survivorship Bias” หรือ “ความเอนเอียงจากการอยู่รอด” โดยมีการอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า
“มีแนวโน้มที่เราจะโฟกัสไปยังผู้รอดชีวิตมากกว่า และมองข้ามผู้ที่ไม่รอดอย่างไม่เจตนา ความเอนเอียงนี้อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาดได้หลายทาง”
ในปัจจุบัน ทฤษฎีนี้ยังถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อเราพูดคุยกันถึงการทำธุรกิจใหม่ เรามักจะยกตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่คล้ายกันที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ความคิดแบบนี้ทำให้เราลืมไปว่า ยังมีโมเดลธุรกิจที่คล้ายคลึงกันอีกมากที่ไม่ประสบความสำเร็จ
หากย้อนกลับไปมองสิ่งที่ อับราฮัม วัลด์ บอกกับกองทัพสหรัฐในเวลานั้น เราจะเห็นว่าทางกองทัพมองแต่ผู้ที่รอดชีวิตกลับมา แต่เขากับคิดต่างมองไปถึงเครื่องบินที่ได้รับความเสียหายจนไม่อาจกลับมาได้
Cr. คุณ Initkorn Raksakaew, FB Group: The Wild Chronicles Group สมาคมผู้สนใจประวัติศาสตร์ สงคราม ข่าวต่างประเทศ
เพิ่มเติม::
What is the Survivorship Bias?
Survivorship bias is a cognitive shortcut that occurs when a successful subgroup is mistaken as the entire group, due to the invisibility of the failure subgroup. The bias’ name comes from the error an individual makes when a data set only considers the “surviving” observations, excluding points that didn’t survive.
Survivorship Bias คืออะไร?
Survivorship Bias (อคติจากการรอดชีวิต) เป็นความลำเอียงทางความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มที่ประสบความสำเร็จถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตัวแทนของทั้งกลุ่ม เนื่องจากเราไม่สามารถมองเห็นกลุ่มที่ล้มเหลวได้ ชื่อของอคตินี้มาจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเมื่อชุดข้อมูลพิจารณาเฉพาะ "ข้อมูลที่รอด" โดยไม่รวมข้อมูลที่ "ไม่รอด" เข้าไปในการวิเคราะห์