เกาหลีใต้ VS. ไทย by หนุ่ม เมืองจันท์
เมื่อคืนนี้ ผมติดตามข่าวการเมืองในเกาหลีใต้
มองความงดงามของระบอบประชาธิปไตยของเขาด้วยความอิจฉา
ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ประกาศกฏอัยการศึกด้วยการอ้างเหตุผลว่าพรรคฝ่ายค้านเอียงเข้าข้างเกาหลีเหนือ เป็นภัยต่อความมั่นคง
แต่ชาวเกาหลีใต้ออกมาชุมนุมคัดค้านหน้ารัฐสภา และเปิดทางให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและส.ส.ฝ่ายรัฐบาลส่วนหนึ่งฝ่ากองกำลังทหารเข้าไปประชุมสภาฯ
ก่อนจะลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ยกเลิกประกาศกฏอัยการศึก
เกาหลีใต้กลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
เกาหลีใต้นั้นอยู่ภายใต้ร่มเงาเผด็จการมายาวนาน
ดังนั้น เมื่อประชาชนได้ “ประชาธิปไตย” กลับคืนมา
เขาจึงหวงแหน “เสรีภาพ” ของเขาอย่างยิ่ง
คนเกาหลีใต้เรียนรู้และซาบซึ้งถึงความเลวร้ายของเผด็จการ เขาจึงไม่มีวันยอมให้ใครมาหมุนเข็มนาฬิกากลับไปที่เก่าง่ายๆ
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของ “รัฐธรรมนูญ” ของเกาหลีใต้อย่างชัดเจน 3 เรื่อง
เรื่องแรก แม้ ”กฏอัยการศึก“ เป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะสำหรับเกาหลีใต้ที่เผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ
แต่รัฐธรรมนูญของเขากำหนดให้ “ประธานาธิบดี” ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้มีอำนาจในการประกาศกฏอัยการศึก
ไม่ใช่ “ผู้บัญชาการทหารบก” เหมือนในเมืองไทย
จำตอนที่ กปปส. ชุมนุมใหญ่เมื่อปี 2557 ได้ไหมครับ
คนที่ประกาศกฏอัยการศึก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนั้น
มีอำนาจสูงมากถึงขั้นเรียกรัฐบาลไปเจรจากับ กปปส.ได้
ก่อนใช้กฏอัยการศึกนี้ปูทางไปสู่การรัฐประหารและสืบทอดอำนาจในเวลาต่อมา
เรื่องที่สอง แม้ประธานาธิบดีจะมีอำนาจออกกฏอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้สร้างกลไกการถ่วงดุลแบบประชาธิปไตย
คือ ให้อำนาจ ส.ส.ที่มาจากประชาชนเช่นกันมีสิทธิลงคะแนนคัดค้านการออกกฏอัยการศึกได้
ถ้ามีเสียงเกินครึ่ง
ประธานาธิบดีต้องยกเลิกคำสั่ง
เรื่องที่สาม. ทหารแม้จะมีอาวุธในมือ
แต่เขาทำตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อสภาฯลงมติคัดค้านคำสั่งของประธานาธิบดี
กองทัพก็ถอนกำลังออกไป
ไม่คิดจะรัฐประหารและยึดอำนาจ
นี่คือ ความงดงามของ “ประชาธิปไตย” ในเกาหลีใต้
จากเกาหลีใต้ย้อนมามองเมืองไทย
รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารยังคงอยู่
ผู้บัญชาการทหารบกยังมีอำนาจประกาศกฏอัยการศึก
และยังมีกฏ กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่มากมาย
ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
พรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย และหลายพรรคการเมืองประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
แต่ติดที่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของคนกลุ่มเดียวคัดค้าน
เรานิ่งเฉยกับเรื่องนี้มานาน โดยไม่เคยคิดว่านี่คือ “ระเบิดเวลา” ที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยในอนาคต
เราปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐสภา
ทั้งที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องของประชาชนโดยตรง
รัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้นได้ก็มาจากการรณรงค์ของภาคประชาชน
มีการติด “ริบบิ้นสีเขียว” ทั่วประเทศ
กดดันให้ ส.ส.และส.ว. ยอมผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในประเทศไทย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีของคนไทย
“รัฐธรรมนูญ” ที่ดี ทำให้ไม่เกิดการรัฐประหาร
“รัฐธรรมนูญ”ที่ดี ทำให้ผู้นำประเทศไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้
และ “รัฐธรรมนูญ” ที่ดี มาจากประชาชน
วันนี้คนไทยน่าจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารอยู่ในกำมือของ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนหรือ?
เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนต้องหาคำตอบ
https://www.facebook.com/boycitychanFC