สงครามราคาปีหน้าเดือดต่อ เอกสารลับ BYD กดดันซัพพลายเออร์ลดราคา
เอกสารลับ BYD หลุด! กดดันซัพพลายเออร์ลดราคาอีก สงครามอีวีเดือดขึ้นกว่าเดิม
เอกสาร ‘BYD’ หลุด สะท้อนเกมรุกด้วยการกดดันซัพพลายเออร์ลดราคาอีก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดอีวี โดยคู่แข่งรายอื่นเผชิญความท้าทายหนักในการแข่งขันด้านราคาและเทคโนโลยี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “บีวายดี” (BYD) บริษัทค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ได้ขอให้เหล่าซัพพลายเออร์ยอมรับ “การลดราคาลงอีก” ในปีหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าผู้ผลิตรถยนต์อีวีรายนี้กำลังเตรียมพร้อมกับสงครามราคาที่ดุเดือดขึ้นกว่าเดิมในปี 2025
เมื่อวันพุธ (27 พ.ย.) ภาพจับหน้าจอบางส่วนของอีเมลที่อ้างว่ามาจากยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ในนครเซินเจิ้นกำลังแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย โดยเรียกร้องให้ซัพพลายเออร์รายหนึ่งที่ยังไม่เปิดเผยชื่อ ลดราคา 10% ตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งผลปรากฏว่าเป็นภาพหลุดจากค่ายบีวายดี
อีเมลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายนี้กำลังวางตำแหน่งตัวเองเพื่อรับมือกับส่วนลดเพิ่มเติมในปีหน้า สงครามราคาในตลาดอีวีจีน ซึ่งทวีความรุนแรงมานานกว่าสองปีแล้ว ได้ผลักดันให้เกิดการรวมกิจการและผลักผู้เล่นรายย่อยจำนวนมากให้ออกจากตลาดไป
ด้านค่ายรถตะวันตกก็ปรับตัวเช่นกัน เช่น Volkswagen AG และ Stellantis NV ได้ร่วมมือกับแบรนด์จีน เช่น Xpeng และ Zhejiang Leapmotor Technology เพื่อใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าของจีน ในขณะที่แบรนด์อีวีระดับพรีเมียมอย่าง HiPhi และ WM Motor ในเซี่ยงไฮ้ กำลังเผชิญกับการล้มละลาย
จนถึงตอนนี้ BYD สามารถผ่านพ้นสงครามราคาไปได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และอาจจะแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อต้นปีนี้ BYD ได้นำกลยุทธ์ลดราคาครั้งใหม่ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและกดดันคู่แข่งที่อ่อนแอกว่าให้จากลาไป
บริษัทยังคงสร้างรายได้และกำไรในระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสล่าสุด รายได้ของ BYD แซงหน้าค่ายรถ Tesla แห่งสหรัฐเป็นครั้งแรก และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 21.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหนึ่งปี
ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายนี้ได้เติบโตขึ้นจนกลายเป็น “แบรนด์รถยนต์ที่ขายดีที่สุดในจีน” โดยมียอดขายรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอินและรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 3.2 ล้านคันในปีนี้ รวมถึงยอดขายในเดือนตุลาคมที่สูงถึงครึ่งล้านคัน บริษัทกำลังมุ่งหน้าที่จะมียอดขายอย่างน้อย 4 ล้านคันภายในสิ้นปี
“การต่อรองรายปีกับซัพพลายเออร์เป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมยานยนต์” หลี่ หยุนเฟย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และแบรนด์ของ BYD กล่าวในโพสต์โซเชียลมีเดีย Weibo เมื่อวันพุธต่อกระแสอีเมลดังกล่าว “เราได้เสนอเป้าหมายการลดราคาให้กับซัพพลายเออร์ ซึ่งไม่ใช่ข้อกำหนดที่บังคับ เราสามารถเจรจาต่อรองได้”
https://www.bangkokbiznews.com/world/1155489
https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-11-27/leaked-byd-letter-signals-china-ev-price-war-is-set-to-intensify
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ขอก็อบความเห็นมาเพิ่ม
"
ดูเหมือนบางคนจะยังสับสนและเอาไปมั่วกับ Annual Cost Reduction ที่ค่ายญี่ปุ่น FORD BMW BENZ ที่มีโรงงานในไทยทำกันอยู่ทุกปี มันต่างกันเยอะกับจดหมายขอกินแบบ Unfair Business
1. ค่ายญี่ปุ่น FORD BMW BENZ ที่มีโรงงานในไทยไม่เคยขอให้ Supplier ลดต้นทุนประจำปีถึง 10% แน่ เอาแค่ 5% ยังแทบไม่เคยเห็น ถ้าใครเคยเจอค่ายรถขอให้ทำ Annual Cost Reduction ถึง 10% ช่วยบอกหน่อย
2. หาก Supplier ไม่สามารถลดต้นทุนได้ถึงเป้าหมายที่ค่ายญี่ปุ่น FORD BMW BENZ ที่มีโรงงานในไทยกำหนด ก็สามารถเจรจากันได้ด้วยเหตุผลว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ไม่ว่าจะปรับปรุงกระบวนการผลิต ทำวิศวกรรมคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ลดความสูญเสียจากการขนส่ง และอื่นๆแล้ว ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือแม้กระทั่งทำอะไรไม่ได้ลดอะไรมไม่ได้เลยก็สามารถเจรจากับค่ายรถได้ มันไม่ใช่ The Must ที่ต้องทำตามนั้นเป๊ะๆ
3. Supplier มีสิทธิที่จะเจรจาต่อรองขอปรับขึ้นราคาขายชิ้นส่วน ในกรณีที่สามารถแสดงให้เห็นได้จริงว่าต้นทุนมีการปรับตัวสูงขึ้นจริง อย่าง 2-3 ปีที่ผ่านมาพวก Mega Supplier และ Supplier ที่ใจกล้าหน่อยก็พาเหรดกันขอขึ้นราคาขายชิ้นส่วนกันทุกปีจากต้นทุนวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ ขนส่ง และพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID เรียกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาค่ายรถในไทยเป็นฝ่ายจ่ายเงินขึ้นราคาชิ้นส่วนประจำปีให้ Supplier บางรายแทน ขณะที่ Supplier ไหนที่หน้าบาง หงอ หรืออยากเป็นเด็กดีก็แบกรับต้นทุนจุกๆไป
ส่วนหนังสือหักคอขอลดราคาชิ้นส่วนซึ่งๆหน้าแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย 10% อย่างนี้ ทำงานในสายนี้เป็นสิบๆปียังไม่เคยเจอครับ
"