เหตุใดอินเดียส่งยานไปดวงจันทร์-ดาวอังคารได้ ด้วยต้นทุนต่ำกว่าการสร้างหนังไซ-ไฟของฮอลลีวูด ?
เมื่อปีที่แล้ว อินเดียเป็นชาติแรกที่ส่งยานลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน - Cr. ISRO
เมื่อกล่าวถึงการสำรวจอวกาศในยุคปัจจุบัน ภาพของประเทศที่มีศักยภาพสูงในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรจำนวนมากมักจะเข้ามาในจิตใจ เช่น สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย หรือจีน แต่
หากเรามองไปที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีงบประมาณจำกัด แต่กลับทำสำเร็จในโครงการสำรวจอวกาศที่ยิ่งใหญ่หลายโครงการ ด้วยต้นทุนที่น้อยกว่ามากเทียบกับชาติอื่นๆ
ในปี 2023 อินเดียได้ส่งยาน จันทรายาน-3 ไปลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในการสำรวจพื้นที่ที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน โดยใช้งบประมาณเพียง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,700 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ เช่น การสร้างภาพยนตร์ไซไฟชื่อดังอย่าง Gravity ที่มีงบประมาณถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การสำรวจอวกาศของอินเดียถือเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งในเรื่องการประหยัดงบประมาณ โดยค่าใช้จ่ายของ มังกัลยาน (Mangalyaan) ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคาร ก็เพียงแค่ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,700 ล้านบาท) เท่านั้น เทียบกับค่าใช้จ่ายของ ยานเมเวน (Maven) ขององค์การนาซาที่มีงบประมาณสูงถึง 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20,800 ล้านบาท)
อินเดียตั้งเป้าจะส่งหุ่นยนต์ไปท่องอวกาศในเร็ววันนี้ เพื่อเตรียมนำไปใช้กับภารกิจ “กากันยาน” (Gaganyaan) - ISRO
สิ่งที่ทำให้โครงการอวกาศของอินเดียสามารถทำได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่ามากนั้น มาจากหลายปัจจัยสำคัญที่น่าสนใจ
1. การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ
ในขณะที่หลายประเทศที่พัฒนาโครงการอวกาศใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์จากบริษัทเอกชนต่างชาติ อินเดียเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทั้งหมดภายในประเทศเอง รวมถึงเครื่องยนต์, ดาวเทียม, และระบบขับดันต่างๆ ซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น จรวด PSLV (Polar Satellite Launch Vehicle) ของอินเดีย ซึ่งเป็นจรวดขนาดเล็กที่ใช้ในการส่งดาวเทียมไปยังอวกาศได้อย่างประหยัด โดยใช้ต้นทุนเพียง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อการปล่อยจรวดหนึ่งครั้ง
การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศยังช่วยลดต้นทุนการจัดหาวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูง และทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
2. การจัดการและประหยัดงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
อินเดียมีวิธีการจัดการโครงการที่เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ในกรณีของ มังกัลยาน ยานสำรวจดาวอังคารของอินเดีย ทีมงานได้ใช้ อุปกรณ์ที่เตรียมไว้สำหรับภารกิจจันทรายาน-2 โดยการนำมาใช้ก่อน ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีการเลือกใช้วิธีการที่เรียกว่า “การทดสอบบนพื้นที่จำกัด” (Limited Testing) ซึ่งหมายถึงการลดการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อนและต้นทุนสูง โดยพวกเขาจะทดสอบเฉพาะส่วนที่สำคัญที่สุดของยานอวกาศ
3. การใช้แรงงานและค่าตอบแทนที่ต่ำ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนคือการจ้างงานนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีฝีมือจำนวนไม่มากนัก และจ่ายเงินเดือนที่ต่ำกว่าในประเทศตะวันตกมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง ตัวอย่างเช่น เงินเดือนของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรใน ISRO (องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย) มีราคาถูกกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรอวกาศของตะวันตกอย่างนาซา ถึง 3 เท่า ซึ่งช่วยให้โครงการดำเนินการได้ในราคาที่ประหยัด
4. การใช้จ่ายที่คุ้มค่ากับการเสี่ยง
ในการทำภารกิจอวกาศแต่ละครั้ง ISRO (องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย) จะทำการสร้าง อุปกรณ์สำรวจ ที่สามารถใช้งานได้จริงในภารกิจ โดยไม่สร้างแบบจำลองหรือทดสอบหลายครั้งก่อนการปล่อยขึ้นอวกาศ ซึ่งแม้จะเสี่ยง แต่ก็ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จันทรายาน-1 ซึ่งภารกิจนี้ไม่จำเป็นต้องใช้การทดสอบซ้ำหลายรอบเหมือนกับโครงการของนาซา ทำให้สามารถลดต้นทุนในการดำเนินการได้
5. การได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
รัฐบาลอินเดียมีการให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงการอวกาศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีงบประมาณที่จำกัด แต่ก็มีการตั้งเป้าหมายให้โครงการเหล่านี้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประเทศ เช่น การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษาวิจัย, และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน
ยานโคจรสำรวจดวงอาทิตย์ “อาทิตยา-แอลวัน” (Aditya-L1) มีมูลค่าเพียง 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ - ISRO
ในปี 2024 อินเดียมีงบประมาณการสำรวจอวกาศที่ประมาณ 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการต่างๆ ซึ่งยังคงต่ำกว่าการจัดสรรงบประมาณของนาซาที่มีงบประมาณมากถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี
การที่อินเดียสามารถทำโครงการสำรวจอวกาศได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศนั้น เป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้การจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีฝีมือในราคาที่ไม่สูงเกินไปก็ช่วยลดต้นทุนลงได้มาก ด้วยเหตุนี้อินเดียจึงสามารถบรรลุผลสำเร็จในโครงการอวกาศที่มีความท้าทายและยิ่งใหญ่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศ
ที่มา: https://www.bbc.com/thai/articles/cvg7de2pg7lo
#################################################################
ดาวเคราะห์ของดาวบาร์นาร์ด
ภาพประกอบแสดงสภาพของดาวบาร์นาร์ดบี ดาวเคราะห์บริวารของดาวบาร์นาร์ด - Cr. ESO/M Kornmesser
คณะนักดาราศาสตร์คณะหนึ่ง นำโดย โจเนย์ กอนซาเลส เอร์นันเดซ จากสถาบันวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์หมู่เกาะคะเนรีของประเทศสเปนได้พบดาวเคราะห์ต่างระบบดวงใหม่ ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลต่ำที่สุดดวงหนึ่งในบรรดาดาวเคราะห์ต่างระบบที่เคยค้นพบ และที่สำคัญอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เรามาก
ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า
ดาวบาร์นาร์ดบี (Barnard b) โดยเป็นดาวเคราะห์บริวารของดาวบาร์นาร์ด มีวงโคจรรอบดาวแม่เล็กมาก มีคาบโคจรเพียงสามวันเท่านั้น
ดาวบาร์นาร์ดเป็นดาวแคระแดง มีมวลประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์ อยู่ห่างออกไปเพียง 6 ปีแสง นับเป็นดาวฤกษ์เดี่ยวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด แม้ดาวแอลฟาเซนทอรีจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า แต่แอลฟาคนครึ่งม้าเป็นระบบดาวหลายดวง หากจะนับเฉพาะดาวฤกษ์เดี่ยวแบบดวงอาทิตย์ ดาวบาร์นาร์ดก็จะเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้เราที่สุด
ดาวบาร์นาร์ดบีอยู่ห่างจากดาวบาร์นาร์ดเพียง 2.9 ล้านกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นระยะเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวศุกร์ ระยะนี้ใกล้กว่าเขตเอื้ออาศัยของดาวบาร์นาร์ด แม้ดาวบาร์นาร์ดมีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2,500 องศาเซลเซียส แต่ระยะที่ใกล้มากของดาวบาร์นาร์ดบีทำให้พื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้ร้อนเกินกว่าจะรักษาน้ำให้เป็นของเหลวอยู่บนพื้นผิวได้
แผนผังแสดงระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ที่สุด แม้ดาวแอลฟาเซนทอรีจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด และดาวบาร์นาร์ดใกล้เป็นอันดับสอง แต่ดาวบาร์นาร์ดก็ถือเป็นดาวฤกษ์เดี่ยวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด - Cr. IEEC/Science-Wave – Guillem Ramisa
นักดาราศาสตร์คณะนี้ค้นพบดาวบาร์นาร์ดบีโดยใช้สเปกโทรกราฟชื่อ เอสเปรสโซ (ESPRESSO--Echelle Spectrograph for Rocky Exoplanet and Stable Spectroscopic Observations) ของกล้องวีแอลที ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่สี่กล้องบนภูเขาเซียร์โรปารานัลในทะเลทรายอาตากามาที่ประเทศชิลี
ข้อมูลด้านสเปกตรัมของดาวบาร์นาร์ดจากเอสเปรสโซแสดงถึงการการส่ายไปมาของดาวฤกษ์ซึ่งเกิดจากการรบกวนทางความโน้มถ่วงของดาวเคราะห์บริวาร ต่อมาข้อมูลนี้ก็ได้รับการยืนยันโดยข้อมูลจากกล้องฮาร์ป (HARPS--High Accuracy Radial Velocity Planet Searcher) ของหอดูดาวยุโรปซีกใต้
กล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ตั้งอยู่บนภูเขาเซียร์โร ปารานัลในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี โดยมีความสูงถึง 2,635 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้อย่างคมชัด ด้วยกระจกหลักขนาด 8.2 เมตรจำนวน 4 ตัว ระบบ Adaptive Optics ช่วยปรับภาพให้ชัดแม้ในสภาพบรรยากาศที่ไม่เสถียร และการใช้ Interferometry ทำให้มีความละเอียดสูงในการศึกษาดาวฤกษ์, หลุมดำ, และดาวเคราะห์นอกระบบ. VLT เป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจจักรวาลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก - Cr. ESO
ความน่าสนใจอีกด้านหนึ่งของดาวบาร์นาร์ดก็คือ ดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นดาวที่มีสภาพโลหะต่ำ คำว่าโลหะในทางดาราศาสตร์ต่างจากที่วงการอื่นใช้ โลหะในทางดาราศาสตร์หมายถึงธาตุใดก็ตามที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียม นักดาราศาสตร์เคยเชื่อว่าโลหะเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในการสร้างดาวเคราะห์หิน ดาวฤกษ์ที่มีสภาพโลหะต่ำจะมีโอกาสสร้างดาวเคราะห์หินได้น้อยกว่า แต่การที่พบว่าดาวที่มีสัดส่วนโลหะต่ำอย่างดาวบาร์นาร์ดยังสร้างดาวเคราะห์หินขึ้นมาได้ก็นับว่าสนใจอย่างมาก
ดาวบาร์นาร์ดไม่เพียงแต่สร้างดาวเคราะห์หินขึ้นมาได้เท่านั้น ดาวดวงนี้อาจไม่ได้มีดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวด้วย นักดาราศาสตร์คณะดังกล่าวยังพบหลักฐานที่แสดงว่าอาจมีดาวเคราะห์อีกสามดวง อย่างไรก็ตามสำหรับดาวเคราะห์อีกสามดวงนี้ยังต้องรอหลักฐานเพิ่มเติมจึงจะยืนยันได้ว่าเป็นดาวเคราะห์จริง
ที่มา: https://thaiastro.nectec.or.th/news/5464, https://www.space.com/barnards-star-exoplanet-sub-earth, https://www.eso.org/public/teles-instr/paranal-observatory/vlt/vlt-instr/espresso, https://en.wikipedia.org/wiki/Very_Large_Telescope
#################################################################
การวิจัยใหม่ชี้ว่าดาวเบเทลจุสเป็นดาวฤกษ์ระบบคู่
กลุ่มดาวนายพราน ดาวที่ศรชี้คือดาวเบเทลจุส - Cr. nectec
ดาวเบเทลจุส (Betelgeuse) หรือดาวแอลฟานายพราน เป็นดาวที่เป็นที่รู้จักกันดีไม่ว่าจะในแวดวงนักดาราศาสตร์หรือนักดูดาวทั่วไป เป็นดาวฤกษ์สว่างอันดับสองของกลุ่มดาวนายพราน อยู่ในดาวเต่าของไทย และสว่างเป็นอันดับ 10 ของดาวฤกษ์บนท้องฟ้ายามค่ำคืน
เบเทลจุสได้ตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อดาวได้หรี่แสงลงไปอย่างมากในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 ปกติดาวเบเทลจุสมีอันดับความสว่างอยู่ระหว่าง 0.1 - 1 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวความสว่างของดาวลดลงไปจนมีอันดับความสว่าง 1.6 เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ
การหรี่แสงครั้งใหญ่ของเบเทลจุส
ดาวเบเทลจุส (Betelgeuse) เป็นดาวยักษ์แดงที่ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวโอไรออน มันมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 1,000 เท่า และสว่างมากจนสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า มันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 642.5 ปีแสง แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือมันอาจจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้มันสว่างถึงขั้นสามารถมองเห็นได้ในเวลากลางวัน! ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อท้องฟ้าและอาจส่งคลื่นรังสีที่มีพลังมหาศาลถึงโลก ดาวเบเทลจุสจึงกลายเป็นจุดสนใจสำคัญของนักดาราศาสตร์ทั่วโลก - Cr. ESA
ดาวเบเทลจุสอยู่ห่างจากโลกประมาณ 724 ปีแสง มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 1,400 เท่า และมีกำลังส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100,000 เท่า จึงนับเป็นดาวฤกษ์ที่ใหญ่ที่สุดดวงหนึ่งและสว่างไสวที่สุดดวงหนึ่งเท่าที่เรารู้จัก
ความสว่างของดาวเบเทลจุสไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นรายคาบ ดาวที่มีความสว่างไม่คงที่เช่นนี้เรียกกว่าดาวแปรแสง นักวิทยาศาสตร์ศึกษาการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวเบเทลจุสแล้วพบว่ามีวัฏจักรสองวัฏจักรซ้อนกันอยู่ วัฏจักรหนึ่งมีคาบยาว 416 วัน ส่วนอีกวัฏจักรหนึ่งมีคาบยาวประมาณ 2,170 วัน
การศึกษาดาวยักษ์แดงมาเป็นจำนวนมากทำให้นักดาราศาสตร์ทราบดีว่าดาวฤกษ์มวลสูงที่อายุมากจนใกล้จะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาอย่างดาวเบเทลจุสจะมีการกระเพื่อมพองยุบสลับกันซึ่งทำให้ความสว่างเปลี่ยนแปลงขึ้นลง และการกระเพื่อมนี้สลัดฝุ่นแก๊สออกมาเป็นจำนวนมากปกคลุมรอบดาว กระบวนการนี้อธิบายการแปรแสงของดาวเบเทลจุสได้
อย่างไรก็ตาม การกระเพื่อมของดาวยักษ์แดงควรมีคาบอยู่ในระดับเป็นร้อยวันหรือไม่ถึงร้อยวัน จึงอธิบายได้เฉพาะการเกิดวัฏจักรคาบ 416 วันของเบเทลจุส แต่อธิบายวัฏจักรคาบ 2,170 วันของเบเทลจุสไม่ได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาคาใจนักดาราศาสตร์มานานหลายทศวรรษแล้ว
กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลมองเห็นพฤติกรรมการจามของดาวฤกษ์ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 650 ปีแสง คายพลาสมาและก๊าซจำนวนมากออกมาในขณะที่มันหดตัว จากนั้นสสารก็จะเย็นตัวลงและรวมตัวกันจนกลายเป็นเม็ดฝุ่นที่มีความหนาแน่นมากขึ้นซึ่งปิดกั้นแสงของมัน - Cr. NASA, ESA - E. Wheatley (STScI)
การกระเพื่อมของดาวถือเป็นปัจจัยภายใน เพราะเกิดจากกระบวนการภายในดาวเอง นอกจากการแปรแสงจากปัจจัยภายในแล้ว ดาวก็อาจแปรแสงได้จากปัจจัยภายนอกดาวได้อีกด้วย มีทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่าดาวเบเทลจุสอาจมีดาวสหายอีกดวงหนึ่งโคจรรอบอยู่ เมื่อดาวสหายดวงนั้นโคจรผ่านไป ก็จะกวาดม่านฝุ่นที่ปกคลุมดาวเบเทลจุสจนเป็นโพรงชั่วขณะ เปิดช่องให้แสงจากดาวเบเทลจุสส่องมายังโลกได้มากขึ้น เมื่อดาวสหายดวงนี้โคจรผ่านมาหลายครั้งก็จะทำให้ความสว่างของดาวเบเทลจุสเปลี่ยนแปลงเป็นรายคาบได้เช่นกัน
แนวคิดเรื่องดาวเบเทลจุสมีดาวสหายไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการเสนอขึ้นมาเมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีก่อนแล้วเพื่ออธิบายถึงการแปรแสงของดาวเบเทลจุส แต่ต่อมาเมื่อการศึกษาด้านวิวัฒนาการดาวฤกษ์ก้าวหน้าขึ้น ความเข้าใจเรื่องการแปรแสงของดาวที่มีอายุมากมีมากขึ้น แนวคิดเรื่องดาวเบเทลจุสมีคู่ก็เริ่มตกไป
นักวิจัยคณะหนึ่งนำโดย จาเร็ด โกลด์เบิร์ก นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากสถาบันแฟลตไอออนได้ศึกษาดาวเบเทลจุสเพื่อหาว่ากระบวนการใดที่ทำให้เกิดวัฏจักรการแปรแสง 2,170 วันของเบเทลจุสโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ร่วมกับการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ โดยมองไปที่เหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่นกระแสความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นภายในดาวเอง หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กเป็นรายคาบ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน นักวิจัยอีกคณะหนึ่งนำโดย มอร์แกน แมกเคลาด์ จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์เวิร์ด-สมิทโซเนียนในเคมบริดจ์ ก็ศึกษาดาวเบเทลจุสเช่นเดียวกันโดยการวิเคราะห์ข้อมูลด้านความเร็วตามแนวเล็งและตำแหน่งของดาวเบเทลจุสจากคลังข้อมูลย้อนหลังไปนับร้อยปี
ภาพดาวเบเทลจุสซ้อนกับแผนภาพที่แสดงวงโคจรของดาวเบเทลบัดดี - Cr. Lucy Reading-Ikkanda / Simons Foundation
ทั้งสองคณะแม้จะทำงานไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ให้บทสรุปตรงกันว่า ดาวเบเทลจุสมีดาวสหายหนึ่งดวงโคจรอยู่ใกล้ ๆ ทฤษฎีเก่าที่ถูกขึ้นหิ้งไปแล้วถูกหยิบมาปัดฝุ่นเพื่ออธิบายการแปรแสงของเบเทลจุสอีกครั้ง
โกลด์เบิร์กตั้งชื่อดาวฤกษ์สหายของดาวเบเทลจุสไว้ว่า
เบเทลบัดดี (Betelbuddy) คาดว่าดาวเบเทลบัดดีน่าจะเป็นดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ มีมวลราวสองมวลสุริยะ โคจรรอบดาวเบเทลจุสในระยะใกล้ มีรัศมีวงโคจรใกล้เคียงกับรัศมีวงโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์
นักดาราศาสตร์คณะของโกลด์เบิร์กตั้งเป้าหมายถัดไปว่าจะถ่ายภาพของเบเทลบัดดีให้ได้ เพื่อยืนยันว่าทฤษฎีดาวคู่นี้ถูกต้อง ซึ่งโอกาสที่เหมาะที่สุดครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นราววันที่ 6 ธันวาคม เมื่อดาวทั้งสองมีระยะห่างเชิงมุมมากที่สุด
ที่มา: https://thaiastro.nectec.or.th/news/5476, https://www.astronomy.com/science/betelgeuse-may-have-a-betelbuddy, https://spacenews.com/hubble-sees-red-supergiant-star-betelgeuse-slowly-recovering-after-blowing-its-top
#################################################################
ดาวดวงหนึ่งในกาแล็กซีแอนโดรเมดา หายไปและกลายเป็นหลุมดำ
ภาพประกอบนี้แสดงให้เห็นซูเปอร์โนวาที่ล้มเหลวซึ่งกลายเป็นหลุมดำโดยตรงโดยไม่มีการระเบิด - Cr. NASA/ESA/P. Jeffries (STScI)
ดาวมวลมหาศาลที่มีมวลประมาณแปดเท่าของดวงอาทิตย์มักจะระเบิดกลายเป็นซูเปอร์โนวาเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต การระเบิดเหล่านี้ทิ้งหลุมดำหรือดาวนิวตรอนไว้ และมีพลังงานมากพอที่จะส่องสว่างเหนือกาแล็กซีที่มันอยู่ได้นานหลายเดือน อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ได้พบว่า
ดาวดวงหนึ่งไม่ได้ระเบิด แต่กลับกลายเป็นหลุมดำโดยตรง งานวิจัยที่นำโดยคิชาลัย เด แห่ง MIT ชี้ให้เห็นว่าดาวที่ขาดไฮโดรเจนดวงนี้ยุบตัวลงโดยไม่มีการระเบิด
ดาวที่ค้นพบชื่อ M31-2014-DS1 ซึ่งมีมวลเริ่มต้นประมาณ 20 เท่าของดวงอาทิตย์ ส่องสว่างคงที่ในช่วงแสงอินฟราเรดกลางในปี 2014 และจางลงอย่างมากในช่วงปี 2016-2019 ในปี 2023 ดาวดวงนี้ไม่ปรากฏในภาพถ่ายแสงที่มองเห็นได้หรือนิวอินฟราเรดอีกต่อไป นักวิจัยระบุว่าดาวนี้เข้าสู่ช่วงการเผาไหม้ขั้นสุดท้ายที่มวลประมาณ 6.7 เท่าของดวงอาทิตย์ ทิ้งไว้แต่ฝุ่นรอบๆ แต่ไม่มีการปะทุของแสงตามปกติ
ภาพจำลองการระเบิดของซูเปอร์โนวาประเภท II โดยศิลปิน ซูเปอร์โนวาประเภทนี้จะระเบิดเมื่อดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ใกล้จะสิ้นอายุขัยและทิ้งหลุมดำหรือดาวนิวตรอนไว้เบื้องหลัง แต่บางครั้งซูเปอร์โนวาอาจล้มเหลวในการระเบิดและยุบตัวลงในหลุมดำโดยตรง - NASA
ปกติแล้วเมื่อดาวยุบตัว แกนกลางจะเกิดกระบวนการนิวตรอนไนเซชัน โดยนิวทริโนซึ่งเป็นอนุภาคที่แทบไม่ทำปฏิกิริยากับสสารจะปล่อยพลังงานราว 10% ของมวลดาวออกมาเป็นคลื่นช็อคนิวทริโนซึ่งอาจช่วยให้เกิดการระเบิดได้ แต่ในกรณีของ M31-2014-DS1 คลื่นช็อคนิวทริโนไม่ฟื้นตัว ดาวจึงยุบตัวลงสู่แกนกลางและกลายเป็นหลุมดำ
ดาวฤกษ์ในกาแล็กซีแอนดรอเมดา (เห็นในภาพนี้ในแสงอินฟราเรดสีเทียม) ดูเหมือนจะหายไป ซึ่งอาจเป็นหลักฐานของซูเปอร์โนวาที่ล้มเหลว - Cr. JPL-Caltech/NASA, UCLA
นักวิจัยพบว่าดาว M31-2014-DS1 ปล่อยสสารออกมาในปริมาณต่ำมากกว่าที่ซูเปอร์โนวาปกติจะปล่อยออกมา การคำนวณแสดงว่าสสารประมาณ 98% ของดาวหรือราว 6.5 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ยุบตัวเป็นหลุมดำ ซึ่งสูงเกินขีดจำกัดของมวลที่จะเป็นดาวนิวตรอน
M31-2014-DS1 ไม่ใช่ซูเปอร์โนวาที่ล้มเหลวเพียงดวงเดียวที่พบ ในปี 2009 นักดาราศาสตร์ค้นพบซูเปอร์โนวาที่ล้มเหลวที่ยืนยันได้เพียงดวงเดียวคือ N6946-BH1 ในกาแล็กซี NGC 6946 ที่มีมวลประมาณ 25 เท่าของดวงอาทิตย์ โดยสังเกตได้ว่าแสงอินฟราเรดจางลงจนมองไม่เห็นในช่วงแสงที่มองเห็น
การสำรวจด้วยกล้อง Large Binocular Telescope พบว่าดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ประมาณ 20-30% อาจจบชีวิตลงด้วยการล้มเหลวในการระเบิด แม้จะมีหลักฐานที่เป็นไปได้มากมาย แต่นักดาราศาสตร์ยืนยันได้เพียงสองกรณีคือ M31-2014-DS1 และ N6946-BH1
ที่มา: https://www.universetoday.com/169204/a-star-disappeared-in-andromeda-replaced-by-a-black-hole, https://www.sciencenews.org/article/star-disappeared-failed-supernova
#################################################################
นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ในอนาคตอาจมีการทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อยเพื่อผลิตอาหารให้แก่นักบินอวกาศ
ยานสำรวจ ฮายาบูสะ 2 (Hayabusa 2) ของญี่ปุ่นเดินทางไปยัง ดาวเคราะห์น้อยริวงู (Ryugu) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 300 ล้านกิโลเมตร ยานสำรวจนี้ได้ทำการเก็บตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวและใต้ผิวของริวงู โดยเฉพาะอย่างยิ่งหินที่อยู่ใต้พื้นผิวซึ่งไม่เคยสัมผัสกับอวกาศภายนอกมาก่อน - Cr. JAXA
วัสดุที่เก็บเกี่ยวจากดาวเคราะห์น้อยอาจถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนนักบินอวกาศในภารกิจระยะยาวในอวกาศได้
นักวิจัยจากสถาบันสำรวจโลกและอวกาศของมหาวิทยาลัย Western ได้ค้นพบวิธีในการผลิต "
ไบโอแมส " ซึ่งก็คืออาหาร โดยใช้จุลินทรีย์และสารอินทรีย์ที่พบในดาวเคราะห์น้อย วิธีการที่พวกเขานำเสนอช่วยแก้ปัญหาการจัดเตรียมอาหารสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศที่อาจไกลถึงขอบเขตของระบบสุริยะ หรืออาจไกลกว่านั้น
ตัวอย่างวัสดุที่เก็บมาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู - Cr. AFP/Handout/NASA TV
“เพื่อสำรวจระบบสุริยะอย่างลึกซึ้ง จำเป็นต้องลดการพึ่งพาการส่งเสบียงจากโลก” นักวิจัยกล่าวในงานวิจัยซึ่งนำโดย เอริก พิลเลส
ปัจจุบัน ลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พึ่งพาภารกิจส่งเสบียงจากโลก ซึ่งมีต้นทุนสูงและซับซ้อนทางโลจิสติกส์ การปลูกพืชในอวกาศแม้จะเป็นไปได้ แต่ก็ซับซ้อนเช่นกัน
นักวิจัยจึงเสนอแหล่งอาหารจากท้องถิ่นในอวกาศ นั่นก็คือ ดาวเคราะห์น้อย
วิธีการนี้ต้องใช้ความร้อนสูงเพื่อทำลายสารอินทรีย์ในดาวเคราะห์น้อยในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีออกซิเจน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า "
ไพโรไลซิส " สารไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากกระบวนการนี้จะถูกนำไปใช้เป็นอาหารสำหรับจุลินทรีย์ซึ่งจะย่อยสลายสารอินทรีย์และผลิตไบโอแมสที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับมนุษย์
ดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Asteroid Bennu) เป็น "กองเศษหิน" กองเศษวัสดุที่เหลือจากการสร้างดาวเคราะห์ - Cr. NASA/Goddard/University of Arizona
การวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่ดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอนนาเซียส คอนไดรต์ ซึ่งมีน้ำถึง 10.5% และมีปริมาณสารอินทรีย์สูง เช่น ดาวเคราะห์น้อย Bennu ซึ่งยาน OSIRIS-REx ของนาซาเคยเก็บตัวอย่างไว้ในปี 2018 และส่งกลับมายังโลกในเดือนกันยายนปี 2023 เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทำงานกับตัวอย่างจริง นักวิจัยได้คำนวณศักยภาพของผลผลิตอาหารที่สามารถสร้างได้ด้วยวิธีที่เสนอ และประเมินปริมาณวัสดุที่ต้องใช้จากดาวเคราะห์น้อยเพื่อให้ได้ปริมาณอาหารที่เพียงพอ
โดยสรุป นักวิจัยคาดว่าดาวเคราะห์น้อยอย่าง Bennu อาจถูกใช้เพื่อผลิตไบโอแมสที่รับประทานได้ประมาณ 50 ถึง 6,550 เมตริกตัน ซึ่งมีปริมาณแคลอรีพอที่จะสนับสนุนชีวิตนักบินอวกาศได้ระหว่าง 600 ถึง 17,000 ปี ชีวิตนักบินอวกาศ (ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารอินทรีย์ที่สามารถแปลงเป็นอาหารได้ทั้งหมด)
ผลงานภาพประกอบ ยานอวกาศโอซิริส-เร็กซ์ใช้เวลาสองปีในการทำแผนที่ดาวเบนนูก่อนที่จะเก็บตัวอย่างได้ - Cr. NASA
ดังนั้น การทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อยอาจเปลี่ยนแปลงการเดินทางในอวกาศระยะยาวได้อย่างสิ้นเชิง โดยทำให้นักบินอวกาศสามารถพึ่งพาอาหารที่หาได้ในท้องถิ่นแทนการขนส่งเสบียงจำนวนมากจากโลก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการขุดและการแปรรูปดาวเคราะห์น้อย และตรวจสอบว่าอาหารที่ได้เหมาะสมและน่ารับประทานหรือไม่
“จากผลการศึกษานี้ วิธีการใช้คาร์บอนในดาวเคราะห์น้อยเพื่อเป็นแหล่งอาหารแบบกระจายสำหรับมนุษย์ที่สำรวจระบบสุริยะดูมีศักยภาพ แต่ยังต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมในหลายด้าน” นักวิจัยกล่าว
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมในวารสาร
International Journal of Astrobiology
ดาวเคราะห์น้อย เบนนู (Bennu) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร (0.5 กิโลเมตร) และมีรูปร่างเป็นทรงคล้ายเพชร เบนนูเป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอนที่มีอายุยาวนานกว่า 4.5 พันล้านปี ซึ่งอาจบรรจุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับต้นกำเนิดของระบบสุริยะ มันถูกสำรวจโดยยาน OSIRIS-REx ของนาซา ซึ่งได้เก็บตัวอย่างหินและฝุ่นจากพื้นผิวของมันกลับมายังโลกในปี 2023 ด้วยมวลประมาณ 70,500 ตัน ทำให้เบนนูมีแรงโน้มถ่วงต่ำมาก ส่งผลให้วัสดุต่างๆ บนพื้นผิวมีการเคลื่อนไหวง่าย - Cr. NASA - JAXA
ที่มา: https://www.space.com/mining-asteroids-food-deep-space-missions, https://www.cambridge.org/core/journals/international-journal-of-astrobiology/article/how-we-can-mine-asteroids-for-space-food/9EF3C4FA6F32368D09994EB7910C7035
#################################################################
Space X เตรียมปล่อยดาวเทียมอินเทอร์เน็ต Starlink จำนวน 24 ดวง จากฟลอริดาในวันนี้
จรวด SpaceX Falcon 9 ปล่อยดาวเทียม Starlink จำนวน 23 ดวงขึ้นสู่วงโคจรจากฟลอริดาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2024 - Cr. SpaceX
Space X มีแผนจะปล่อยดาวเทียมอินเทอร์เน็ต Starlink เพิ่มเติมอีก 24 ดวงจากชายฝั่งอวกาศของรัฐฟลอริดาในวันนี้ (10 พฤศจิกายน)
จรวด Falcon 9 ที่บรรทุกดาวเทียม Starlink มีกำหนดปล่อยตัวจากสถานีอวกาศ Cape Canaveral Space Force ในช่วงเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 16:28 น. ตามเวลามาตรฐานฝั่งตะวันออกของสหรัฐ (หรือ 20:28 น. GMT)
สามารถรับชมการถ่ายทอดสดการปล่อยจรวดผ่าน X (ทวิตเตอร์เดิม) โดยเริ่มการถ่ายทอดประมาณ 5 นาทีก่อนการปล่อยตัว *** เมื่อเทียบกับเวลาประเทศไทยจะตรงกับ ตี 04:28 น. ของเช้าวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ขั้นตอนแรกของจรวด Falcon 9 จะกลับมาสู่โลกและลงจอดในแนวตั้งบนโดรนชิปชื่อ "
A Shortfall of Gravitas " ซึ่งจะจอดรออยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ประมาณ 8 นาทีหลังจากที่ปล่อยตัว
จรวด SpaceX Falcon 9 ปล่อยดาวเทียมอินเทอร์เน็ต Starlink จำนวน 20 ดวงขึ้นสู่วงโคจรจากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กของแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2024 - Cr. SpaceX via X
การปล่อยครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 12 ของจรวดบูสเตอร์นี้ที่ทำภารกิจปล่อยและลงจอด โดยจากภารกิจทั้งหมด 11 ครั้งก่อนหน้านี้ มี 5 ครั้งที่เป็นภารกิจปล่อยดาวเทียม Starlink
ส่วนขั้นตอนที่สองของจรวด Falcon 9 จะยังคงพาดาวเทียม Starlink ทั้ง 24 ดวงไปยังวงโคจรต่ำของโลก (LEO) และจะปล่อยดาวเทียมออกสู่วงโคจรนั้นประมาณ 65 นาทีหลังจากการปล่อยตัว
การปล่อยจรวดในวันนี้เป็นการติดตามภารกิจ Starlink อีกภารกิจหนึ่งที่เพิ่งถูกปล่อยจากฐานทัพอวกาศ Vandenberg ในแคลิฟอร์เนียช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา (9 พฤศจิกายน)
VIDEO
SpaceX ได้ทำการส่งดาวเทียมอินเทอร์เน็ต Starlink จำนวน 20 ดวงจากแคลิฟอร์เนียเมื่อเช้าตรู่ของวันเสาร์ (9 พ.ย.) - SpaceX
ที่มา: https://www.space.com/spacex-starlink-launch-group-6-69, https://www.space.com/space-exploration/launches-spacecraft/spacex-launching-20-starlink-satellites-early-nov-7-on-2nd-half-of-doubleheader, https://twitter.com/spacex
############################################################
VIDEO
จรวด Falcon 9 ของ SpaceX ได้ทำการปล่อยดาวเทียมโทรคมนาคม KoreaSat-6A จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (KSC) ของ NASA ในฟลอริดา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2024 เวลา 12:07 น. EST (1607 GMT)
จรวดดังกล่าวทำลายสถิติการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการปล่อยและลงจอดเป็นครั้งที่ 23
เครดิต: SpaceX
https://twitter.com/spacex