ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ทำให้ไอซ์แลนด์เศรษฐกิจเติบโตเร็ว !?
วิจัยใหม่ เผย เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป หลังจากประกาศลดชั่วโมงทำงานทั่วประเทศ เช่น ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่ถูกหักเงินเดือน
ขณะที่อัตราการว่างงานก็พบว่าต่ำที่สุดในยุโรปอีกด้วย บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ในประเทศยังรักษาผลิตผลได้สูงแม้พนักงานจะลดชั่วโมงการทำงาน
ผลการทดลองพบ พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความเครียดลดลง ภาวะหมดไฟลดลง มีความสมดุลด้านสุขภาพ ชีวิตและการทำงานดีขึ้น
ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่เปิดรับและทดลองใช้แนวคิดลดชั่วโมงการทำงานมาตั้งแต่ปี 2020 โดยเฉพาะในระหว่างปี 2020 - 2022 พบว่าพนักงานบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศมากถึง 51% ยอมรับข้อเสนอการลดชั่วโมงทำงาน โดยสถาบันวิจัย 2 แห่งพบว่าตัวเลขเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่านั้นในปัจจุบัน
ตามรายงานของ “สถาบันอิสระแห่งสหราชอาณาจักรและสมาคมเพื่อความยั่งยืนและประชาธิปไตยของไอซ์แลนด์ (Alda)” พบว่า ในปี 2023 ไอซ์แลนด์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ในยุโรป และอัตราการว่างงานก็มีอัตราที่ต่ำที่สุดในยุโรปอีกด้วย บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ในประเทศยังรักษาผลิตผลได้สูงและมีผลกำไร แม้พนักงานจะลดชั่วโมงการทำงานลงก็ตาม
กุดมุนเดอร์ ดี. ฮารัลด์สัน (Gudmundur D. Haraldsson) นักวิจัยของ Alda กล่าวในแถลงการณ์ว่า การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นเรื่องราวความสำเร็จที่แท้จริง นั่นคือ ชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงได้กลายเป็นรูปแบบการทำงานที่แพร่หลายไปทั่วไอซ์แลนด์ และในหลายๆ ตัวชี้วัดก็แสดงผลชัดเจนว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแข็งแกร่งขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ไอซ์แลนด์เคยทดลองลดชั่วโมงทำงานในบริษัทต่างๆ ขนาดใหญ่สองครั้ง ระหว่างปี 2015 - 2019 ก่อนที่จะนำมาใช้จริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่เข้าร่วมทดลองเป็นพนักงานภาครัฐในไอซ์แลนด์ที่เคยทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มาก่อน แล้วเข้าร่วมทดลองทำงาน 35-36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ถูกหักเงินเดือน
การทดลองดังกล่าวมีผู้เข้าร่วม 2,500 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาผลผลิตหรือเพิ่มผลผลิต ไปพร้อมกับปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ผลการทดลองนักวิจัยพบว่า แม้จะลดชั่วโมงการทำงานลงแต่ผลิตผลยังคงเติบโตเท่าเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิมในสถานที่ทำงานส่วนใหญ่ ขณะที่ “พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก” ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ความเครียดลดลง และภาวะหมดไฟลดลง ไปจนถึงพนักงานมีความสมดุลด้านสุขภาพ ชีวิตและการทำงานดีขึ้น
การลดชั่วโมงทำงาน อาจเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้น
Spoil
หลังจากทดลองแล้วได้ผลดีเกินคาด สหภาพแรงงานไอซ์แลนด์จึงได้เจรจาเรื่องการลดชั่วโมงการทำงาน ร่วมกับสมาชิกในสหภาพฯ นับหมื่นคนทั่วประเทศ นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบชั่วโมงการทำงานที่ลดลงอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ
การลดชั่วโมงทำงาน นำมาซึ่ง ‘ความมีชีวิตชีวา’ ทางเศรษฐกิจ ตามรายงาน World Economic Outlook ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2567 ระบุว่าในปี 2023 เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ขยายตัว 5% (เติบโตกว่าเดิม 2% เมื่อเทียบกับเมื่อสิบกว่าปีก่อน) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าหลายๆ ประเทศในยุโรป จนติดอันดับต้นๆ ของประเทศเศรษฐกิจร่ำรวย โดยเป็นรองเพียงมอลตาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตในประเทศไอซ์แลนด์จะช้าลงอย่างมากในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนตัวลง และการเติบโตของการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง ขณะที่อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เป็นข้อมูลการประเมินเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
สถาบัน Autonomy และ Alda ต่างก็เห็นตรงกันว่า อัตราการว่างงานที่ต่ำของไอซ์แลนด์ในปัจจุบัน ถือเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ มีการทดลองโครงการ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” มาแล้วหลายครั้งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการทดลองในปี 2022 กับบริษัท 33 แห่งทั่วโลก ซึ่งพบว่ามีหลายประเทศทดลองแล้วประสบความสำเร็จอย่างดี นอกจากไอซ์แลนด์แล้ว ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและไอร์แลนด์ก็ได้ผลดีเช่นกัน