การนั่งในรถช่วยฮีลใจ ก่อนออกไปต่อสู้กับโลกจริง
เมื่อการนั่งในรถคือการฮีลใจ ทำไมบางคนใช้เวลาในรถเพื่อ ‘สงบจิตใจ’ ก่อนออกไปต่อสู้กับโลกจริง
หลังจากอยู่ท่ามกลางความจอแจบนท้องถนน รถก็เลี้ยวจอดเข้าที่พัก คนขับเปิดกระจก ดับเครื่องยนต์ และนั่งปล่อยใจให้อยู่ตรงนั้น
“ฉันรู้สึกปลอดภัย ราวกับได้บ่มตัวเองไว้ในรถ” ผู้ใช้งาน TikTok ชื่อว่า @fitteacherrachel หรือ เรเชล บอลด์วิน กล่าวขึ้นในคลิปที่เธอมาแชร์ประสบการณ์นั่งอยู่ในรถคือสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘การดูแลตัวเอง’ หรือ Self-care
แน่นอนว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยมีประสบการณ์เดียวกันกับเธอ พวกเขาจึงมาร่วมแชร์ความรู้สึกและเหตุผลว่าทำไมการนั่งในรถกลายเป็นการบำบัดจิตใจ จนเกิดเทรนด์ใน TikTok ที่เรียกว่า
‘การใช้เวลาในรถคือการดูแลตัวเอง’
รีเบกก้า มิตเชล นักเขียนจากนิตยสาร ELLE ออสเตรเลีย กล่าวว่า เธอเริ่มใช้รถเป็นห้องนั่งเล่นในช่วงล็อกดาวน์ เพราะเธออาศัยอยู่กับรูมเมตในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ มิตเชลต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวในการนั่งเล่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ จิบกาแฟ ดูหนังคนเดียวบ้าง เธอจึงขับรถออกไปในพื้นที่สาธารณะที่ห่างไกลผู้คน แล้วเปลี่ยนรถให้เป็นพื้นที่สบายใจ การหลีกหนีจากภาวะที่ต้องอาศัยในห้องสี่เหลี่ยมกับรูมเมตตลอดเวลา ช่วยให้เธอมีความสงบและมีสติได้
เพราะพื้นที่ในรถมีคุณสมบัติบางอย่างที่มนุษย์ต้องการในยุคสมัยแห่งความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นความเงียบสงบ พื้นที่ความเป็นส่วนตัว และความรู้สึกปลอดภัย แม้รถจะมีพื้นที่เล็ก แต่เป็นพื้นที่ที่เราควบคุมได้ ทำให้เรารู้สึกถึงการคลายความกดดันโดยที่ไม่มีอะไรมารบกวน
ในระดับจิตวิทยา การได้ผ่อนคลายในรถอาจเกี่ยวข้องกับแนวคิดของ
‘ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน’ หรือ
‘ช่วงพักสั้นๆ’ ก่อนที่เราจะไปสู่โลกความเป็นจริง
เจสสิก้า ฮันท์ นักจิตบำบัดกล่าวว่า
“ช่วงเวลาในรถช่วยให้เราเปลี่ยนจากพาร์ตหนึ่งไปสู่อีกพาร์ตหนึ่งของวัน เป็นช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย เตรียมประมวลผลวันใหม่ และเตรียมใจสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทำให้เราสามารถรีเซ็ตและชาร์จพลังทางจิตใจได้”
นอกจากนี้ สมาคมจิตวิทยาออสเตรเลีย ระบุว่า การนั่งอยู่บนรถ คือ การอยู่คนเดียวและเป็นการใช้เวลาพักช่วงสั้นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ใช้เวลานาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูแลตัวเอง และช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟและสร้างความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต
ในขณะที่คนอื่นๆ อาจจะมีกิจกรรมผ่อนคลายด้วยการเดิน วิ่ง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำงานศิลปะ ช่วงเวลาของการอยู่อย่างสันโดษในรถก็สามารถให้ผลลัพธ์ทางความรู้สึกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่อาจจะมีรถเป็น ‘มรดกตกทอด’ จากบ้าน แต่วิกฤตค่าครองชีพสูงทำให้ไม่สามารถออกจากการอยู่กับพ่อแม่เพื่อหาพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองได้ หรือคนที่มีลูกและไม่ค่อยมีเวลาเป็นของตัวเอง การนั่งอยู่ในรถจึงเป็นพื้นที่ในการปลดออกจากภาระหน้าที่ในบ้าน แม้เพียงชั่วคราว แต่ก็มีคุณค่าในจิตใจ
#########################################################################
ที่มา: elle.com,
abc4.com,
https://plus.thairath.co.th
#########################################################################
ฟีลคล้ายๆการทำใจลุกจากที่นอนในตอนเช้านะครับ ขอเพิ่มอีกบทความ
Dysania โรคเตียงดูด ที่ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ
โรคเตียงดูด (Dysania) คือ สภาวะที่ลุกออกจากบนเตียงตอนตื่นนอนได้อย่างยากลำบาก ทั้งที่บางครั้งไม่ได้ง่วงนอนหรือเกิดจากความขี้เกียจเลยด้วยซ้ำ ผู้ป่วยจะมีความทุกข์เป็นอย่างมาก ไม่มีความคิดที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่น เมื่อสามารถลุกขึ้นมาได้แล้ว ก็กลับไปยังบนเตียงอีกครั้ง จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันอีกด้วย
สาเหตุ Dysania โรคเตียงดูด
โรคซึมเศร้า
ความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมไม่สดใส ร่าเริง
อ่อนเพลียเรื้อรัง
ความเจ็บป่วยในระบบต่าง ๆ ของร่างกายเป็นระยะเวลานาน เช่น ปัญหาด้านการนอนหลับ ปวดศีรษะและข้อกระดูก
ภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น (Sleep Inertia)
ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น กระทบต่อประสิทธิภาพความคิด การเรียนรู้
ง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia)
หลับนานเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังพักผ่อนไม่เพียงพอ
โรคไฟโบมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
ปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ตามร่างกาย จึงมีอาการอ่อนเพลียหลังตื่นนอน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
เช่น ยาต้านเศร้า ทำให้ง่วงนอน
อาการของ Dysania โรคเตียงดูด
หลังกลับมาจากทำงานหรือเรียนก็ล้มตัวลงนอนบนเตียงทันที
คิดว่าการนอนบนเตียงเป็นความสุขที่สุดในชีวิต
คิดถึงเวลานอนตลอดเวลา
ทำกิจกรรม เช่น รับประทานอาหาร เสพโซเชียล ทำงาน บนที่นอน
ถูกบุคคลใกล้ชิดกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเกียจคร้าน
หงุดหงิดหากมีใครมายุ่งกับที่นอน
กดเลื่อนนาฬิกาปลุก เพื่อขยายเวลานอน
ผลกระทบของ Dysania โรคเตียงดูด
เมื่อใช้ชีวิตอยู่บนเตียงเฉย ๆ ร่างกายก็ไม่ได้ขยับเคลื่อนไหว จะส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง หรือประสบกับภาวะต่อมหมวกไตล้า เพราะเครียด จากการออกกำลังกายหรือทำงานหนักจนเกินไป ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะลดลง จนร่างกายอ่อนเพลียเรื้อรังได้ ซึ่งก่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน โรคหัวใจ และเลือดสมอง
ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายจะมีอารมณ์แปรปรวน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ เช่น ไบโพลาร์ ซึมเศร้า
การรักษา Dysania โรคเตียงดูด
ใช้ยา
ยาที่มีฤทธิ์ต่อเซโรโทนิน เป็นปรับฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการนอนหลับและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วย
ปรับพฤติกรรม
ตื่นนอนให้เป็นเวลา
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
งดการเล่นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ก่อนนอน
ผ่อนคลายโดยการอาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ รับประทานอาหารรสหวานอย่างพอดี
ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เช่น โยคะ
ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น รับประทานอาหารบนเตียง
หากว่ามีอาการหรือได้รับผลกระทบอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะหากเกิดมาจากความผิดปกติของจิตใจ จะสามารถรักษาได้อย่างถูกวิธี อีกทั้งควรสังเกตพฤติกรรมของบุคคลรอบข้าง ยิ่งถ้าปล่อยเอาไว้คิดว่าไม่เป็นอะไร อาจเกิดเหตุการณ์เศร้าสลด เช่น ทำร้ายตนเอง หรือการทำอัตวินิบาตกรรม
#########################################################################
ที่มา: https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Dysania
#########################################################################