แชร์สิ่งสำคัญที่สุดตอนโดนจ้างออกหรือ layoff
เห็นมู้ล่างๆมีคนโดน layoff และอีกหลายคนเสี่ยงจะโดนเยอะมากเลยอยากมาแชร์ความรู้ที่ได้มาจากเพื่อนที่เคยโดน layoff เช่นกันและมันโชคดีมีเพื่อนเป็นทนาย
เลยรักษาสิทธิตัวเองได้เต็มที่
มันคือการต่อรอง "ค่าชดเชยเลิกจ้าง" ที่ผมคิดว่าคนไทยหลายคนโดนนายจ้างบริษัทสวมเขากันเยอะมากจากความไม่รู้และความกลัว ทำให้เสียสิทธิในการได้ค่าชดเชยที่ควรจะได้จริงๆ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฏหมายคุ้มครองพนักงานดีมาก (กฏหมายค่อนข้างเป็นประโยชน์ต่อพนักงาน)
ทีนี้มาดูกันว่าควรทำอย่างไร ณ วันที่โดนเลิกจ้าง และ เราเรียกร้องเงินค่าชดเชยอะไรได้บ้างตามกฏหมาย
วันแรกหลังจากได้รับแจ้งว่าโดนLayoff
ตั้งสติ
ห้ามเซนเอกสารอะไรที่บริษัทหรือนายจ้างส่งมาให้ทั้งนั้น นายจ้างหลายที่เอาเปรียบจากความกลัวและความไม่รู้ของลูกจ้าง ส่งเอกสารยินยอมรับค่าชดเชยมาให้เซนทันที ซึ่งค่าชดเชยที่อยู่ในเอกสารมันมักจะน้อยกว่าความเป็นจริงที่ควรได้มาก ห้ามเซนเด็ดขาดดดดดดด บริษัทไม่มีสิทธิบังคับให้เซน และ ไม่มีสิทธิบังคับให้ออก ณ วันนั้นเลย เพราะตามกฏหมายแล้วบอกเลิกจ้างต้องบอกก่อนวันพ้นสถานะจริงๆ 30 วันหรือ 1 รอบเงินเดือน ไม่ต้องเซนเอกสารและกลับมานั่งคิดที่บ้านก่อนว่าจะเรียกร้องและต่อรองเงินชดเชยข้อใดได้บ้างตามกฏหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเราให้มากที่สุด
เงินส่วนที่เราต้องได้จริงๆหรือต่อรองได้
1.เงินชดเชยการจ้างออก (หรือ "ค่าชดเชยเลิกจ้าง") (ต้องได้ตามกฏหมาย)
ในประเทศไทยมีกฎหมายแรงงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนภายใต้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยระบุการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยนายจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และกำหนดอัตราการชดเชยตามอายุการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งมีข้อหลัก ๆ ดังนี้:
อายุการทำงาน 120 วันแต่ไม่ถึง 1 ปี: ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของ 30 วัน หรือ 1 เดือน
อายุการทำงาน 1 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปี: ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของ 90 วัน หรือ 3 เดือน
อายุการทำงาน 3 ปีแต่ไม่ถึง 6 ปี: ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของ 180 วัน หรือ 6 เดือน
อายุการทำงาน 6 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี: ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของ 240 วัน หรือ 8 เดือน
อายุการทำงาน 10 ปีขึ้นไป: ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของ 300 วัน หรือ 10 เดือน
2.ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ต้องได้ตามกฏหมาย)
ตามกฎหมายแรงงาน นายจ้างต้องแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง หรือประมาณ 30 วันก่อนวันที่เลิกจ้างจริง
หากนายจ้างไม่แจ้งล่วงหน้า หรือเลิกจ้างทันทีโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานจนถึงสิ้นงวดการจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากับเงินเดือนของลูกจ้างเป็นเวลา 30 วัน หรือเท่ากับจำนวนวันที่ควรบอกกล่าวล่วงหน้าแทนการแจ้งล่วงหน้า
3.ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือ ค่าตกใจ (ต่อรองได้ตามกฏหมาย)
ตามชื่อเลยครับ ซึ่งการเลิกจ้างส่วนใหญ่(layoff) มันไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว เราไม่ได้ทำผิดกฏ ไม่ได้ทำอะไรให้เสียหาย performance ไม่ได้ต่ำ ทำงานไม่ได้ห่วย เพราะฉะนั้นเลิกจ้างไม่เป็นธรรมทั้งนั้น
การคำนวณค่าตกใจ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น:
- อายุการทำงาน ของลูกจ้าง
- ตำแหน่งและบทบาท ของลูกจ้าง
- สถานการณ์และลักษณะการเลิกจ้าง ว่ามีความรุนแรงหรือเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อจิตใจหรือชื่อเสียงของลูกจ้าง
- ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จากการเลิกจ้าง เช่น ความยากลำบากในการหางานใหม่ หรือผลกระทบต่อรายได้และครอบครัว
4.วันหยุดที่เหลือและเงินพิเศษที่บริษัทต้องจ่ายเราอยู่แล้วทุกเดือนหรือทุกปี
เช่น พวก OT ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพ ค่าคอม วันหยุดที่เหลือ
5.อยากให้ออกวันนี้ก็จ่ายเพิ่มมา
ข้อนี้คือไม่มีในกฏหมายตรงๆ แต่มันเป็นผลพวงมาจากกฏหมาย แจ้งเลิกจ้างก่อน 30 วัน มันเลยทำให้บริษัทไม่สามารถไล่เราออกได้ทันที ถ้าบริษัทไหนอยากให้เราออกวันนี้พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วต้องคืนของคืนทุกอย่างหมด เราก็สามารถ bluff กลับไปได้เลยว่า "อยากให้ออกวันนี้เลยก็จ่ายเพิ่มมา X เดือนครับน้อนๆ" ไม่งั้นก็รอ 30 วันไปตูถึงออก แล้วก็ถ้าออกทันทีอย่างลืม + เงินข้อ 1 ไปด้วยนะคนละส่วนกัน
6.ไม่อยากเจอกันที่ศาลก็จ่ายเพิ่มมา
ข้อนี้อาจจะใช้ได้กับนายจ้างที่มีตังหน่อยหรือบริษัทต่างชาติ คือเรา bluff กลับไปว่าเราควรได้เงินข้อ 1-6 เพิ่มอีก 10% 20% 30% จะไปฟ้องศาล บางบริษัทไม่อยากเสียเวลาไปยุ่งอะไรกับคดีความฟ้องร้องก็จำใจจ่ายๆไปอาจจต่อรองลงมาเหลือครึ่งนึง จบๆไป ซึ่งกรณีนี้เรามีแต่เจ๊ากับเจี๊ย เพราะถึงฟ้องแพ้ก็ไม่เสียอะไร(อาจจะแค่ค่าทนาย) ถ้าฟ้องชนะก็ได้เงินเพิ่ม
นี้ก็เป็นความรู้ทั้งหมดที่ผมมีนะครับ อยากมาแชร์ให้เพื่อนสมาชิกจะได้ไม่โดนนายจ้างเอาเปรียบกัน แล้วก็จำไว้ว่าที่เรเรียกร้องไปคือสิทธิที่เรามีอยู่แล้ว เราไม่ได้เป็นครอบครัวเดียวกับบริษัท บริษัทไม่ใช่ครอบครัวเราเช่นกัน อย่าใจอ่อน