ไอติม พริษฐ์ : การทำงานกับ Introvert - Extrovert
เคยเห็นแกโพสต์ไว้ เป็นประโยชน์ดีครับ จริงๆคือไม่ใช่แค่ Introvert-Extrovert
แต่เป็นทั้งหมดของ MBTI เลย (ตั้งมู้ชื่อนี้เพราะน่าจะเป็นคำที่คนคุ้นหูมากที่สุด)
[ MBTI: สร้างทีมเวิร์กด้วยอักษร 4 ตัว ]
.
ช่วงนี้เห็นคนพูดถึงเรื่องตัวชี้วัดรูปแบบบุคลิกภาพ MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) กันพอสมควรในโลกออนไลน์ เลยอยากแลกเปลี่ยนประเด็นเรื่องการนำเครื่องมือ MBTI มาใช้เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม
(ถ้าใครขี้เกียจอ่านยาวๆ หรือ อยากฟังเนื้อหาฉบับเต็ม เข้าไปฟังได้ในตอนหนึ่งของ podcast Pro & Consult ที่พูดถึงเรื่อง MBTI โดยเฉพาะ ตาม link ข้างล่าง)
.
ผมรู้จักเครื่องมือ MBTI ครั้งแรกตอนสมัยทำงานที่บริษัท McKinsey เนื่องจากงานที่ McKinsey เป็นงานที่ต้องเปลี่ยนเพื่อนร่วมงานทุก 2-3 เดือนตามโปรเจคที่เปลี่ยนไปในแต่ละประเทศ การหาวิธีเข้าใจหรือรู้จัก ตัวตน ความชอบ และความถนัดของเพื่อนร่วมทีมแต่ละคนโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
.
สำหรับใครที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับ MBTI ผมขอแนะนำว่า MBTI เป็นการวัดบุคลิกภาพของคนทั้งหมด 4 มิติ โดยในแต่ละมิติ จะมีการประเมินว่าแต่ละคนนั้นมีบุคลิกภาพที่ใกล้เคียงกับขั้วหรือตัวอักษรไหนจาก 2 ขั้ว ดังต่อไปนี้
.
1. E (Extrovert) หรือ I (Introvert)
อักษร 2 ตัวนี้จะบ่งชี้ว่าคุณเป็นคนที่ได้รับแรงหรือพลังงานจากการทำอะไร
.
เช่น ถ้าผมถามว่าคุณชอบทำอะไรเวลาเหนื่อย คนประเภท E จะยกโทรศัพท์ขึ้นมา กดเบอร์โทรหาเพื่อนหลายๆ คนเพื่อชวนไปกินข้าวข้างนอก และอาจจะนั่งดื่มกันต่อจนกว่าร้านจะปิด ในขณะที่คนประเภท I อาจจะยกโทรศัพท์ขึ้นมาเหมือนกัน แต่ยกขึ้นมาเพื่อกดปิดอินเทอร์เน็ต ตัดการรับรู้จากโซเชียลมีเดียเพื่อใช้เวลานอนพักหรือดูหนังสักเรื่องที่เขาชอบอยู่ในห้อง
.
ตรงนี้ส่งผลต่อวิธีการทำงานพอสมควร เพราะคนที่เป็น E มักจะเป็นคนที่ชอบสื่อสารหรือชอบคิดผ่านการพูดความคิดนั้นออกมา จึงทำให้มักจะชอบการประชุมพร้อมกันหลายๆคนเพื่อระดมไอเดีย (brainstorm) ในขณะที่คนที่เป็น I อาจจะคิดแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ถ้าเราให้โจทย์เขากลับไปทบทวนและคิดตอนอยู่คนเดียว ก่อนจะนำกลับมานำเสนอกับคนอื่น - ถ้าเราบังคับคนที่เป็น I ให้มาคิดไอเดียในกลุ่มใหญ่ เราอาจจะไม่ได้ไอเดียที่ดีที่สุดจากเขา แต่ถ้าเราบังคับคนที่เป็น E ให้ไปคิดคนเดียว เขาอาจจะคิดอะไรไม่ค่อยออกเพราะต้องการเอาไอเดียของเขามาแลกเปลี่ยนหรือมา bounce กับคนอื่นๆในทีม
.
2. S (Sensing) หรือ N (iNtuition)
อักษร 2 ตัวนี้จะบ่งชี้ว่าคุณชอบรับรู้ข้อมูลประเภทไหน ระหว่างข้อมูลที่มีความละเอียดหรือเป็นข้อเท็จจริง (facts) กับ ข้อมูลในภาพใหญ่หรือความคิดเห็น (opinions)
.
เช่น เวลาให้ดูภาพๆหนึ่งที่มีลูกแอปเปิ้ลสีแดงหนึ่งลูก ล้อมรอบโดยแอปเปิ้ลเขียวหลายลูก คนที่เป็น S มักจะชอบดูที่รายละเอียดของภาพ อาจจะนับจำนวนแอปเปิ้ลหรือสังเกตเห็นหยดน้ำในแอปเปิ้ลแต่ละลูก ในขณะที่คนที่เป็น N มักจะชอบดูเรื่องความหมายที่ภาพพยายามจะสื่อ (เช่น ความโดดเดี่ยว ความแตกต่าง) ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์ หรือ อารมณ์ที่ได้จากการดูภาพๆนั้น
.
พอโยงเข้ากับการทำงาน คนที่เป็น S เลยอาจจะชอบงานที่เน้นการใช้ข้อมูลและต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ ในขณะที่คนที่เป็น N อาจชอบงานที่เป็นการแสดงความเห็นหรือวางทิศทางในภาพรวมมากกว่า เช่นเดียวกัน เวลามอบหมายงาน คนที่เป็น S อาจต้องการ instructions หรือ คำชี้แนะที่เป็นขั้นตอนละเอียดเพื่อความชัดเจนในวิธีการ ในขณะที่คนที่เป็น N อาจสบายใจกว่าถ้าได้รับโจทย์ที่วางเป้าหมายและทิศทางไว้กว้างๆ แต่ให้ค้นหาวิธีการด้วยตัวเอง
.
3. T (Thinking) หรือ F (Feeling)
อักษร 2 ตัวนี้จะบ่งชี้ว่าคุณตัดสินใจด้วยปัจจัยอะไรเป็นหลัก ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวกับเหตุผล กับปัจจัยเกี่ยวกับความรู้สึกผู้อื่น
.
เช่น ถ้าเพื่อนของคุณกำลังเสียใจเพราะจับได้ว่าแฟนของเขามีคนอื่น คุณจะพูดกับเขาอย่างไร? ถ้าเป็นคนประเภท T คุณอาจจะสอบถามเพื่อนเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก่อนหน้านี้แฟนเคยนอกใจมาบ้างหรือเปล่า เพื่อประมวลข้อมูลทั้งหมดนั้นออกมาเป็นคำแนะนำให้เพื่อนนำไปใช้แก้ปัญหา แต่ถ้าเป็นคนประเภท F คุณจะไม่ถามเพื่อนว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่คุณต้องการไม่ใช่ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์หรือแก้ปัญหาทันที แต่ต้องการดูแลสภาพจิตใจของเพื่อนเป็นหลักก่อน ดังนั้น คุณจะคิดว่าทำอย่างไรเพื่อนถึงรู้สึกดีขึ้น อาจเป็นการชวนไปกินบุฟเฟ่ต์ร้านโปรด หรือโทรหาใครสักคนที่คุณคิดว่าจะทำให้เพื่อนอารมณ์ดีขึ้นได้
.
ในการตัดสินใจต่างๆ ในการทำงาน การมีคนที่เป็นทั้ง T และ F จึงสำคัญมากๆ ถ้าเราขาดการมองโลกแบบ T ไว้บ้าง เรามีความเสี่ยงที่จะทำให้ความรู้สึกหรือความหวังดีของเรามาชี้นำการตัดสินใจที่จำเป็นของเราในบางเรื่อง ในขณะที่ถ้าเราขาดการมองโลกแบบ F เราอาจจะตัดสินบางอย่างที่ถูกต้องและจำเป็นในทางทฤษฎี แต่เราลืมคิดถึงผลกระทบต่อความรู้สึกคนอื่น หรือทำไม่ดีพอในการให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
.
4. J (Judging) หรือ P (Perceiving)
อักษร 2 ตัวนี้จะบ่งชี้ว่าคุณจัดระเบียบหรือจัดการกับโลกภายนอกอย่างไร?
.
เช่น เวลาไปสวนสนุก คุณมักทำอะไรเป็นอย่างแรก ถ้าเป็นคนประเภท J คุณอาจมุ่งตรงไปหาแผนที่ว่าสวนสนุกนี้มีเครื่องเล่นอะไรบ้างและดูเวลาเปิด-ปิดของแต่ละส่วน เพื่อวางแผนตารางของคุณให้ดีว่าคุณจะไปเล่นเครื่องเล่นไหนก่อนเพื่อประหยัดเวลาและทำให้คุณได้เล่นทุกเครื่องเล่นที่คุณตั้งเป้าไว้ แต่ถ้าเป็นคนประเภท P คุณอาจจะเลือกเดินสำรวจไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นเครื่องเล่นชิ้นไหนน่าสนใจ ก็เข้าไปลองเล่น การไม่ได้เล่นทุกอย่างหรือใช้เวลาทุกวินาทีอย่างเป็นระบบ ไม่สำคัญเท่าความสนุกหรือประสบการณ์ตรงหน้าที่คุณได้เข้าไปสัมผัส
.
ในบริบทของการทำงาน คนที่เป็น J จึงมักเป็นคนที่ชอบการจัดตาราง ก่อนจะเข้านอนทุกคืน ก็อยากจะรู้และวางแผนว่าวันรุ่งขึ้นกี่โมงจะทำอะไรบ้าง คนที่เป็น J หลายคนจึงอาจรู้สึกหงุดหงิดถ้าเกิดว่ามีใครมาเลื่อนนัด ยกเลิกแผน หรือ มาสายจนทำให้ตารางคลาดเคลื่อนจากที่วางไว้ ในขณะที่คนที่เป็น P มักไม่ชอบการจัดวางตารางที่ละเอียดจนเกินไป แต่ชอบความยืดหยุ่นในการตัดสินใจหน้างานตามสถานการณ์ ณ เวลานั้น ว่าเวลานี้จะใช้เวลาไปกับการทำอะไร
.
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ถ้าใครอยากรู้ว่าตัวเองเป็นตัวอักษรหรืออยู่ขั้วไหนในแต่ละมิติ สามารถหาแบบสอบถามของ MBTI มาทำได้ (โดยเขาจะถามคุณว่าชอบ/ไม่ชอบทำอะไรในสถานการณ์ต่างๆ) แต่ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้ หรือลองเข้าไปฟังใน Podcast ผมคิดว่าทุกคนน่าจะพอเดาได้คร่าวๆว่าตัวเองมีบุคลิกแบบไหน
.
พอทำแบบสอบถามเสร็จ แต่ละคนก็จะได้ผลสรุปออกมาเป็น 4 ตัวอักษร ที่บ่งบอกประเภทของบุคลิกภาพของคุณ เช่น ESFP, INTJ, INFP (จากทั้งหมด 2 x 2 x 2 x 2 = 16 รูปแบบที่เป็นไปได้)
.
ผมทำแบบทดสอบนี้ครั้งแรกตอนทำงานอยู่ที่ McKinsey โดยทุกคนที่บริษัทจะถูกบังคับให้ทำแบบทดสอบนี้ และทุกครั้งที่มีการเริ่ม project ใหม่กับทีมใหม่ ทุกคนจะต้องแชร์ตัวอักษรของตัวเองให้คนอื่นในทีมในวันแรกที่เจอกัน เพื่อปรับการทำงานเข้าหากันและกัน
.
ส่วนตัว ผมมองว่า MBTI เป็นเครื่องมือที่ดีมากในการทำให้เราเข้าใจความถนัด ความชอบ หรือ สไตล์การทำงานของคนอื่นในทีมเพื่อปรับตัวเข้าหากัน และเพื่อผลักดันให้ทุกคนในทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบฉบับของตัวเอง (เช่น สมมุติถ้ามีน้องที่เป็น ISTJ ผมจะพยายามให้โจทย์เขากลับไปคิดด้วยตัวเอง อธิบายขั้นตอนการทำงานให้ละเอียด พูดตรงๆโดยอาจไม่ต้องคิดมากได้ และอย่าเลื่อนนัดเขาบ่อย / แต่ถ้าผมมีน้องในทีมที่เป็น ENFP ผมอาจจะชวนเขามาระดมไอเดียด้วยกันบ่อยขึ้น ไม่พยายามชี้นำเรื่องวิธีการในการแก้ปัญหามากจนเกินไป และอาจมอบหมายงานที่เกี่ยวกับการเข้าใจความรู้สึกคนอื่นในบริษัท หรืองานที่มีความไม่แน่นอนเรื่องตารางเป็นพิเศษ)
.
ตั้งแต่ออกจาก McKinsey มา ผมก็พยายามใช้เครื่องมือนี้กับทุกทีมที่ผมทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นทีมตอนหาเสียงเลือกตั้ง หรือ ทุกคนที่ StartDee ก็จะทำแบบสอบถามนี้ในวันเริ่มงาน นอกจากในบริบทงานแล้ว การที่เรารู้ว่ากลุ่มเพื่อนเรา แฟนเรา หรือ ครอบครัวเรา มีตัวอักษรแบบไหน ก็อาจจะช่วยให้เราทำอะไรร่วมกันด้วยความเข้าใจได้อย่างราบรื่นขึ้น
.
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อย่างไรก็ตาม ผมมีมุมมองว่า MBTI ควรเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยทำให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น แต่ไม่ควรนำมาใช้เพื่อคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน เพราะท้ายสุดแล้ว MBTI เป็นเครื่องมือวัด ความถนัด/ชอบ (preferences) ไม่ใช่เครื่องมือวัดความสามารถ (ability) - การที่คนเรามีตัวอักษรแบบหนึ่ง อาจทำให้เรารู้สึกชอบหรือถนัดรูปแบบการทำงานประเภทหนึ่งมากกว่าอีกประเภท แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำงานอีกประเภทไม่ได้ดี
.
ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเราจึงควรมองตัวอักษร MBTI เป็นเหมือนเครื่องมือในการวัดว่าแต่ละคน ถนัดมือซ้ายหรือมือขวา เพื่อช่วยออกแบบการทำงานที่จะดึงศักยภาพของเขาออกมาได้เต็มที่ มากกว่า การนำ MBTI มาตัดสินว่าคนนี้จะทำอะไรได้หรือไม่ได้ จากการแค่รู้ว่าเขาถนัดมือซ้ายหรือถนัดมือขวา
.
สาระสำคัญข้อหนึ่งที่ MBTI มอบให้กับผู้ทำแบบทดสอบทุกคน คือทำให้รู้ว่าเราแตกต่างกัน และความแตกต่างนั้นไม่ใช่แค่ไม่เป็นอุปสรรค แต่ยังสามารถมารวมกันเป็นจุดแข็งให้ทีมในการทำงานได้ด้วย หากเราได้ใช้มันอย่างเหมาะสม และถูกที่ถูกทาง
https://www.facebook.com/paritw/posts/5519788428034859/