Atto3
ขอเกริ่นก่อนนะครับ ทำไมถึงตัดสินใจจัดเจ้า ATTO3 เข้าบ้าน เริ่มจากเดิมผมใช้ Subaru Forester 2019 และ Subaru XV 2015 อยู่ครับ ซึ่งทั้งสองคันนี้ก็ทำหน้าของมันได้ดีมาก ไม่จุกจิกอะไรเลย ขับขี่ดีมากปลอดภัย ส่วนตัวผมค่อนข้างซีเรียสช่วงล่างมาก เพราะเคยซื้อมาแล้วไม่จบเปลี่ยนยังไงก็ไม่จบ ขายทิ้งซื้อคันใหม่ดีกว่า เอาให้จบจากโรงงาน แต่…การใช้งานของผมตอนนี้
1. ผมอยู่ชานเมือง แต่ต้องเข้าเมืองไปพบลูกค้า ผ่ารถติดเข้าตอนสายๆ
2. รับ-ส่งลูกทุกวัน จอดนิ่งๆเผาน้ำมันหน้าและในโรงเรียนวันล่ะ 2 ชม
3. เสาร์และอาทิตย์ พยายามพาลูกออกไป ตจว ไม่ไกล 200 กม เช้า-เย็นกลับ
สืบเนื่องจากการใช้รถของผมเป็นแบบนี้ ทำให้เจ้าดาวลูกไก่ทั้งสองคันมีค่าน้ำมันต่อเดือนอยู่ราวๆ 10,000-12,000 บาท อย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงเริ่มคำนวนแล้วว่าเปลี่ยนรถไฟฟ้าคุ้มมั้ย บวกกับเจ้า XV นั้นเริ่มทยอยซ่อมตามอายุ แต่ก็ซ่อมแล้วจบไม่จุกจิกอะไร
สุดท้ายเลยคำนวนได้ว่าปล่อย XV ไปแล้ว หารถไฟฟ้ามาแทนซักคัน ราคาไม่เกิน 1.3 ล้าน คือประหยัดขึ้นนิดหน่อย (ย้ำว่านิดหน่อยนะครับ เพราะต้องเพิ่มเงินอีกเยอะพอสมควร แต่แลกมาว่าเปลี่ยนตอนนี้ได้รถใหม่ใช้ไป 8 ปี กับใช้รถเก่าไปเรื่อยๆ 8 ปี ถ้างั้นเปลี่ยนรถใหม่ล่ะกัน บวกกับพวกออปชั่น ถุงลม และอีกหลายๆอย่างด้วยครับ)
ตอนแรกนั้นไม่มีรถที่ถูกใจ และอยู่ในงบเลย จนเจ้า Atto3 เปิดตัว เลยดูสเปก สิ่งที่ได้มาจากการที่เพิ่มเงินเปลี่ยนไปนั้นเยอะมากขึ้นจากเจ้า XV ผมเสียแค่ระบบขับสี่ไปเท่านั้น
หลังจากจองแล้วก็หาข้อมูลการเตรียมความพร้อมที่บ้านโดยเรียงตามนี้ครับ
1. ถ้าบ้านอยู่กทม.และปริมณฑล สังกัดการไฟฟ้านครหลวง คุณติดมิตเตอร์ได้แค่ 1 ตัวเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าใช้ไฟกลางวันเยอะ อย่าไปเปลี่ยนมิตเตอร์ TOU นะครับ เพราะค่าเปลี่ยนแพงมาก และสุดท้ายเฉลี่ยออกมาค่าไฟเท่าเดิม แต่ถ้าบ้านอยู่สังกัดการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แนะนำติดแยก 2 มิตเตอร์เลยครับ หรือถ้ามั่นใจกลางวันไม่อยู่บ้านบ่อยก็เปลี่ยน TOU ตัวเดียวไปได้ครับ ตรงนี้มิตเตอร์ถ้าเดิมเป็น 15/45 ต้องไปแจ้งเปลี่ยนก่อนนะครับเป็น 30/100 และต้องย้ำเจ้าหน้าที่ว่าเปลี่ยนเพื่อชาร์จรถ EV ค่าใช้จ่าย 700 บาท แล้วเค้าจะติดต่อไปเพื่อไปตรวจระบบครับ
2. จากนั้นให้รีบหาช่างเดินระบบ (ตอนนี้รับกันเพียบ) แต่เดิมนั้นต้องเปลี่ยนสายเมนเข้าบ้านให้เส้นใหญ่ และต้องเพิ่มกล่องเมนในบ้านให้รองรับ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก ประมาณ 2-3หมื่นแล้วแต่ระยะทางสายเมน แต่ตอนนี้สามารถเดินวงจรที่ 2 ขนานมาแล้วลงมาที่จอดรถได้เลย รวมอุปกรณ์ทุกอย่างหมดแล้วประมาณ 12,000-14,000 บาท แนะนำให้เพิ่มปลั๊กไฟบ้านตรงจุดนี้ไว้ด้วยสายไฟ 4A นะครับ เพราะเผื่อซวย Wallbox ลาโลก จะได้มีไว้ชาร์จฉุกเฉินให้พอวิ่งไปหาที่ชาร์จได้ครับ
3. พอช่างทำข้อ 2 เสร็จ ก็ทำการติด WallBox ถ้ารถไม่แถมก็ซื้อเองครับ แต่ถ้ารถแถมมาก็ต้องรอรับรถก่อน แล้วนัดคิวเข้าติด WallBox จากนั้นเราก็โทรตามการไฟฟ้ามาตรวจ พอผ่านแล้วเค้าจะเปลี่ยนมิตเตอร์ให้ จากนั้นเป็นอันเสร็จ
ทีนี้มาที่ตัวรถกันบ้างครับ ผมขอยก XV กับ Forester มาเทียบให้เห็นภาพนะครับ จะได้เทียบเป็นภาพชัดเจน ทั้ง 3 คันนี้ผมซื้อมาตั้งแต่ป้ายแดงทั้งคู่ครับ คะแนนที่ให้เบสจาก 3 คันนี้เท่านั้นนะครับ (ถ้าสมมติเอา lambo มาเทียบด้วย สมถรรนะ Lambo จะเป็น 10/10 Forester ก็หล่นลงไปเหลือ 3/10 แบบนี้ครับ)
คุณภาพการประกอบ
Forester 7/10
XV 5/10
ATTO3 8/10
XV 2015 นั้นประกอบมาเลย์ บอกตามตรงครับ ห่วยแตกมาก กันชนไม่สนิท ภายในไม่ค่อยสนิท ช่องไฟไม่เท่ากัน ฝาลำโพงทวีตเตอร์มีเผยอๆ คอนโซลหน้าฝั่งคนนั่งมีรอยบวมจาก Airbag ใช้งานมา 7 ปี ภายในดังก๊อปแก๊ปสนั่นทั้งคัน ขับทางไม่เรียบนี่ประสาทจะกิน
ส่วน Forester นั้นประกอบดีกว่ามาก ดูแน่นสนิทเกือบทั้งหมด แต่…กันชนหน้าก็มีช่องไฟไม่เท่ากัน ไม่เข้าใจทำให้สนิทไปเลยไม่ได้หรือยังไง และยังมีปัญหาสนิมที่ต้องแก้ที่คานประตูคู่หน้าอีก แล้วเคยใช้ๆไปไฟเก๋งที่ฝาท้ายอยู่ๆก็ร่วงลงมาซะงั้น ที่เหลือโดยรวมดีกว่า XV พอสมควร
มาถึงน้อง ATTO3 แรกเริ่มตกใจกับการประกอบพอสมควรแน่น สนิทมากๆ ไม่น่าเชื่อจนต้องลดอคติรถจีนลงมาเลยครับ คือประกอบดีมากจริงๆ วิ่งไปนี่รู้สึกได้เลยว่ารถแน่นมาก อาจจะดีกว่า Forester ตอนป้ายแดงด้วยซ้ำ แต่ดีกว่า XV ตอนป้ายแดงแน่ๆ
ช่วงล่าง
Forester 9/10
XV 8/10
ATTO3 7/10
Forester นั้นทำผมเปลี่ยนความคิดไปเลยว่าช่วงล่างที่เกาะหนึบและนุ่มด้วยต้อง BMW หรือ Audi เท่านั้น (ผมเคยใช้ W124 W210 W212 W140 E39 E38 E90 E60 A6C5 A4B6 มาแล้วทั้งหมด ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้รถญี่ปุ่น) ซึ่งตรงนี้ขอหัก 1 คะแนนข้อหาย้วยไปนิด แต่ถ้ารู้ใจเค้าแล้ว ใส่ไปเลยยังไงก็ไม่หลุด เป็นรถที่ผมชอบช่วงล่างมากที่สุดคันนึงที่เคยใช้มาเลย
XV เป็นรถที่ติดแข็ง ออกแนวไปทางกระด้างพอสมควร แต่ก็ขับแล้วมั่นใจมากๆ ถ้าใครไม่ชอบรถแข็งๆเด้งๆ (แบบเมียผม) จะไม่ค่อยชอบเจ้านี่เท่าไหร่ มันเก็บทุกรอยต่อ ตะเข็บ หลุมบ่อ ทุกอย่างเข้ามาหมด และถ้าต้องเดินทางไกลจะเหนี่อยมาก แต่ถ้าขับมุดๆนี่ไว้ใจได้ไม่ย้วยเท่า Forester
มาถึงเจ้า ATTO3 ต่อให้ช่วงล่างหลังจะเป็นมัลติลิ้งค์ ดีกว่าทอชั่นบีม แต่แน่นอนครับความมั่นใจ บอกเลยว่าไม่มีทางสู้ ขับสี่ฟูลไทม์สองคันบนได้แน่นอน ต่อให้เปลี่ยนโช้คแข็งก็ไม่มีทางสู้ทางโค้ง และการทรงตัวได้แน่ๆ แต่ช่วงล่างเค้าเซ็ตมาแน่นจริงๆ ไม่พอยังซัพพวกรอยต่อ ตะเข็บ ทางไม่เรียบได้ดีมากๆ เกือบๆจะดีเท่า Forester แล้ว ติดที่คันเค้าเล็กกว่าเลยจะมีเด้งๆกว่าด้านหลังนิดเดียว ช่วงล่าง ATTO มาแนวนิ่ม ย้วยหน่อยๆ ผ่อนคลายๆเหมือนขับเรือ ทำให้ถ้าเจอโค้งหักๆ หรือโค้งบนเขาต่อเนื่อง หรือโยกหนักๆ ออกอาการย้วยพอสมควร และอาจจะให้คนนั่งหลังเมาได้ง่าย 2 คะแนนที่หักไปเพราะย้วยไปนิด และมีการเด้งหลายทีกว่าจะหยุดเวลาเจอถนนเป็นคลื่นลอนไม่เรียบหัวโยกกันเลย กับอีกเรื่องคือการบังคับควบคุมที่ผมมองว่ามันคล้ายๆม้าพยศ ถ้าคนขับไม่ชินกดคันเร่งลึกไปแบบไม่ทันระวัง แรงบิด 300 นตม ที่ 0 รอบ ลงล้อหน้า กับยาง Batman ถ้าล้อไม่ตรงนี่พวงมาลัยสะบัดเลยนะครับ แต่ถ้าล้อตรงและออกตัวไฟแดงแบบกดมิดหน้าเหิน รู้สึกได้เลยว่าลอยไม่เกาะถนนแล้วต้องระมัดระวังพอสมควร
การเก็บเสียง
Forester 8/10
XV 4/10
ATTO3 7/10
ขอบ่น XV เลยครับนอกจากประกอบห่วยแล้วยังเก็บเสียงโคตรห่วยเลยครับ มาครบหมดทั้งท่อนบน ท่อนล่าง ขับแค่ 140 ทางยาวๆ ลงมามีหูอื้ออ่ะครับ คุยกันบนรถไม่รู้เรื่องเลย ผิดกับรุ่นพี่ประกอบไทย ทรงต้านลมอย่าง Forester มากที่เงียบทั้งบนทั้งล่างได้ถึง 140 พอเลยไปแล้ว ท่อนบนลมเริ่มเข้าตรงกระจกมองข้าง แต่ข้างล่างยังเงียบอยู่ (XV มันดังทั้งคันจนไม่ต้องฟังแล้วว่าเสียงมาจากไหน) ส่วนน้อง ATTO3 ทำได้ดีพอๆกับ Forester เลยครับ เป็นอีกจุดนึงนอกจากช่วงล่างที่ผมตัดสินใจเอาน้องมาเข้าบ้าน ขับแล้วสบายๆจริงๆครับ แต่ถ้าจะบู๊ต้องตั้งใจขับจับพวงแน่นๆนิดนึงนะครับ
อัตราสิ้นเปลือง
Forester 6/10
XV 6/10
ATTO3 10/10
ตรงนี้ไม่มีอะไรแปลกใจ XV และ Forester คล้ายๆกัน 2.0 หายใจเอง ผมขอแบ่งตามนี้ครับ นอกเมืองหรือทางไกลไปเรื่อยๆไม่เกิน 110 ได้ 13-14 โล/ลิตร แต่ถ้าวิ่ง 120-140 จะได้ 11-12 โล/ลิตร ในเมืองเฉลี่ย 9-10 โล/ลิตร และถ้าไปจอดรับส่งลูก ผมเคยวัดเล่นๆ 6 โล/ลิตรครับ มาเจอไฟฟ้าไม่สืบครับ สู้ไม่ได้อยู่แล้ว
สมถรรนะอัตราเร่ง
Forester 5/10
XV 5.5/10
ATTO3 8/10
อันนี้ไม่ต้องคุยยาวครับ 2.0 หายใจเอง ขับสี่ฟูลทาม กับเกียร์ CVT ย้วยๆ 0-100 12 กับ 14 วิ มาเจอไฟฟ้า 7.8 วิ คนล่ะเรื่องครับ เตือนนิดสำหรับ Boxer ตัวนี้ ความร้อนในความเร็วสูงแช่นานๆ หรือมุดแล้วลากรอบสูงยาวๆ น้ำมันเกียร์ CVT เดือดนะครับ ผมขับจน AT OIL TEMP ขึ้น ต้องจอดพักข้างทางเลยครับ ซึ่งก็ขับไม่ได้เร็วมาก 170-180 บนด่วนบูรพา มาขึ้นร้อนที่ด่านบางนา หมดอารมซิ่งทันที ส่วนเจ้า Atto3 กำลังมาไม่มีหมด ถ้าไฟมี 95%+ 0-100 กดลงไปได้ถึง 7.0 วิเลยทีเดียว
ระยะที่ขับได้จริง ของเป็นรุ่น Extended 480 ชาร์จ 100% ใช้จนเหลือ 6-8%
- นอกเมือง ขับ 120-150 กม/ชม ได้ประมาณ 250-280กม
- นอกเมือง 110-120 กม/ชม ได้ประมาณ 300-400กม
- นอกเมือง วิ่งไม่เกิน 100 กม/ชม ได้ประมาณ 380-450กม
- ในเมืองรถติดๆ ได้ประมาณ 430-450กม
ความเร็วในการชาร์จ
ถ้าแบตต่ำกว่า 50% ผมเห็นรถชาร์จวิ่งยาวๆ 89kw/h เลยครับ
พอเลย 50-80% จะตัดลงมาเหลือ 45-60kw/h
พอเลย 80-100% จะตัดลงมาเหลือ 30kw/h
ซี่งถือว่าเร็วพอสมควร ทางไกล ผมจะชาร์จเอาแค่ 80-85% แล้ววิ่งไปได้แน่ๆ 200-250km สบายๆ ถ้าขับ 100-120กม/ชม ครับ ซึ่งก็ใช้เวลาชาร์จไวเพียงแค่ 20-40 นาทีแค่นั้นเองครับ
ฟังชั่นที่ส่วนตัวคิดว่ามีประโยชน์มากที่ ATTO3 ให้มา
1. HeatPump น่าจะเป็นรถไฟฟ้าคันเดียวในราคาต่ำกว่า 1.4 ล้านที่ให้มา ประโยชน์ไม่ใช่แค่ตอนอากาศหนาว แต่ตอนฝนตกอากาศชื้น (ยอมรับเถอะครับมเมืองไทยฝนตก 10 เดือนจริงๆ) รถจะไม่ขึ้นฝ้า ออปชั่นนี้สำหรับผมคือสำคัญมากๆ พอๆกับ Airbag เลย ถ้าคันที่จะซื้อไม่มี HeatPump หรือ Heater ผมไม่ซื้อเลย
2. BYD APP เชื่อมต่อกับรถผ่านสมาร์ทโฟน สั่งเปิดแอร์ระยะไกลมากๆ เปิด/ปิดรถ เปิด/ปิดกระจกได้ ดูสถานะการชาร์จรถจากมือถือได้ และที่สำคัญถ้าลืมกุญแจสามารถใช้แอพเปิดรถสตาร์ทรถขับไปได้เลย
3. การ์ด BYD สะดวก ทั้งปลดล๊อค ติดเครื่อง ทำแทนกุญแจได้หมด พกพาสะดวก
4. กล้องรอบคัน คือรอบคันจริงๆ ดูได้ทุกมุม และชัดมาก
5. V2L โคตรมีประโยชน์ ไม่แค่ตอนไปแค้มป์ หรือไป Picnic แต่อยู่บ้านก็ได้ใช้ ถ้าเกิดไฟดับ หรือบางจุดในพื้นที่รั้วบ้านที่ไม่มีสายไฟ ขยับรถไปใกล้ๆแล้วเสียบสายใช้งานได้เลย
ส่วนจุดที่ขัดใจก็มีนะครับ
1. ซิมการ์ดที่แถมมาให้ (ไม่มีเบอร์) ใช้สำหรับต่อเน็ตให้กับรถ มี Data ให้เพียง 500mb ต่อเดือน ถ้าฟังเพลงผ่าน Spotify คือ 2 อาทิตย์ก็หมดแล้ว และมีสมาชิกหลายท่านไปเปลี่ยนซิมเทพทรู สุดท้ายมีปัญหาใช้แอพ BYD หรือ OTA อัพเดทไม่ได้ เพราะซิมนี้ไม่ใช่เพียงต่อเน็ต แต่น่าจะเข้ารหัสกับหมายเลขตัวถังรถด้วย ซึ่งในเบื้องต้นถ้าใครซื้อมาแล้วควรจะหา Pocket Wifi หรือแชร์ Hotspot แทนนะครับ
2. จอกลางตรงพวงมาลัย เอียง! ไม่รู้ตั้งใจหรือดีไซน์ หรือผิดพลาด แต่มันเอียงครับ
3. เสียงสังเคราะห์ เวลารถวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า 30กม/ชม ค่อนข้างเหมือนรถไอติม ปิดได้แต่เปิดไว้เถอะครับ รถมันเงียบมาก หมาแมว ยังไม่รู้ตัวเลย
4. น่ากลัวแต่แก้ได้ ตู้ชาร์จเหมือนกล่องสุ่ม ถ้าเสียบชาร์จแล้วขึ้น Power Limited คือสไลด์อย่างเดียว ตอนแรกมีปัญหากับตู้ EA ภายหลัง Elexa ก็เจอกัน สุดท้ายแก้ได้คืออย่าดับรถก่อนชาร์จ ให้ชาร์จเข้าก่อนแล้วค่อยดับ ยังไม่เคยมีใครเจอปัญหากับวิธีนี้ กับตู้ชาร์จทุกยี่ห้อครับ
5. เซนเซอร์วัดแสงอยู่ในรถ ถ้าติดฟิมล์ม 80 ระบบเปิดไฟหน้าอัตโนมัติจะเปิดตลอดเวลา ไม่รู้เอาไปไว้ทำไมในรถ รวมถึงกระจกตัดแสงอัตโนมัติ ถ้าคุณติดฟิล์มมามืดมาก กระจกมองหลังนี่คือมืดตื๋อเลย มองอะไรไม่เห็นเลย
6. ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีอัพเดท Software ให้ซัพพอต Apple Carplay หรือ Android Auto ต้องพึ่งพา Navigator ติดรถ ซึ่งก็พอไหว แต่ไม่แม่น และตรงนี้ที่น่าเซ็งมาก คือ จุดยึดที่วางมือถือคือน้อยมาก รวมไปถึงจุดวางของต่างๆก็น้อย อย่าไปนับไอ้ที่มันซ่อนอยู่ใต้เกียร์ครับ ล้วงโคตรยาก อันนี้ผมนับว่าเป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่นะ สำหรับคนที่ชอบวางของจุกจิก
7. อัตราการ Regen ค่อนข้างเบา ต่อให้ปรับไป High แล้วก็ตาม เท่ากับว่าเค้าไม่ได้ออกแบบมาให้ดึงมาก เหมือนพวก One Paddle แต่…เค้าเอาไปใส่ไว้กับแป้นเบรค ถ้าน้ำหนักเบรค 100% ช่วง 15% แรกผ้าเบรคจะไม่จับตัว จะเป็นการรีเจนแทน เทสด้วยการลงเขา เลียเบรคมายาวๆ ความร้อนเบรคไม่ขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว ตรงนี้ก็แล้วแต่คนชอบ แต่ BYD พยานามออกแบบมาให้เหมือนรถน้ำมันมากกว่า One Paddle ในรถ EV เจ้าอื่น
สรุปเบื้องต้นก็ประมาณเท่านี้นะครับ ขอติดไว้ก่อนเรื่องคุณภาพการใช้งานว่ามีเอ๋อ ค้าง ยานแม่บ้างมั้ย ค่าดูแลรักษา เบี้ยประกัน และคุณภาพศูนย์บริการไว้ก่อน ถ้าได้เมื่อไหร่จะมาเปรียบเทียบกับ Subaru ให้ครับแต่ที่แน่ๆความเสถียรตัวรถ Subaru ผมให้ 10/10 ทั้งสองคันนะครับ ผมไม่เจอปัญหาดับ ข้าง หรือดีเฟคอะไรเลยจากโรงงานตลอด 7 ปี เป็นรถที่หยิบกุญแจแล้วไปได้เลย ไม่เคยตายกลางทางเลย แต่คุณภาพศูนย์ Subaru จะกลางๆ ไว้จะมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ ระหว่างนี้ขอเอาเข้า ATTO3 ไปเทสยาวๆก่อนครับ
ทิ้งท้ายไว้นิดนึงนะครับ แบตของ ATTO3 เป็น LFP Blade Battery ที่เคลมไว้ว่าทำได้ 5000 Cycles ขึ้นไป ถ้าตีกลมๆ 1 Cycle วิ่งได้ 350 (เอาแบบต่ำๆ จริงๆ 400 น่าจะสบาย) ก็ใช้งานได้ 1.75 ล้าน กิโลเมตร แบตจะสิ้นอายุต้องเปลี่ยน ซึ่งระหว่างทางก็จะเสื่อมเก็บประจุได้น้อยลง ทั้งนี้เท่าที่ดูรีวิวในต่างประเทศประเมิณการเสื่อมของแบตเตอร์รี่ไว้ที่ปีล่ะ 1-2% แต่ถ้าใช้เยอะก็ยิ่งเสื่อมไว แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าอย่างผมวิ่งปีล่ะ 30,000-40,000 โลใช้ได้เกิน 10 ปีแน่ๆ ส่วนคนที่วิ่งน้อยแบตก็น่าจะเสื่อมช้าลงไปอีก
ทีนี้เรามาเทียบกับรถน้ำมัน เบื้องต้นผมไม่เอา 1.75 ล้านกิโลเมตรมาคิด เอาแค่วิ่งได้ 4 แสนกิโลผมก็เปลี่ยนแบต
ค่าน้ำมันที่หายไป (ค่าไฟ 1.2 บาท/กิโล ค่าน้ำมัน 4 บาท/กิโล) ส่วนต่าง 2.8 x 400,000 = 1.12 ล้านบาท
ค่าบำรุงรักษา ผมเอาเฉพาะของเหลวมาคิดเท่านั้น เพราะอะไหล่อย่างอื่น เช่น เครื่อง/มอเตอร์ เกียร์ ระบบแอร์ ผมคิดว่า EV ก็น่าจะมีเสียเหมือนกัน แต่ที่หายไปแน่ๆก็คือ
น้ำมันเครื่อง 40 ครั้ง ครั้งล่ะ 2,500 บาท = 100,000 บาท
น้ำมันเกียร์ 10 ครั้ง ครั้งล่ะ 3,500 บาท = 35,000 บาท
รวมค่าน้ำมันกับค่าของเหลว ส่วนต่างก็ 1.255 ล้านแล้ว ฉะนั้นถ้าแบต 5-6 แสน เปลี่ยนแบตก็ยังคุ้มครับ
***ตรงนี้ถ้ามีปัจจัยอื่น หรือผมคำนวนผิดบอกนะครับ***
ฟังดูเหมือนคุ้ม แต่….มันไม่ได้เหมาะกับทุกคนครับ
1. ถ้าไม่มีที่ชาร์จ AC ที่บ้าน ลำบากแน่ครับ ยิ่งตอนนี้คนซื้อใช้เยอะ เพราะข้อ 2
2. หัวชาร์จไฟแรงชาร์จไว ส่วนมากมีแค่ตามปั้มเท่านั้น ส่วนที่เห็นตามห้าง AC เกือบทุกที่ แพงและได้ไฟน้อยมาก ฉะนั้นถ้าอยากได้ 80-90% โดยไม่ชาร์จบ้าน ต้องยอมเสียเวลา 30-45 นาทีไปที่ Fast Charge ครับ
3. ทำใจ ถ้าเดินทางไกล เสียเวลาชีวิตแน่ๆ ต้องวางแผนการชาร์จ ต้องรอ และต้องละเอียด ไปถึงที่ชาร์จเสีย ต้องมีแผนสำรอง หมดกลางทางค่าสไลด์แพงครับ ต้องดีไซน์การเสียเวลานั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น กินข้าว เข้าห้องน้ำ นอนพัก ครับ
4. ตัวแปรที่ผมเทียบ ผมเทียบกับรถที่มีค่าตัวเท่าๆกัน และสมรรถนะเท่าๆกัน ในที่นี้ต้องเทียบกับ Civic Mazda3 HRV Cross XV ฉะนั้นจะเอา Vios Yaris มาเทียบ ค่าดูแลเค้าน่าจะต่ำกว่าอยู่แล้ว และอัตราบริโภคน้ำมันน่าจะน้อยจนส่วนต่างนั้นน้อยลง (ผมเทียบกับ XV เพราะเปลี่ยน ATTO มาแทน ซึ่ง XV กินน้ำมันเฉลี่ย 8.5-9 โล/ลิตรนะครับ) ถ้าท่านมี Hybrid 15-25 โล/ลิตร อย่าเปลี่ยนเลยครับแทบไม่ได้ประหยัดเลย ถ้าต้องขายแล้วเพิ่มเงินไปซื้อ
5. ตัวแปรที่ยกมาเทียบ ผมทำให้ผมเลิกสนใจค่าแบตไปแล้ว เพราะมันไม่ใช่ประเด็นหลัก ตัวหลักตอนนี้คือส่วนต่างค่าไฟ กับค่าน้ำมันแทนแล้วครับ ถ้าค่าไฟขึ้นแบบก้าวกระโดดรุนแรง หรือน้ำมันลดลงเหลือ 10-15 บาท/ลิตร การใช้รถ EV จะยิ่งหมดความน่าสนใจลงไปทันที จะเหลือแค่สมรถถนะที่เร่งดีกว่ารถน้ำมันแค่นั้นแล้วครับ ทำให้ย้อนกลับหาข้อ 1 ถ้าอยู่บ้านติด AC ได้ อาจจะได้พิจารณา Solar Roof ในวันที่ไม่ค่าไฟแพง ก็ค่าน้ำมันถูกลงมากๆไว้ด้วยนะครับ
ทั้งหมดมาจากความเห็นส่วนตัวผมล้วนๆ หวังว่าคงช่วยให้หลายๆท่านที่ลังเลและไม่แน่ใจ ได้เห็นมุมมองที่เพิ่มขึ้นนะครับ และแน่นอนผมวัดดวงครับ เลยเลือกรถไม่แพงมาก แต่ชอบอัตราเร่งและช่วงล่าง และภาพรวมคันนี้มากเลยตัดสินใจง่าย และจะคอยมาอัพเดทเรื่อยๆ ทั้งการดูแล ประกัน บริการหลังการขายและปัญหาครับ
ในวันที่ผมพาลูกๆเที่ยวเขาใหญ่ ระหว่างจอดชาร์จที่ปากช่อง ได้เจอกับรถเทส ทะเบียน TC มาชาร์จด้วยกัน ซึ่งคันนี้เทสตั้งแต่พรางตัวเมื่อเดือนกันยาแล้ว พี่คนขับมากันสองคน ทำหน้าที่เทสให้ได้ 160,000 โล ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ณ วันที่ 25/12/2022 ไมล์รถคันเทนนี้ประมาณ 95,000 โลแล้ว สิ่งที่ทำการซ่อมบำรุงไป มีเพียงแค่ยาง 1 ชุด ตอน 60,000 โลเท่านั้น ที่เหลือยังไม่มีอะไรให้ซ่อม ไม่มีอะไรให้เปลี่ยน ไม่มี Fault อะไรที่เป็นปัญหาใหญ่เลย และได้แอบถาม Battery Health ไปพี่เค้าไม่สามารถบอกได้ แต่บอกได้คร่าวๆว่าเช็คมาแล้วเสื่อมไม่ถึง 5% แต่ขอให้ครบ 160,000 ก่อนค่อยเข้าเทสใหญ่อีกทีครับ