United ทำตัวเหมือนนิทานกระต่ายกับเต่า
ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคเริ่มของพรีเมียร์ลีก แมนยูเป็นทีมที่มีจุดแข็งที่ทีมอื่นไม่มี และยากที่จะมี
ไม่ใช่เรื่องที่มีนักเตะฝีเท้าดีกว่าทีมอื่น แต่เป็นทีมที่มี 3 องค์ประกอบ คือ
1. มีผู้จัดการทีมและทีมผู้ฝึกสอนที่เก่งที่สุด
2. มีฐานแฟนบอลทั่วโลกมากที่สุด
3. มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุด
เป็น 3 องค์ประกอบที่เกิดขึ้นพร้อมกันในทีมๆเดียว นำพาแมนยูประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งผลงานในสนามและนอกสนาม นี่เป็นเหตุที่ทำไมแต่ละช่วงที่แมนยูไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก แมนยูจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ปี แล้ววนเวียนกลับมาเป็นแชมป์ได้อยู่ตลอดกว่า 2 ทศวรรษ
แมนยูสูญเสียผู้จัดการทีมที่เก่งที่สุดไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่พลังของ 2 องค์ประกอบที่เหลือยังคงมีผลมาถึงทุกวันนี้ การไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกถึง 8 ปี แต่จากการอ้างอิงอันดับทีมสโมสรที่มีมูลค่ามากที่สุดของนิตยสาร Forbes ปี 2021 แมนยูก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของทีมในอังกฤษอยู่เหมือนเดิม บุคลากรในอดีตของแมนยูได้วางรากฐานของแบรนด์ Manchester United เอาไว้แข็งแกร่งมาก
แต่จะเห็นได้ว่าจากที่แต่ก่อนแมนยูเคยเป็นทีมที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก สูงกว่ารีลมาดริดและบาร์เซโลน่า และทิ้งห่างทุกทีมในเกาะอังกฤษ แต่ช่วงปีหลังๆมานี้โดน 2 ทีมจากสเปนและทีมยักษ์ใหญ่จากเยอรมันแซงไปถาวรแล้ว และตอนนี้ลิเวอร์พูลกับแมนซิตี้ก็กำลังเบียดมาติดๆแล้ว (แมนยู 3.06 พันล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลกับแมนซิตี้ 2.9 พันล้านปอนด์)
เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมบอร์ดของแมนยู ที่เป็นผู้บริหารองค์กรที่มีมูลค่าสูงที่สุดของอังกฤษ กลับเต็มไปด้วยบุคลากรที่ทำงานเฉื่อยชา คิดช้าทำช้ากว่าทีมใหญ่ทีมอื่นอยู่เสมอ ทำตัวเหมือนกระต่ายแวะไปหลับข้างทาง แล้วคาดหวังว่าจะกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนเดิม และดูไม่ใยดีกับการที่จะเห็นแมนยูถอยหลังลงไปเรื่อยๆ และที่สำคัญคือไม่อินไปกับความเดือดร้อนของแฟนบอล
พฤติกรรมของบอร์ดบริหารแมนยูในช่วงหลังๆแสดงให้เห็นแนวคิดที่ว่านักเตะเก่งๆมีความสำคัญกว่าผู้จัดการทีม แมนยูมักจะไม่ลังเลที่จะทุ่มทุนซื้อนักเตะแพงๆระดับสถิติโลก รวมถึงล่าสุดที่พา CR7 กลับบ้าน แต่กลับมีความย้อนแย้งเลือกที่จะทนใช้งานผู้จัดการทีมธรรมดาๆที่ดีกรีห่างชั้นกับทีมใหญ่ทีมอื่นๆ ทั้งที่คุณภาพของผู้จัดการทีมเคยเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดของแมนยูยุคยิ่งใหญ่
และที่น่าแปลกใจอีกอย่างคือการที่เจ้าของสโมสรชุดปัจจุบันเป็นนักธุรกิจต่างชาติที่ไม่ได้ผูกพันกับฟุตบอลอังกฤษ จึงน่าจะมีแนวโน้มทำงานเด็ดขาดคิดไวทำไวแบบนักธุรกิจ แต่กลับตรงกันข้าม ครอบครัวเกลเซอร์รับฟังความคิดเห็นในทำนองอนุรักษ์นิยมจากบุคลากรเก่าๆมากเกินไป
นักเตะบางคนจ่ายบอลพลาดง่ายๆทุกนัด <- ทีมผู้ช่วยโค้ชไม่เห็นว่าเป็นปัญหา ไม่อบรมแก้ไข
ทีมผู้ช่วยโค้ชพัฒนานักเตะไม่ได้ <- ผู้จัดการทีมไม่คิดจะเปลี่ยนทีมโค้ช
ผู้จัดการทีมไม่เก่ง <- บอร์ดบริหารเฉื่อยชา ไม่คิดจะเสี่ยงเปลี่ยนหัวเรือ คาดหวังว่าเดี๋ยวก็ดีเอง
เมื่อบุคลากรระดับที่อยู่บนสุดปล่อยปละละเลย ไม่ส่งผ่านความกดดันลงมาตามลำดับ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเราถึงได้เห็นนักเตะที่เล่นต่ำกว่ามาตรฐานของทีมระดับแมนยู ยังคงทำตัวแบบเดิมๆให้เห็นในสนามอยู่ทุกนัด