เปิดตำนานบั้งไฟพญานาควันออกพรรษา
เปิดตำนาน บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์ศรัทธาริมฝั่งแม่น้ำโขง ในวันออกพรรษา
ทุกๆ ค่ำคืนของ วันออกพรรษา 15 ค่ำเดือน 11 เราจะเห็นภาพของประชาชนมากมายที่พากันไปยืนรอริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อชมปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค หรือบั้งไฟผีเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งจะมีเวลาเกิดที่แน่นอนเสมอๆ (ถ้าปีไหนมีเดือน 8 สองครั้ง ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาของลาว)
15 จุดชม บั้งไฟพญานาค 2563 ริมแม่น้ำโขง
เที่ยวงาน ประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก 2564
ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นใน จังหวัดหนองคาย และ จังหวัดบึงกาฬ โดยเฉพาะที่หนองคายนั้นเรียกได้ว่ามีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าแสนคน สร้างรายได้สะพัดกว่า 100 ล้านบาท และมีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่สนุกสนานทีเดียว แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของคืนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องราวกล่าวขานที่เกี่ยวกับตำนานพญานาคต่างหาก
บั้งไฟพญานาค คืออะไร ?
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฎการณ์ที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้ โดยมีลักษณะของการเกิดลูกไฟ ไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีเสียง พุ่งขึ้นจากกลางลำน้ำโขงสู่อากาศ ขนาดของลูกไฟมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ กระทั่งขนาดเท่าฟองไข่ไก่ พุ่งสูงประมาณ 1-30 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5-10 วินาที แล้วหายไปโดยไม่มีการโค้งลงมา
ปรากฏการณ์นี้ เกิดปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ในช่วงวันออกพรรษา หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินลาว ซึ่งอาจตรงกับวันแรม 1 ค่ำ หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของไทย โดยแต่ละปีจะปรากฏขึ้นประมาณ 3-7 วัน มากกว่า 90% ของจำนวนลูกบั้งไฟพญานาคในแต่ละปีจะพบที่จังหวัดหนองคาย หน้าวัดไทย และบ้านน้ำเป อำเภอโพนพิสัย วัดอาฮง อำเภอบึงกาฬ วัดหินหมากเป้ง และอ่างปลาบึก อำเภอสังคม
แต่จุดที่ประชาชนเชื่อถือกันว่าเป็นเมืองหลวงของพญานาคนั้น อยู่ที่แก่งอาฮง จังหวัดบึงกาฬ หรือที่เรียกกันว่า "สะดือแม่น้ำโขง" นั่นเอง เป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ซึ่งชาวประมงเคยใช้เชือกผูกก้อนหินหย่อนลงไปในหน้าแล้งแล้ววัดดูปรากฏว่ามีความลึก 99 วา (ประมาณ 198 เมตร)
ความเชื่อและตำนาน พญานาคแห่งแม่น้ำโขง
พญานาคนั้นอาศัยอยู่ในเมืองบาดาล มีนิสัยดุร้าย มีพิษร้ายแรงในตัวถึง 64 ชนิด อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล ในสมัยพุทธกาล มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา จึงเลิกนิสัยดุร้าย แล้วแปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่ติดที่เป็นเป็นสัตว์เดรัจฉานจึงไม่สามารถบวชได้ นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน และปวารณาตนเป็นพุทธมามกะสืบไป
ต่อมาเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาจนครบ 1 พรรษา (3 เดือน) เมื่อกลับสู่โลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เหล่าบรรดาพญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจึงจัดทำเครื่องบูชา และพ่นบั้งไฟถวาย ซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกว่าบั้งไฟพญานาคนั่นเอง
แม่น้ำโขงเองก็มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับพญานาคเช่นกัน ซึ่งเป็นความเชื่อโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาของชาวไทยที่อาศัยอยู่ในแถบจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง และคนลาวแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย ว่าแม่น้ำโขงนั้นเกิดจากการเดินทางของนาคตนหนึ่งชื่อว่า ปู่เจ้าศรีสุทโธ นาคตนนี้เมื่อเลื้อยไปเจอภูผาหรือก้อนหินก็เลี้ยวหลบ ผิดกับนาคตนอื่นๆ ที่จะเลื้อยผ่าตรงไปเลย เส้นทางการเดินของเจ้าศรีสุทโธจึงมีลักษณะคดเคี้ยวไปมา เรียกกันว่า ลำน้ำคด หรือลำน้ำโค้ง แล้วต่อมาจึงเพี้ยนเป็น ลำน้ำโขง ไปในที่สุด
คำอธิบายบั้งไฟพญานาค ในเชิงวิทยาศาสตร์
งานวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยหลายฉบับสรุปว่า บั้งไฟพญานาค คือก๊าซมีเทน-ไนโตรเจนเกิดจากแบคทีเรียที่ความลึก 4.55–13.40 เมตร อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนน้อย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องช่วงประมาณ 10, 13 และ 16 นาฬิกา มีอุณหภูมิมากกว่า 26 องศาเซลเซียสทำให้มีความร้อนมากพอย่อยสลายสารอินทรีย์ และจะมีก๊าซมีเทนจากการหมัก 3–4 ชั่วโมง มากพอให้เกิดความดันก๊าชในผิวทรายทำให้ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ ฟองก๊าซที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วนจะฟุ้งกระจายออกไป ส่วนแกนในของก๊าซขนาดเท่าหัวแม่มือจะพุ่งขึ้นสูงกระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืนทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้
ภาพถ่ายกระสุนส่องวิถีในคืนวันออกพรรษา
โดย สมภพ ขำสวัสดิ์ - บ.ตาลชุม อ.รัตนวาปี, CC BY-SA 3.0
ทั้งนี้ ทางฝั่งลาวเองก็มีการยิงกระสุนส่องวิถีขึ้นฟ้าในวันออกพรรษา แต่ลักษณะจะแตกต่างจากบั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นจากบริเวณกลางแม่น้ำโขง แต่ลักษณะการพุ่งสู่ท้องฟ้าจะแตกต่างกัน สามารถแยกแยะระหว่างกันได้
https://travel.trueid.net/detail/57460qQV5LgM