ลองมาทำความเข้าใจกฏหมายที่เกี่ยวข้องกันนะครับ ที่ผมอาจจะต้องอารัมภบทยืดยาวเพื่อให้ทุกท่านทำความเข้าใจด้วยตัวเอง แต่ถ้าใครรีบก็ข้ามไปส่วนสุดท้ายได้เลยครับ
เริ่มจากกฏหมายพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคลกันก่อน
หมวด 3
Spoil
มาตรา 25 วรรค 1 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ
และเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ
เช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
ของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
วรรค 3 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติ
แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว
การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ
แห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของ
ปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น
มาตรา 35 วรรค 1 บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร
หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
การตีความ จากกฏหมายในหมวด 3 ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการกระทำและแสดงความคิดเห็น ตราบใดที่ไม่กระทบความมั่นคงของรัฐและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิข้างต้นสามารถฟ้องร้องต่อศาล
การจะจำกัดสิทธิข้างต้นจะต้องมีการบัญญัติกฏหมายลำดับรองขึ้นมาเฉพาะ โดยในหมวดนี้ได้รับรองเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพสื่อให้อยู่ในลำดับศักดิ์เดียวกันนี้
ทีนี้มาดูกฏหมายที่อยู่ในข่าย จำกัดสิทธิและเสรีภาพเพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ละเมิดสิทธิ
Spoil
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
หมิ่นประมาท
Spoil
ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
การล่วงเกินทางเพศ
Spoil
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านบนนี้คือกรณีข้อพิพาททั่วไป จะเห็นได้ว่ากฏหมายในลักษณะคุ้มครองสิทธิจะให้ความสำคัญกับผู้ถูกกระทำ มากกว่าเจตนาของผู้กระทำ โดยการหมิ่นประมาทจะมีบทยกเว้นโทษบัญญัติไว้ตามมาอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นหากผู้เสียหายสามารถกล่าวอ้างการได้รับผลกระทบต่อศาลได้อย่างสมเหตุสมผล ก็ย่อมเข้าข่ายความผิด แม้เจตนาของผู้กระทำจะไม่เป็นไปตามนั้น
ทีนี้มาดูส่วนที่ยากต่อการตีความ คือการกระทำผิดที่ไม่ใช่กรณีพิพาททั่วไป เช่น การนำรูปถ่ายมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาคือการตีความคำว่า "ข้อมูลส่วนบุคคล"
ก่อนจะตีความคำว่าข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเข้าใจสิทธิพื้นฐานอย่างหนึ่งก่อน นั้นคือ
สิทธิในความเป็นส่วนตัว หมายถึง สิทธิของบุคคลตามหลักขั้นพื้นฐานของกฎหมายที่จะอยู่ตามลำพังโดยปราศจากการรบกวนหรือสอดแทรกจากผู้อื่นที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญใจ เสียหาย อับอาย หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ทีนี้มาดูบทบัญญัติใน พรบ.พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ.2562
หมวด 1 มาตรา ๖ ในพระราชบัญญัตินี้ “ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ
หมายเหตุ
Spoil
พรบ.พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เป็นกฏหมายลำดับรอง โดยจุดประสงค์ของ พรบ.ฉบับนี้มีขึ้นเพื่อในการควบคุมข้อพิพาทระหว่างเอกชน/นิติบุคคลและบุคคล มิใช่ระหว่างบุคคลทั่วไป โดยก่อนหน้านี้เรามี พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ที่ใช้ควบคุมข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐและบุคคลอยู่แล้ว พรบ.ฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว แต่ยกเว้นบางหมวดซึ่งก็คือหมวดที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักทั้งหมด โดยเลื่อนการใช้งานหมวดเหล่านั้นออกไป ดังนั้น พรบ.ฉบับนี้จะยังใช้ในการอ้างเอาผิดไม่ได้ในปัจจุบัน
จะเห็นว่าถึงแม้รูปภาพนั้นจะเข้าข่ายเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่จะให้เข้าองค์ประกอบการความผิดการกระทำนั้นต้องมีผลกระทบต่อเจ้าของสิทธิ
ทีนี้มาดูความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การอัพโหลดรูปภาพ
พรบ.พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 16
Spoil
ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และ ภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
การตีความเนื้อหาในมาตรานี้ยังคงมีปัญหา โดยชัดเจนตามข้อกฏหมายคือต้องเป็นรูปภาพตัดต่อจึงเข้าองค์ประกอบ แต่ในการใช้งานจริงยังรวมไปถึงรูปภาพของผู้อื่นที่ถูกนำไปใช้แอบอ้างด้วย (เช่น การนำรูปบุคคลไปใช้แอบอ้างจนทำให้เสื่อเสียชื่อเสียง)
การละเมิดลิขสิทธิ์
พรบ.ลิขสิทธิ์ 2537
Spoil
มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง
ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ การทำซ้ำและเผยแพร่ถือว่าเป็นความผิดชัดเจน โดยการตีความข้อยกเว้นนั้นถึงแม้จะไม่ได้ใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์แต่ก็จำเป็นต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาให้ชัดเจน
Q&A
คำตอบของผมต่อไปนี้ ขอให้ remarks ไว้ว่าเป็นการตอบเบื้องต้นในฐานะคนที่พอมีความรู้ด้านกฏหมาย มิใช่ในฐานะนักกฏหมายหรือทนาย คำแนะนำของผมคือให้ไปขอคำปรึกษาจากสำนักงานทนาย มีหลายหน่วยงานที่บริการให้คำปรึกษาทางกฏหมายฟรี ทั้งของเอกชนและรัฐ ไม่จำเป็นจะต้องถึงกับไปทำความผิดเพื่อจะได้รู้กฏหมาย มันไม่เข้าท่า
Q:ตรงไปที่ประเด็นกรณีตัวอย่าง การเซฟรูปมาอัพลงบอร์ดโดยมิได้ขออนุญาต มีความผิดตามกฏหมายข้อใด
A:เท่าที่ผมตอบได้ ไม่ผิดตาม พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล (และบางหมวดก็ยังไม่ใช้งานจริงด้วย) หากมีการให้เครดิตแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่ผิด พรบ.ลิขสิทธิ์เช่นกัน แต่ส่วนที่อาจจะผิดคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งจะเข้าองค์ประกอบความผิดต้องมีการทำให้เกิดการกระทำผิดทางกฏหมายต่อเจ้าของรูป ซึ่งในกรณีคือการหมิ่นประมาท แม้ผู้เผยแพร่จะไม่ใช่ผู้หมิ่นประมาทแต่ก็อาจจะมีความผิดฐานละเมิดได้
(ผมใช้คำว่าอาจจะ เพราะต้องอาศัยการตีความและพิจารณากฏหมายร่วมกันหลายข้อ และยังไม่มีตัวอย่างคำวินิจฉัยชัดเจน ที่พอจะอ้างอิงได้คือ กรณีถ่ายรูปบุคคลในที่สาธารณะแม้จะกระทำได้ แต่หากนำไปเผยแพร่แล้วผู้ที่อยู่ในรูปได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงก็เข้าข่ายความผิดฐานละเมิด)
Q:หากไม่มีการหมิ่นประมาท จะถือว่าเป็นการละเมิดหรือไม่
A:ตามการตีความของผมคือไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่อาจจะต้องระวังการตีความของ พรบ. มาตรา 16 ในส่วนของการนำรูปถ่ายของผู้อื่นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
Q:เอารูปถ่ายดารามาลงจะปลอดภัยกว่าคนทั่วไปหรือไม่
A:คำถามนี้ต้องย้อนกลับไปที่สิทธิขั้นพื้นฐานที่เรียกว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งตรงนี้มีการถกเถียงกันทางวิชาการแต่ยังไม่มีบรรทัดฐานที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย ที่พอบอกได้คือในต่างประเทศ การพิจารณาตามดลยพินิจ บุคคลสาธารณะมักจะได้รับการคุ้มครองในส่วนนี้น้อยกว่าบุคคลทั่วไป
Q:ถ้างั้นจะโพสกระทู้รูปยังไงให้ปลอดภัย
A:วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการขออนุญาต แต่ก็เป็นวิธีที่อาจจะปฏิบัติจริงได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่จะพิจารณาในลำดับต่อมาคือการหลีกเลี่ยงองค์ประกอบความผิดตามข้อกฏหมาย
เบสิคที่สุดคือไม่กระทำการที่อาจก่อให้เกิดการหมิ่นประมาท พวกคอมเม้นเชิงคุกคามทั้งหลาย ประการต่อมาคือการครอบลิ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะผิด พรบ.คอม ในการทำซ้ำและเผยแพร่ และ ละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ แต่ก็อาจจะโดนฟ้องเรื่องละเมิดสิทธิส่วนบุคคล(สิทธิในความเป็นส่วนตัว)ได้ (แต่ไม่ฟันธงว่าผิด)
ดังนั้นประการต่อมาคือ พิจารณาประเด็นความเป็นสาธารณะของรูปภาพนั้น ๆ อ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลในประเด็นการถ่ายรูปติดผู้อื่นในที่สาธารณะไม่ถือเป็นความผิด หลักปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการวินิจฉัยความเป็นสาธารณะ โดยศาลให้เหตุผลไว้ว่า บุคคลที่อยู่ในที่สาธารณะย่อมถูกถ่ายภาพได้แม้เจ้าตัวไม่ยินยอมก็ตาม เนื่องจากไม่อาจคาดหวังความเป็นส่วนตัวอย่างสมเหตุสมผลได้ โดยความสาธาณะนี้ไม่ได้หมายถึงการเปิด public แต่ต้องพิจารณาถึงความเป็นสาธาณะของตัวรูปภาพนั้นเอง
อย่างไรก็ตามยังไม่มีบรรทัดฐานในเรื่องนี้ชัดเจน ผมจึงไม่อาจยืนยันได้แน่นอนว่าจะผิดหรือไม่
Q: ถ้าถูกฟ้องร้อง ควรทำอย่างไร
A: อย่างที่เคยตอบไปในกระทู้ก่อนหน้านี้ เมื่อถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฏหมาย อย่างแรกที่ควรทำคือสอบถามว่าเราได้กระทำการผิดกฏหมายในมาตราใด ข้อใด เนื้อความว่าอย่างไร นี้คือการรักษาสิทธิเบื้องต้น ขั้นตอนต่อมาคือปรึกษานักกฏหมาย การปรึกษาทนายความสามารถรับบริการได้ทั้งฟรีและเสียเงินจากหน่วยงานเอกชนและภาครัฐ การปรึกษาทนายความมิใช่ควรกระทำเฉพาะผู้เสียหาย แต่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดก็ควรปรึกษาทนายเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองตามกฏหมาย
ในกรณีที่ปรึกษาทนายแล้ว และเห็นด้วยว่าตนทำผิดจริง ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฏหมาย พรบ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อให้การตกลงยอมความนั้นเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
สุดท้ายนี้ ผมได้คุยหลังไมค์กับ 1 ในผู้ที่เป็นคู่กรณี ก็แนะนำไปเท่าที่พอจะทำได้แล้ว
นอกจาก 2 ท่านนั้นที่เป็นคู่กรณี คนอื่นไม่ต้องหลังไมค์มานะครับ ผมไม่ตอบ ข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมดผมเขียนไว้ในกระทู้นี้แล้ว ถ้าสงสัยอะไรก็ถามในกระทู้นี้ ถ้าตอบได้จะพยายามตอบให้ แต่นอกเหนือจากนี้ขอให้ไปปรึกษาทนายหรือนักกฏหมายโดยตรงนะครับ