[Man utd] รีวิวสิ่งที่เกิดขึ้นในรีบิ้ว เฟส1 (ซีซั่น2019/20)
สิ้นสุดไปแล้วกับภารกิจฤดูกาล 2019/20 ที่ยาวนานกว่า 12 เดือน จากผลของโควิทที่ทำให้ยาวกว่าฤดูกาลปกติที่จะจบภายใน 8-9 เดือน เหลือเพียงการแข่งขันในยูโรป้าซึ่งถ้าถึงนัดชิงจะมีการเตะอีกเพียง 4 นัดเท่านั้น
ซึ่งหลังจากนัดสุดท้ายเราบุกไปชนะเลสเตอร์ทีมคนไทยได้ถึงคิงพาวเวอร์สเตเดี้ยม ทำให้เราการันตีการจบด้วยอันดับ 3 เป็นรองเพียง 2 ทีมที่กำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรืองสุดอย่างลิเวอร์พูล และ แมนซิตี้เท่านั้น
เมื่อจบซีซั่นแน่นอนว่าเราต้องมาทบทวนหรือรีวิวสิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูกาลที่แสนยาวนานของทีมปีศาจแดงปีนี้ว่าโอเล่ที่รับงานคุมทีมเต็มตัวเป็นฤดูกาลแรกได้ตัดสินใจทำอะไรไปบ้าง เพราะงานของผู้จัดการทีมยูไนเต็ดมันแตกต่างไม่ใช่เพียงคุมทีม วางแทคติคในสนามเหมือนทีมอื่น แต่ต้องทำงานในส่วนของการจัดการองค์ประกอบภาพรวมทั้งหมดของสโมสร แถมยังเหมือนเป็นพันธกิจที่ต้องทำให้อยู่ในปรัชญาหรือวัฒนธรรมของสโมสรอย่างวิถียูไนเต็ดหรือที่ต่างประเทศจะเรียกกันว่า United Way อีกด้วย
ผมขอลองย้อนกลับไปถึงการตัดสินใจแต่ละครั้งทั้งครั้งสำคัญ ครั้งใหญ่ หรือเรื่องยิบย่อยเต็มไปด้วยรายละเอียดของโอเล่ ที่เข้ามาจัดการทีมที่แทบจะพังทลายลงไปจากการทะเลาะกันกับบอร์ด และ นักเตะของน้ามูนะครับ (แต่ผมไม่โกรธน้ามูนะครับเพราะจัดนัดเลสเตอร์นัดรองสุดท้ายให้ จุ๊บๆ)
เรื่องที่น่าสนใจสำคัญ เท่าที่ผมเรียบเรียงได้น่าจะมีประมาณนี้ครับ
- ปรับความฟิตครั้งใหญ่จากช่วงเข้าแคมป์ ปรีซีซั่น แต่งตั้ง Michael Clegg อดีตเด็กฝึกจากอะคาเดมี่ของเราที่ทางโอเล่ดึงตัวมาเป็น Strength and Conditioning Coach เมื่อกรกฏาคมปี 2019 จากที่ทีมเราหมดสภาพและมีความฟิตความแข็งแกร่งแย่มากเมื่อช่วงท้ายฤดูกาลที่แล้วแถมยังเป็นทีมที่วิ่งน้อยอันดับเกือบบ๊วยในลีก วิ่งน้อยไม่พอยังเจ็บกล้ามเนื้อกันไป 5-6 คน แต่ฤดูกาลนี้หลังจากโอเล่เข้ามาจัดการนอกจากทีมจะวิ่งมากขึ้น เค้าเตอร์เพรสซิ่งแดนบนอย่างดุดัน โปรแกรมก็เตะถี่รัวๆ แต่สังเกตมั้ยครับว่าสภาพของนักเตะนอกจากล้า (เพราะโปรแกรมทุก 2 วันจะฟื้นตัวไม่พอ) แต่นักเตะของเราช่วงไคลแมกซ์นี้ไม่มีใครเจ็บจากอาการกล้ามเนื้อเลยแสดงว่าความฟิตแข็งแกร่งกล้ามเนื้อที่ทีมฟิตซ้อมมาเข้าที่เป็นอย่างดี (มีแต่โขกหัวแตกกับวิ่งข้อเท้าแพลง)
- เปลี่ยนจากเป็นทีมที่สาดไปข้างหน้าเป็นทีมขึ้นบอลจากแดนหลัง โดยตัดสินใจปล่อยกองหลังที่ไม่สามารถขึ้นเกมส์ได้อย่างคริส สมอลิ่งออกไป และ ใช้แมคไกวที่จบฤดูกาลสถิติ Ball Carrying หรือสามารถทำให้บอลขึ้นไปข้างหน้าเป็นระยะสูงที่สุดในบรรดากองหลังทั้งหมด
- ซื้อ แฮรรี่ แมคไกว และ อารอน วานบิสซาก้า ทำให้จากทีมที่เสียประตูเยอะ กลายเป็นเสียประตูน้อยสุดเป็นอันดับ 3 ของลีก แถมเก็บคลีนชีทได้สูงสุดในยุโรป
- มอบเสื้อหมายเลข 9 พร้อมกับให้ความเชื่อมั่นมาซิอัลในตำแหน่งกองหน้าตัวเป้าอย่างเต็มตัวทั้งฤดูกาลนี้ และ ทำให้มาซิอัล พัฒนาความสามาถในการเป็นกองหน้าแบบครบเครื่องมากขึ้น ทั้งความขยันในการไล่บอล ความแข็งแกร่งและความฟิตที่ทั้งวิ่งทั้งชนได้อย่างดุดันทำงานหนักมากขึ้น การหาตำแหน่งเข้าฮอตแบบสไตรคเกอร์ รวมถึงการพักหรือโฮลบอลที่เริ่มดีขึ้น สุดท้ายผลงานการทำประตูและมีส่วนร่วมกับประตูทั้งยิงกับจ่ายรวมกันทำได้สูงสุดในชีวิตเลยทีเดียว
- โยกแรชชี่กลับไปเป็นตัวรุกทางซ้ายเต็มตัวซึ่งทำให้สามารถใช้จุดเด่นความเร็วรวมถึงพัฒนาการจ่ายบอลคีย์พาสได้อันตรายขึ้นมาก แถมหลังจากเบรคโควิทกลับมาก็เล่นมองเพื่อนมากขึ้น มุทะลุหรือเล่นฝืนน้อยลง จนถึงตอนนี้มีส่วนร่วมกับประตูทั้งยิงกับจ่ายรวมกันทำได้สูงสุดในชีวิตเช่นเดียวกับมาซิอัล
- พัฒนาเกมส์เค้าท์เตอร์เพรสซิ่งจนกลายเป็นอาวุธอันตรายใช้จู่โจมคู่ต่อสู้ได้เป็นที่มาของการเก็บคะแนนจากทีม 5 อันดับแรกได้สูงมาก ชนะไป-กลับ แมนซิตี้ เชลซี เลสเตอร์ โดยเสียคะแนนให้กับแชมป์อย่างลิเวอร์พูลเพียงทีมเดียว
- ซื้อบรูโน่ อันนี้ไม่ต้องพิมพ์เยอะเจ็บมือ
- ปล่อย อ. ยัง ออกจากทีม และ แต่งตั้ง แมคไกวเป็นกัปตันที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำจริงๆ ในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว (คนก่อนหน้านี้คือ อ.ยัง วาเลนเซียช่วงโรยรา รูนีย์ช่วงโรยรา)
- เปิดโอกาสแบรนดอนขึ้นมาแทนที่ อ. ยัง ในบทบาทตัวโรเตชั่น และ แข่งขันกับชอว์ในช่วงกลางฤดูกาลที่ชอว์เจ็บไปประมาณ 2 เดือน
- ไม่เร่งรัดเมสันในการที่ลงสนามเยอะหรือเร็วเกินไปในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก ให้เวลาลงเล่นที่เหมาะสมกับการปรับสภาพ และ ระดับการเล่นที่รอให้สรีระขึ้นมาพร้อมจริงๆ ถึงจะมอบตัวจริงให้หลังจากรีสตาร์ทมามีร่างใหม่หลังโควิท
- เชื่อมั่น และ พัฒนาคู่พาร์ทเนอร์ แมคซอส x เฟร็ด จนสามารถพึ่งพาช่วยทีมได้กว่าครึ่งฤดูกาลในช่วงที่ปอกบา และ มาติช บาดเจ็บ
- ชุบชีวิต และ ฟอร์มการเล่นของมาติชกลับมาในช่วงเดือนมกราคม และ ลากยาวจนช่วงหลังโควิทจนจบฤดูกาล
- ทำให้ปอกบากลับมาเชื่อมั่น และ มีความสุขสนุกกับการเล่นฟุตบอล และพร้อมทุ่มเทเป็นส่วนนึงในทีมชุดนี้อย่างเต็มที่อีกครั้ง
- เรียกฟอร์มชอว์ออกมาจนเล่นได้อย่างคงเส้นคงวา และ สมดุลมากทั้งเกมส์รุกและรับ แถมพัฒนาจนสามารถเล่นเป็นเซนเตอร์แบคทางซ้ายได้อย่างลงตัว จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการใช้แทคติคที่หลากหลายในอนาคต
- ดึงตัวอิกฮาโล่เข้ามาทั้งเพิ่ม Squad depth ที่ทำให้สามารถพักมาซิอัล หรือ แรชฟอร์ดในท้ายเกมส์แต่ละนัดได้ แถมยังได้ความแตกต่างด้านสไตลการเล่นเพิ่มทางเลือกด้านแทคติค มีประสบการณ์ที่จะถ่ายทอดวิธีการเล่นหน้าเป้าให้กับมาซิอัล และ เมสัน นอกจากนั้นการสร้างบรรยากาศที่ดีที่มีเรื่องใจ และ ความรักทีมไม่แพ้ใครที่สะท้อนออกมาจากแววตาที่มีความสุขอย่างเห็นได้ชัดที่ช่วยเป็นตัวอย่างให้รุ่นน้องในเรื่องความรักในยูไนเต็ด และ สปิริตเพื่อทีมได้เป็นอย่างดี
- สร้างระบบครองบอล และ การใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อคู่หู Brogba ได้อย่างลงตัวในช่วงทีมไล่ถล่มยิงรัวๆ ในยามจำเป็นที่ต้องการไล่ตามทั้งคะแนน และ ประตูได้เสีย โดยครองเกมส์ได้อย่างเบ็ดเสร็จในนัด เชฟยู ไบรท์ตัน บอร์นมัท วิลล่า
- คอยดูแล เมสันเป็นอย่างดีให้คอยอยู่ห่างไกลสื่อ พึ่งมีช่วงก่อนปิดที่เริ่มยอมให้สัมภาษณ์สื่อสาธารณะบ้างเป็นครั้งแรก
- ให้ความสำคัญกับระบบอะคาเดมี่อันเป็นวัฒนธรรมสำคัญของสโมสรมาตลอด มีนโยบายปรับให้ทีม U18 และ U23 ต้องเล่นในระบบ 4-2-3-1 เหมือนชุดใหญ่ตั้งแต่เริ่มสตาร์ทฤดูกาล เพื่อให้นักเตะที่จะขึ้นมาจะคุ้นเคยกับระบบเดียวกัน คอยหาเวลาเข้าไปดูเกมส์ของชุดเล็กด้วยตัวเองพร้อมกับ ลุงไมค์ คาร์ริค แมคเคนน่าอยู่เป็นประจำ ให้นิคกี้ บัตต์ และ แมคเคนน่าที่เคยทำงานคลุกคลีกับทีมชุดเล็กมีส่วนร่วมอย่างมากในการช่วยเลือกนักเตะที่มีโอกาสทะลุขึ้นมาชุดใหญ่ รวมถึงเมื่อนักเตะที่ทะลุขึ้นมาได้ก็จะมี 2 คนนี้ที่ช่วยในการปรับตัวและปรับระดับได้เป็นอย่างดี รุ่นต่อไปก็เริ่มตามแบรนดอน กับ เมสันขึ้นมาซ้อมกับทีมชุดใหญบ่อยแล้ว อย่าง การ์เนอร์ เลด เมนกิ แถมในเรื่องทีมเยาวชนยังมีการจัดงบพิเศษไว้ให้ทีมสรรหาใช้สำหรับดึงตัวพวกดาวรุ่งโพเทนเชี่ยลสูงแยกต่างหากจากทีมชุดใหญ่ด้วย โดยปีที่แล้วไปดึงตัว ฮานิบัล เมจบรี้ และ ดิออน ฮอกเวิฟ ส่วนปีนี้ที่ดึงดาวรุ่งมีแววมาแล้วมี โลแกน ไพ กับ โจ ฮูกิล ตัวเยาชน u21 ทีมชาติอังกฤษ และยังมีข่าวจากวงในสายอะคาเดมี่ว่าเตรียมปิดดีลดึงตัวดาวรุ่งเรตติ้งสูงอยู่อีก 4 คน มาร์ค ฆูราโด้ แบคขวาจากลามาเซียของบาร์ซ่า อัลวาโร่ เคเรร่าแบคซ้ายจากทีมเยาวชนมาดริด ชาลี แมคนีลกองหน้าเยาวชนแมนซิตี้ที่เป็นแฟนบอลยูไนเต็ดตัวยง และ อิซาค ฮันเซ่น - อาโรเอน วันเดอร์คิดชาวนอร์เวย์วัย 16 ปี
- ไม่เคยทอดทิ้ง หรือโจมตีนักเตะในทีม พร้อมทั้งคอยปกป้องลูกทีมจากสื่ออยู่เสมอ
- ยินดีรับผิดชอบคำด่า เสียงวิจารณ์ที่คอย ตำหนิด้วยตัวเองเพียงคนเดียว
- ไม่เคยอวดอ้างหรือบอกว่าเป็นเครดิตของตัวเอง แต่จะคอยยกย่องให้เครดิตคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสตาฟโค้ช แมวมอง นักเตะ อยู่ตลอด
- อดทนกับการทำงานของบอร์ดที่ยังถือว่ามีปัญหาในการทำงานตลาดซื้อขายได้ช้า และ ค่อนข้างไม่เข้าเป้า ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเท่าที่มีโดยไม่ทำให้สถานการณ์ หรือไปทะเลาะมีปัญหากับผู้บริหาร แต่ช่วยกันทำงานอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะเซตระบบโครงสร้าง Committee และ ลงไปทำงานเพิ่มเติมเองนั่งหัวโต๊ะในทีมสรรหานักเตะทำให้มีระบบการหาตัวด้วย Data Analysis และ การใช้คอนเนคชั่นเพื่อเช็คลักษณะบุคลิคนิสัยในเชิงลึกของเป้าหมายการซื้อตัวแต่ละคน แถมสำหรับในทีมอะคาเดมี่ ยังมีจัดงบแยกไว้ให้ทีมงานต่างหากสำหรับการเสริมตัวดาวรุ่งโพเทนเชียลสูงโดยปีที่แล้วที่ดึงมาตัวเด่นๆ อย่าง ฮานิบัล เมจบรี้ ฮฮกเวิร์ด พอมาปีนี้ดึงมาอีกเพียบ
ในระหว่างรีบิ้วทีม โอเล่มีโอกาสได้ใช้ตัวจริงแบบฟูลทีมเพียง 10/57 นัดเท่านั้น โดยจำนวนนัดที่นักเตะในทีมบาดเจ็บมีดังนี้
กลุ่มตัวจริง
ปอกบา เจ็บไป 39
ชอว์เจ็บไป 19
มาติชเจ็บไป13
แมคโทมิเนเจ็บไป 12
แรชฟอร์ดเจ็บไป 10
มาซิอัลเจ็บไป 9
กลุ่มตัวโรเตชั่น
ไบยี่เจ็บไป 30
โฟซูเมนซ่าเจ็บไป 42
ดาโลท์เจ็บไป 24
ทวนเซเบ้เจ็บไป 24
ผสมผสานขุมกำลังด้วยช่วงอายุที่สมดุล (ค่าเฉลี่ยนักเตะที่ลงเล่นอายุน้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีก)
นักเตะวัยเกิน 30
โรเมโร่| อิกฮาโล่ | มาต้า | มาติช
25 - 29
ปอกบา | บรูโน่ | เดเกอา | แมคไกว | ลินเดอเลิฟ | เฟร็ด | ลินกาด | ไบยี่ | ชอว์
21 - 24
แรชฟอร์ด | มาซิอัล | วานบิซซาก้า | แมคซอส | เจมส์ | เปเรร่า | ดาโลท | ทวนเซเบ้
17 - 20
เมสัน | แบรนดอน | ชง
เขียนมาทั้งหมดนี่คือรีวิวสิ่งที่โอเล่ทำกับทีมไปในโปรเจค “Rebuild” เฟสที่ 1 ที่งานหลักคือเรียกสปิริต แก่นจิตใจของวิถียูไนเต็ดกลับมา เรียกศรัทธาจากแฟนบอลท้องถิ่นพันธุ์แท้ที่สืบทอดจากต้นตระกูลกลับมาให้เชื่อมั่น รัก และ พร้อมเอาใจช่วยทีม พร้อมกับพยายามสร้างผลงานให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ก่อนจะเข้าได้ตามเป้าจบด้วยอันดับ 3 ซึ่งถือว่าเกินคาดจากที่สื่อ นักวิจารณ์ แฟนบอลคู่แข่ง หรือคนที่ยังไม่มั่นใจทีม
งานและสิ่งที่โอเล่ทำบอกตามตรงว่ามันเกิน “จ็อบหรือหน้าที่” ที่ผู้จัดการชื่อดังปกติเค้าจะทำกัน ไม่เหมือนที่อื่นที่จะมี ผอ. ฟุตบอล ดูแล แต่โครงสร้างการทำงานของยูไนเต็ด ถูกวางฝังรากลึกไว้กว่า 20-30 ปีจากระบบการทำงานของเซอร์อเล็กซ์ ที่ต้องใช้ความสามารถด้าน Man Management เป็นอย่างมากที่ต้องลงไปตัดสินใจ และ ทำงานหนักกว่าสโมสรอื่นเค้าทำกัน ดังนั้นจุดแตกต่างตรงนี้มันคือคนที่พร้อมเสียสละตัวเองทำงานจำนวนมากนี้ต้องมีใจ “รักสโมสร” มีความสุขที่จะพร้อมทุ่มทุกอย่างให้อย่างไม่มีข้อแม้ให้กับทีม ซึ่งตรงนี้ที่แตกต่างจากโค้ชมืออาชีพชื่อดังที่ส่วนใหญ่มองว่าตัวเองคือมือปืนรับจ้าง เข้ามาสร้างผลงานหรือโปรไฟล์ แล้วก็ไปที่อื่นต่อ แต่ไม่ได้คิดไว้ว่าจะทำอะไรและเหลืออะไรไว้ให้สโมสรบ้าง