กรณีศึกษา Japan Airlines สายการบินแห่งชาติ ที่ขาดทุนจนล้มละลาย..
ถึงเป็นสายการบินแห่งชาติ แต่ถ้าบริหารไม่ดี ก็เจ๊งได้เหมือนกัน…
ย้อนกลับไปในปี 2010 สายการบิน Japan Airlines ประกาศขอความคุ้มครองล้มละลายหลังจากมีผลการดำเนินการย่ำแย่ ไม่สามารถทำกำไรได้ติดต่อกันและเป็นหนี้มหาศาลถึง 700,000 ล้านบาท บริษัทต้องยอมออกจากตลาดหุ้น เพื่อไปปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
มันเกิดอะไรขึ้น?? แล้วพลิกฟื้นกิจการได้อย่างไรกัน??
รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า จะปล่อยให้สายการบินแห่งชาตินั้นล้มไปไม่ได้เด็ดขาดเพราะมันส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และจะยิ่งไปซ้ำเติมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยโตอยู่แล้วพวกเขาจึงยอมอัดฉีดเงินกว่า 350,000 ล้านบาท เพื่อช่วยแก้วิกฤตโดยมีข้อแม้ที่ว่าจะต้องใช้ผู้บริหารคนใหม่ที่พวกเขาแต่งตั้งให้ นั่นก็คือคุณ “คาซูโอะ อินาโมริ”
เขาเป็นใคร??
เคยได้ยินชื่อแบรนด์ “เคียวเซร่า” กันรึเปล่าครับ??
ชายคนนี้คือผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ในวัย 27 ปี จนเป็นบริษัทชั้นนำ แต่ตอนนี้เขาอายุ 78 ปีแล้ว เป็นคุณจะเลือกทางไหนในช่วงอายุขนาดนี้ดูแลธุรกิจตัวเองที่สร้างอย่างดี แล้วใช้ชีวิตบั้นปลายสบายๆ หรือก้าวมารับตำแหน่งผู้บริหารในธุรกิจที่ไม่เคยทำ ท่ามกลางการตั้งคำถามของคนนอก ว่าคงเอาชื่อมาทิ้งแน่ๆ เขาเลือกรับตำแหน่ง และที่สำคัญก็คือ.. รับตำแหน่งแบบไม่เอาเงิน เพราะ
เขาจะแสดงให้เห็นว่าตั้งใจมาพลิกฟื้นกิจการ ไม่ได้ต้องการผลประโยชน์แอบแฝง
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นสายการบิน Japan Airlines
เมื่อคุณคาซูโอะเข้ามา เขาตระหนักได้ทันทีว่าองค์กรแห่งนี้กำลังมีปัญหาโดยสามารถสรุปเป็นปัญหาหลักๆ ได้ดังนี้..
1. เป็นเอกชนที่ทำตัวเหมือนข้าราชการบริษัทแห่งนี้ทำงานค่อนข้างเชื่องช้า เนื่องจากการบริหารไร้ประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนพยายามหาทางย้ายตัวเอง เพื่อมาเป็นผู้บริหารของที่นี่ เพียงเพราะเรื่องผลประโยชน์ นั่นทำให้คนบริหาร ไม่ใช้คนที่ไต่เต้ามาจากคนทำงาน
แต่เป็นคนเรียบจบจากสถาบันระดับต้นๆ และอยู่สายงานอื่นก่อนจะย้ายมา แบบนี้พวกเขาจะใส่ใจในงานด้านการบินได้อย่างไร??
2. องค์กรต้วมเตี้ยม เพราะใหญ่จนเกินไป Japan Airlines มีเครื่องบินจำนวนมาก เส้นทางการบินมาก และพนักงานมากถึง 50,000 คน ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งที่
“มากเกินไป”
ในยุคนี้หลายสายการบินเริ่มนำเครื่องเล็กลงมาให้บริการเพื่อแย่งลูกค้า และสามารถทำราคาที่ต่ำกว่าได้ ขณะที่ JAL ยังคงบริหารแบบเดิม บริการแบบเดิม ซึ่งผลลัพธ์มันก็จะเป็นอะไรแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเสียใหม่ ทำอย่างไร?? คุณคาซูโอะ เคยยอมรับว่าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจการบินมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เขามีก็คือ ปรัชญาในการทำงาน ที่ทุกคนในองค์กรต้องมีความคิดก้าวไปข้างหน้าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารแบบเขา หรือพนักงานระดับล่างก็ตาม
แต่การที่จู่ๆ จะไปปลดฝ่ายบริหารที่ทำหน้าที่ได้ไม่ถูกใจ มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะการปลดหรือเปลี่ยนโดยฉับพลัน ย่อมเกิดการต่อต้านขึ้นมา และเป็นการทำให้ตัวเขานั่นแหละที่จะถูกล้มแทน
งานนี้จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างหนัก
1. เริ่มจากปรับทัศนคติผู้บริหาร
ในช่วงเดือนแรก ผู้บริหาร 50 กว่าคน ถูกเรียกมาพบตอนเลิกงานเพื่อประชุมพิเศษ
เขาจะให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความเห็น และพูดคุยกันในเรื่องพื้นฐานมากๆ จนอาจจะไม่เกี่ยวกับธุรกิจ
อย่างเช่น
“การเป็นมนุษย์ที่ดีควรทำอย่าง!?” “การเป็นแบบอย่างผู้นำที่ดีนั้นเป็นแบบไหน!?”
รวมถึงเปิดใจกับพนักงานว่า คุณคาซูโอะเองก็ไม่ชอบขึ้นสายการบินนี้ เพราะได้ประสบการณ์ไม่ค่อยดี
ดูเหมือนพนักงานจะไม่ค่อยสนใจบริการ เอาแต่ทำตามคู่มือพอผ่านๆ จนผู้โดยสารอย่างเขารู้สึกไม่ดี เป็นต้น
ข้อมูลระบุว่าเขาเรียกคุยแบบนี้ถึง 17 ครั้งในเดือนเดียว และนั่นทำให้ผู้บริหารหลายคนได้ซึมซับปรัชญาการทำงานแบบใหม่
2. จาก 1 ขยายเป็น 10
เมื่อกลุ่มแรก 50 คนนั้นเข้าใจปรัชญาของคุณคาซูโอะ ก็เป็นหน้าที่ของกลุ่มนั้นที่จะต้องไปถ่ายทอดให้กับระดับรองลงมาอีกกว่า 200 คน ด้วยแนวคิดแบบสองทาง ก็คือเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้พูดถึงปัญหาก่อน
จากนั้นหัวหน้าก็พูดตอบโต้ปัญหานั้น ถ่ายทอดปรัชญาการทำงานแบบใหม่ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับลูกน้องไปพร้อมๆกัน นั่นจะทำให้พวกเขาคล้อยตาม และซึมซับรูปแบบการทำงานใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว
3. แบ่งการทำงานออกเป็นกลุ่มย่อย พนักงาน 50,000 คน ของบริษัทที่ไม่ทำกำไร พวกเขาก็จะทำงานของพวกเขาต่อไป
โดยการบอกว่าตัวเองทำหน้าที่ได้ดีแล้ว จากนั้นก็โทษว่าเป็นเพราะแผนกอื่นๆ ที่ทำให้บริษัทขาดทุน คุณคาซูโอะนำแนวคิดการทำงานแบบ “กลุ่มย่อย” มาใช้ มีข้อมูลว่าแบ่งหน่วยงานออกเป็น 600-700 ทีม ให้แต่ละทีมทำงานเพื่อทีมตัวเอง จัดทำรายรับรายจ่ายของทีม โดยมุ่งให้ทุกทีมสามารถทำกำไรเลี้ยงทีมตัวเองได้ การบริหารทีมย่อยๆ จึงง่ายกว่าการบริหารบริษัทใหญ่นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นมาภายในองค์กรได้อีกด้วย
4. นำมาสู่การลดพนักงาน และปรับโครงสร้างใหม่
เมื่อส่วนไหนไม่ทำกำไร แถมยังทำให้กิจการขาดทุนจนเดินหน้าต่อไม่ได้ ก็ควรตัดไปเพื่อความอยู่รอดขององค์กร มีการลดพนักงานลงถึง 30% จาก 50,000 คน เหลือเพียงราว 35,000 คน นั่นทำให้ประหยัดรายจ่ายในส่วนเงินค่าจ้างได้ถึง 32,000 ล้านบาท
ปรับเส้นทางการบินเสียใหม่ ลดจำนวนสายที่ขาดทุนเรื้อรัง ใช้งานเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และสิ่งเหล่านี้ ทำให้ Japan Airlines ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง!!
บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรได้ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี หลังจากที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง หุ้นของ JAL ก็กลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้งในปี 2012
บริษัทกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ปี 2017 ที่ผ่านมา สามารถทำรายได้ไปกว่า 389,000 ล้านบาท และมีผลกำไร 39,000 ล้านบาท ส่วนคุณคาซูโอะ ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจฝีมือเยี่ยม
ผลงานการพลิกฟื้น Japan Airlines ของเขา ก็ถูกบันทึกเป็นกรณีศึกษา และยกย่องถึงความสามารถของชายผู้นี้ไปอีกแสนนาน…
ที่มา
https://www.billionmindset.com/japan-airlines-case-study/