[บทวิเคราะห์] The Irishman
The Irishman (2019)
Genre: Crime, Drama, Biography
Runtime: 3 hr 29 min
Grade: A+
(บทวิเคราะห์นี้จะประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกจะเป็นการรีวิวโดยไม่สปอยล์ และส่วนการวิเคราะห์(มีสปอยล์)จะอยู่ในคำบรรยายใต้รูปใน
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=158452095515506&id=101693501191366)
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่านี่คือผลงานระดับมาสเตอร์พีซและอาจจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดตั้งแต่ Goodfellas (1990) ของมาร์ติน สกอร์เซซี แต่อย่างไรก็ตาม The Irishman แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ Goodfellas หรือแม้แต่ตำนานขึ้นหิ้งอย่าง The Godfather
ด้วยวัยของทั้งผู้กำกับและนักแสดงที่มากขึ้นทำให้ The Irishman คือ การให้ภาพโครงข่ายอำนาจในหมู่มาเฟียผ่านแว่นตาที่มีประสบการณ์มากขึ้น มันไม่หวือหวาเหมือน Goodfellas, Mean Street หรือ Casino ไม่ได้อัดแน่นไปด้วยการเฉือนคมระหว่างขั้วอำนาจเหมือน The Godfather แต่มันเต็มไปด้วยความสุขุมละเมียดละไมในการเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ ทั้งระหว่างมิตรศัตรู พ่อลูก เจ้านายลูกน้อง และระหว่างเพื่อน
The Irishman เล่าเรื่องราวของ แฟรงค์ เชียรัน (โรเบิร์ต เดอนิโร) อดีตทหารผ่านศึกที่วันหนึ่งระหว่างทำงานประจำเป็นคนขับรถขนของ แฟรงค์ได้พบกับ รัสเซลล์ บัฟฟาลิโน (โจ เปสซี) เจ้าพ่อมาเฟียผู้มีอิทธิพลในยุค 50' ทั้งสองเข้ากันได้เป็นอย่างดี ทำให้รัสเซลล์มองเห็นศักยภาพในตัวแฟรงค์และไม่รอช้าที่จะดึงเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
แฟรงค์ได้รับคำสั่งหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ไล่ 'เก็บ' ลูกหนี้ ไปจนถึงวางระเบิดโรงงาน แต่คำสั่งที่สำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาลคือการให้เขาไปทำงานให้กับ จิมมี่ ฮอฟฟา (อัล ปาชิโน) ประธานสหภาพคนขับรถบรรทุกในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม The Irishman ไม่ใช่หนังที่จะใจดีกับผู้ชม มันเรียกร้องความอดทนและความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของอเมริกา แน่นอนว่าระยะเวลากว่าสามชั่วโมงครึ่งคือความท้าทายทั้งต่อผู้สร้างและผู้ชม แต่ทุกๆรายละเอียดในบทสนทนา ทุกๆการแช่กล้องนิ่งๆเพืยงเพื่อให้ผู้ชมได้ซึมซับบรรยากาศของหนังเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกำกับหนังที่มีความยาวกว่าสามชั่วโมงครึ่งให้มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่วอกแวกออกนอกลู่นอกทาง แต่สกอร์เซซีก็ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่าทำไมเขาถึงยังคงประสบความสำเร็จในระดับสูงตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีในวงการ และในท้ายที่สุดแล้ว The Irishman จะตอบแทนความอดทนของผู้ชมอย่างสาสม
เช่นเดียวกับโรเบิร์ต เดอนิโร, อัล ปาชิโน และโจ เปสซี ที่ได้มอบการแสดงที่ดีที่สุดในรอบหลายปีให้แก่ผู้ชม และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ทั้งสามคงจะได้กอดคอกันเข้าชิงรางวัลออสการ์กันพร้อมหน้า ต้องขอบคุณเทคโนโลยีการลดอายุที่ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์แบบ(โดยเฉพาะกับผู้ชมที่คุ้นเคยกับการแสดงสีหน้าของทั้งสามคน) แต่มันก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตอกย้ำว่าทำไมความคิดของสกอร์เซซีที่จะไม่แคสต์นักแสดงวัยหนุ่มมาเล่นแทน คือความคิดที่ถูกต้อง
อีกจุดที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คืองานภาพของผู้กำกับภาพโรดริโก ปริเอโตที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบ wide-angle shot ที่เราเห็นตลอดทั้งเรื่องมีส่วนช่วยในการเล่าเรื่องอย่างยิ่งยวด เช่นเดียวกับงานเสียงที่ดนตรีประกอบสามารถเข้ามาสอดรับกับจังหวะของหนังได้อย่างลงตัว เฉียบคมในการใช้จังหวะผ่อนหนักผ่อนเบา จนกระทั่งเงียบสนิท และใครจะคิดว่าความเงียบในหนังเรื่องนี้ คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด
The Irishman เข้าฉายแล้ววันนี้ทาง Netflix