ข้อเท้าของโกเมซหักได้ยังไง...
เกมพรีเมียรฺ์ลีกระหว่างเอฟเวอร์ตันกับสเปอร์เมื่อคืนที่กูดิสัน พาร์ค ผลจบลงด้วยการเสมอกันไป 1-1 แต่แทบไม่มีใครสนใจสกอร์ในเกมเท่ากับจังหวะที่ ซองเฮืองมิน เข้าสกัด อันเดร โกเมซ จากด้านหลังจนเสียหลักไปปะทะกับ แซร์จ โอริเยร์ ผลออกมาคือ โกเมซข้อเท้าขวาหัก ต้องออกจากการแข่งขัน ส่วนซงโดนใบแดงออกจากสนาม
ใครยังไม่เห็นจังหวะฟาวล์สามารถดูซ้ำตรงนี้นะครับ
หลังเกมมีการถกเถียงกันมากมาย บ้างก็ว่าการให้ใบแดงกับซงนั้นรุนแรงไป เพราะเขาเข้าสกัดธรรมดา ไม่ได้เปิดปุ่มเข้ามาหรือเสียบด้วยความรุนแรง บ้างก็โทษว่าน่าจะเป็นเพราะโอริเยร์ที่เข้าปะทะเป็นคนทำให้โกเมสต้องเจ็บหนักมากกว่า วันนี้พอดีพึ่งว่างเลยจะมาอธิบายว่าข้อเท้าของอันเดร โกเมซมันหักได้ยังไง
กายวิภาคของข้อเท้า
ข้อเท้าประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น
1.กระดูกหน้าแข้งหรือ Tibia เป็นกระดูกปลายขาชิ้นใหญ่สุดที่เราคลำได้เป็นสันของลำแข้งเรานี้แหละ
2. กระดูก Fibula เป็นกระดูกปลายขาชิ้นที่เล็กกว่า อยู่ด้านนอกของข้อเท้า เป็นตุ่มที่เราคลำได้เป็นตาตุ่มด้านนอก
3 กระดูก Talus เป็นส่วนของกระดูกเท้าที่สวมเข้ากับกระดูกปลายขาทั้ง 2 ชิ้น
ทั้งสามชิ้นจะประกอบรวมกันเป็นข้อเท้า โดยมีเส้นเอ็นอีก 3 กลุ่มที่ทำหน้าที่ยึดกระดูกเหล่านี้เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย
1.เอ็นที่ยึดกระดูก Tibia เข้ากับ Fibula ทำหน้าที่ยึดให้กระดูกทั้ง 2 ชั้น ประกบกันแน่น ฟอร์มตัวเป็น "ร่องข้อเท้า" (mortise of ankle) เพื่อประกบกับกระดูก Talus ได้พอดี การบาดเจ็บของเอ็นกลุ่มนี้จะเป็นการบาดเจ็บที่ทางการแพทย์เรียกว่า High ankle sprain
2. กลุ่มเอ็นที่ยึดกระดูก Tibia กับกระดูกเท้า ประกอบด้วยเอ็นหลายเส้น ยึดกระดูก Tibia บริเวณตาตุ่มด้านในเข้ากับกระดูกหลายๆชิ้นของเท้า ทำหน้าที่ยึดไม่ให้ข้อเท้าพลิกออกด้านนอกมากเกินไป
3. กลุ่มเอ็นที่ยึดกระดูก Fibula กับกระดูกเท้า ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ข้อเท้าพลิกเข้าด้านในมากเกินไป
ซึ่งหากเกิดการบาดเจ็บกับเอ็นในกลุ่มที่ 2 และ 3 เราจะเรียกว่า Low ankle sprain
จากลักษณะทางกายภาพของข้อเท้า เราจะเห็นว่าข้อเท้าสามารถกระดกขึ้น(Dorsiflexion) และกระดกลง(Plantar flexion)ได้มาก แต่จะไม่สามารถหมุนได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นการหมุกนดเข้าใน(internal rotaion) หรือหมุนออกด้านนอก(external rotaion) เพราะมันจะติดในส่วนของกระดูกปลายขาทั้ง 2 ชิ้นที่มาประกบกันเป็นร่องอยู่
โกเมซข้อเท้าหักได้ยังไง
การบาดเจ็บของอังเดร โกเมซเมื่อคืนเป็นการหักร่วมกับการเคลื่อนของข้อเท้าขวา ซึ่งหากเรากลับไปดูจังหวะปะทะที่นำไปสู่การบาดเจ็บ แม้ว่าซงเฮืองมินจะเข้าสกัดจากด้านหลังมันก็ไม่ใช่การเสียบสกัดที่รุนแรง และแซร์จ โอริเยร์ก็เข้าสกัดที่บอล ไม่น่าจะทำให้เกิดกระดูกหักที่รุนแรงได้ แต่ทั้งหมดอธิบายได้ด้วยภาพนี้
การเข้าสกัดของซงไม่รุนแรงแต่ทำให้โกเมซเสียหลัก ปลายเท้าขวาของโกเมซปักลงที่พื้นในสภาพเข่างอ แรงจากการวิ่งยังส่งให้ตัวของเขาเคลื่อนไปด้่านหน้า แต่ปลายเท้าที่จิกพื้นทำให้ข้อเท้าขวาเกิดการหมุดออกด้านนอก (External rotation) อย่างมาก ทำให้กระดูก Talus ไปงัดกับกระดูก Tibia และ Fibula ดันให้กระดูก 2 ชิ้นนี้แยกจากกัน สิ่งที่ตามมาคือ เอ็นที่ยึดกระดูก Tibia และ Fibula เข้าด้วยกันจะฉีกขาดและหากการหมุนออกนอกยังไม่หยุดมันจะดันต่อไปจนทำให้กระดูกปลายขาหัก และกระดูก Talus หลุดจากเบ้า ซึ่งการหักในลักษณะนี้ กระดูกที่หักมักเป็นส่วนของกระดูก Fibula
โกเมซจะเป็นอย่างไรต่อไป
เราไม่ทราบรายละเอียดว่าข้อเท้าของโกเมซหักแบบไหน เป็นการหักแบบเปิดคือกระดูกทะลุออกมาด้านนอกหรือไม่ มีอะไรเสียหายบ้าง แต่จากการบาดเจ็บลักษณะนี้ การรักษากระดูกที่หักมักไม่ค่อยมีปัญหา หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเช่นการติดเชื้อกระดูกมักหายกลับมาแทบเหมือนปกติ แต่สิ่งที่จะตัดสินอนาคตการเป็นนักฟุตบอลจริงๆ คืออาการบาดเจ็บร่วมของโครงสร้างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือดในบริเวณข้อเท้า ซึ่งเรายังไม่อาจทราบรายละเอียด แต่จากการออกประกาศของทางเอฟเวอตัน ว่าการผ่าตัดของโกเมซผ่านไปได้อย่างน่าพอใจ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีความเสียหายรุนแรงแก่โครงสร้างอื่นๆของข้อเท้า
เราป้องกันการบาดเจ็บแบบนี้ได้ยังไง
ข่าวร้าย... การบาดเจ็บแบบนี้ ไม่สามารถป้องกันได้เลย ไม่ว่าคุณจะมีกล้ามเนื้อขาแข็งแกร่งขนาดไหน แต่หากคุณโชคร้าย ล้มลงผิดท่าแบบโกเมซ มันก็จะลงเอยแบบเดียวกัน การสกัดของซง มันเป็นการสกัดที่เกิดเป็นร้อยๆครั้งในเกมฟุตบอล ส่วนใหญ่มันจะจบลงที่ฟาวล์และใบเหลืองแล้วเกมก็ดำเนินต่อ แต่อังเดร โกเมซ ก็แค่โชคร้าย
แก้ไขล่าสุดโดย Call down the thunder เมื่อ Tue Nov 05, 2019 01:27, ทั้งหมด 2 ครั้ง