กำเนิดดาวรุ่ง
Status:
: 0 ใบ
: 0 ใบ
เข้าร่วม: 26 Dec 2009
ตอบ: 1857
ที่อยู่: Castle Black
โพสเมื่อ: Thu Oct 24, 2019 00:55
[RE: เทปูนกันหญ้าขึ้น จำเป็นต้องปรับระดับพื้นไหม]
เห็นด้วยกับแนวคิดท่านที่เป็นสถาปนิกนะครับ ดูสวยงามดีด้วย
แต่ถ้าในมุมมอง ผรม. อย่างผมนะ ผมไม่ได้ดูเรื่องความสวยงามหรือฟังก์ชั่นการใช้งานเท่าใดนัก โดยมี condition คือ
- พื้นที่ที่จะเทคอนกรีตทับ ไม่ได้ถูกใช้งานอะไรอยู่แล้ว ทั้งในแง่การรับน้ำหนัก เช่น เอารถไปจอด หรือ ในแง่การเทปรับหน้าเรียบให้ดูดี
เพื่อประโยชน์ใช้งานอื่นๆ มาทดแทนพื้นที่สนามหญ้า เช่นทำเป็นลานเอนกประสงค์ ถ้าเป็นกรณีนี้แนะนำว่าเป็นเทคอนกรีตดาด เพียวๆ
ไม่ต้องวาง Wire Mesh หรือ ปรับหน้าดินเดิมใดๆ เทหนาซักประมาณ 5 ซม. ก็เพียงพอ ใช้คอนกรีตกำลังอัด 180 ksc.Cube หรือเทียบเท่า 140 ksc.Cylinder
หรือถ้าใช้เป็น Lean Concrete (ลีนคอนกรีต = คอนกรีตรองพื้น) ก็ได้จะยิ่งได้ราคา บาท/คิว ที่ถูกลง
อาจจะจ้างคนมาปาดเรียบด้วยสามเหลี่ยมซักหน่อยเพื่อให้ดูดี อันนี้แล้วแต่ ไม่ปาดผมว่าก็ไม่แย่นะ ถ้าไม่ได้ใช้งานอะไรอยู่แล้ว
เทหนาแค่ 5 ซม. เวลาทุบทำลายก็เอาแบ็คโฮขนาดประมาณ PC-50 ขึ้นไป มาเดินๆ เหยียบๆ
หรือใช้มือแบ็คโฮจิกซักหน่อยก็แตกแล้วเพราะไม่ได้เสริมเหล็กไว้
- กรณีที่จะเอาไว้จอดรถบ้าง หรือ ต้องการความแข็งแรงซักหน่อย ควรมีการปรับระดับดินเดิมให้เรียบก่อน อาจจะด้วยการเกลี่ยทรายหยาบให้ทั่วบริเวณ
เพราะทรายจะช่วยอุดร่องรูที่เป็นหลุมเป็นบ่อให้หน้าดินเสมอกัน หรือมีทุนทรัพย์ก็หาเช่ารถแบ็คโฮมาวิ่งบดซัก 1/2 วัน ช่วงที่บดให้สเปรย์น้ำด้วย
หรือจะเช่าเต็มวันไว้เผื่อเอามาเทปูนด้วยเลยก็ได้ แล้วจึงวาง Wire Mesh ขนาด 4 มม. @ 0.20 ม. พยายามหาอะไรรองท้อง Wire Mesh
ให้เมื่อเทคอนกรีตแล้ว Wire Mesh อยู่ชิดผิวบนของคอนกรีต (ผิวที่เราเหยียบ) ต่ำกว่าผิวบนของคอนกรีตซักประมาณ 2-3 ซม.
(ปกติก็ทำลูกปูนน่ะแหละ แต่ถ้าเอาง่ายๆนะ ตัดท่อ PVC มารองก็ได้ครับ แต่เปลืองค่าท่อหน่อยถ้าพื้นที่กว้าง)
เทคอนกรีตหนา 10 ซม. (หรือ 7.5 ซม. เป็นอย่างน้อย) กำลังอัด 210 ksc.Cube หรือเทียบเท่า 240 ksc.Cylinder
สำคัญคือควรมีการกรีดร่องแบ่ง joint ทุก 4-5 ม. (เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็ได้ เพื่อความง่าย) เพื่อป้องกันการแตกร้าวที่ Joint ลามไปทั่วแผ่น
แต่กรณีนี้เมื่อจะทุบทำลายทีหลังอาจจะเสียเวลา หรือ เสียค่าใช้จ่ายซักหน่อย เวลาทุบทำลายก็น่าจะใช้บริการรถแบ็คโฮจะสะดวกกว่า
อย่างจังหวัดที่ผมอยู่ PC-50 น่าจะตกวันละ 8,000 บ.
ปัจจัยที่มีผลให้การทุบทำลายคอนกรีตเป็นไปได้ยากคือ
1. ความหนาของพื้นที่เราเท ยิ่งหนา ยิ่งทุบทำลายลำบาก
2. กำลังอัดของคอนกรีตที่ใช้ ยิ่งใช้กำลังอัดสูง ยิ่งทุบทำลายลำบาก
3. การเสริมเหล็ก ถ้ามีการเสริมเหล็ก เหล็กเป็นตัวช่วยรับแรงดึงที่เกิดขึ้นในคอนกรีตจากแรงกระทำภายนอก
โดยคุณสมบัติของวัสดุคอนกรีตรับแรงอัดได้ดี แต่ด้อยเรื่องการรับแรงดึง จึงมีการเสริมเหล็กเพื่อไปช่วยรับแรงดึง
แต่ในกรณีของพื้นวางบนดิน การเสริมเหล็กให้ชิดผิวบนตามที่ว่าไปข้างต้น มีไว้เพื่อป้องกันการแตกร้าวของผิวหน้า
จากผลของการยืดหดที่ไม่เท่ากันอันเนื่องมาจากความแตกต่างของอุณหภูมิของผิวคอนกรีตด้านที่อยู่ติดดินกับด้านที่โดนแดด
ด้านที่โดนแดดจะมีอัตราการขยายตัวมากกว่า
แต่การเสริมเหล็กก็มีส่วนทำให้พื้นคอนกรีตของเราแข็งแรงขึ้นด้วยเมื่อรับแรงกระทำภายนอกจึงทำให้ทุบทำลายได้ยากกว่าแบบไม่เสริมเหล็ก ที่เป็นคอนกรีตเพียวๆ
ในแง่การทุบทำลาย เมื่อต้องการจะสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องขนออกนอกพื้นที่ก่อสร้าง
(ถ้าปริมาณไม่ได้เยอะ และ ไม่ได้มีขนาดใหญ่เกินไป) ใช้ไว้เป็นวัสดุมวลรวมหยาบรองพื้นฐานรากก่อนเทฐานรากก็ได้
เพื่อประหยัดค่าทรายหยาบหรือหินคลุกในการก่อสร้างรองพื้นฐานราก แต่ถ้าเยอะก็จ้างแบ็คโฮ, หกล้อขนออกไปหาที่ทิ้งเถอะ จะได้ก่อสร้างได้สะดวก
ปัจจัยที่อาจจะทำให้พื้นคอนกรีตวางบนดินของเราสึกหรอ ชำรุด ก่อนเวลาอันควร อาจไม่ถึงขั้นใช้งานไม่ได้
(ใช้งานในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงการใช้งานรับน้ำหนักมากมาย เพราะไม่ได้มีการคำนวณโครงสร้าง
เป็นแค่การนำคอนกรีตมาเทบล็อกหญ้าไว้แค่นั้น แต่หมายถึงในแง่การใช้งานทั่วไป เช่นถ้าชำรุดแล้วอาจเป็นฝุ่นผงปลิดปลิวก่อให้เกิดความรำคาญ)
1. พื้นดินเดิมไม่เรียบ หรือ เป็นหลุมเป็นบ่อมากเกินไป แต่ถ้าพื้นดินเดิมแน่นดีแล้ว ไม่ใช่ดินถมใหม่ ก็มักไม่ค่อยเกิดปัญหาการชำรุดสึกหรอก่อนเวลาอันควร
2. พื้นดินเดิมเป็นดินถมใหม่ ผ่านมาแค่ฝนเดียว (1 ปี) ถ้าใช้งานทั่วไป ไม่ได้เอารถมาจอดก็ได้อยู่
เพราะเวลาทุดมันทรุดลงทั้งแผ่นเท่าๆ กัน การทรุดตัวที่ไม่เท่ากันต่างหากที่ก่อให้เกิดการแตกร้าว
3. การไม่ได้ตัด Joint
ปล.I พ่นยาฆ่าหญ้าก่อนทำงานตรงนี้ทิ้งไว้ซัก 3 วัน หรือ อาทิตย์นึงก็ดี จะได้แก้ปัญหาเรื่องหญ้าได้ชัวร์กว่า
ปล.II เผื่อไว้คิดต้นทุน
- ราคาคอนกรีตทั่วไปตามที่แจ้งไปข้างต้นก็น่าจะประมาณ 1,200-1,500 บ./คิว (คิวปูนที่ต้องใช้ คิดจาก กว้างxยาวxความหนาเท ในหน่วยเป็นเมตร)
- ราคา Wire Mesh ทั่วไปขนาดตามที่แจ้งไปข้างต้น น่าจะประมาณ 25-30 บ./ตร.ม. (ตร.ม. = กว้างxยาว ในหน่วยเมตร ของพื้นที่ที่เราจะเทคอนกรีต)
- ราคาเครื่องจักร อันนี้อาจจะแตกต่างตามแต่ละจังหวัด ที่ผมใช้อยู่ 8,000-10,000 บ./วัน ขึ้นกับขนาดของเครื่องจักร
- ค่าแรงคนงาน ถ้าไม่รู้จักใคร ไม่มีลูกน้องเป็นช่างหรือกรรมกร ตีเผื่อๆ ไปหน่อย ตกวันละ 500 บ./คน
ราคาที่แจ้งไปเป็นราคางานรับเหมาก่อสร้าง ท่านซื้อเองไม่ได้มี Volume นักอาจจะราคาแพงกว่านี้ ไม่ต้องตกใจครับ เรื่องปกติ
แก้ไขล่าสุดโดย Cannavaro. เมื่อ Thu Oct 24, 2019 01:04, ทั้งหมด 2 ครั้ง