(BBC) นักวิจัยญี่ปุ่นเดินหน้าปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดของมนุษย์เข้าไปในหนู
รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติให้นักวิทยาศาสตร์ทดลองเลี้ยงตัวอ่อนสัตว์ที่มีอวัยวะบางส่วนเป็นเซลล์ของมนุษย์ได้แล้ว หลังจากที่สั่งระงับไปเมื่อหลายปีก่อน โดยคราวนี้ได้เห็นชอบให้ตัวอ่อน "ครึ่งคนครึ่งสัตว์" สามารถเติบโตจนครบกำหนดคลอดและลืมตาดูโลกได้ด้วย
หลังจากที่ต้องรอคอยมาเป็นเวลานานกว่าสิบปี ในที่สุดทางการญี่ปุ่นก็ได้อนุมัติให้ ดร.ฮิโรมิซึ นากาอุจิ นักวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียวและมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ เดินหน้าทำการทดลองปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากมนุษย์เข้าไปในตัวอ่อนของหนูได้ เพื่อหาหนทางสร้างอวัยวะอะไหล่ที่มีคุณภาพสำหรับการรักษาโรคในมนุษย์
ก่อนหน้านี้ การทดลองในลักษณะดังกล่าวถูกทางการญี่ปุ่นสั่งระงับไปในปี 2014 ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์ทางจริยธรรม เนื่องจากหมิ่นเหม่ต่อการสร้างสิ่งมีชีวิตที่เป็นทั้งคนและสัตว์ขึ้นมา ในหลายประเทศทั่วโลกได้สั่งห้ามทำการทดลองนี้เช่นกัน บางแห่งอนุญาตเพียงให้ตัวอ่อนเติบโตได้ระยะหนึ่งก่อนจะต้องทำลายทิ้ง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นได้ประกาศให้การทดลองดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งอนุญาตให้ปลูกถ่ายตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งสัตว์ไปไว้ในครรภ์ของสัตว์ที่เป็นแม่อุ้มบุญ จนเติบโตครบตามกำหนดและคลอดออกมาได้อีกด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า สิ่งมีชีวิตที่เกิดมาจะต้องมีเซลล์สมองที่เป็นเซลล์ของมนุษย์ไม่เกิน 30% เท่านั้น
ดร. นากาอุจิ กล่าวกับหนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นว่า "เพื่อความเข้าใจอันดีและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับสาธารณชน เราจะยังไม่เดินหน้าสร้างตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งสัตว์ให้ได้ในทันที แต่จะทำการวิจัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสานต่องานที่ทิ้งค้างไว้เมื่อหลายปีก่อนเป็นอันดับแรก"
จะมีการใช้เซลล์ต้นกำเนิดชนิด IPS จากมนุษย์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ถูกทำให้มีศักยภาพในการเติบโตเป็นอวัยวะได้หลากหลายประเภท โดยฉีดเข้าไปในตัวอ่อนของหนูที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมจนไม่สามารถสร้างตับอ่อนของตัวเองได้ ทีมวิจัยของ ดร.นากาอุจิคาดว่า ตัวอ่อนหนูจะนำเซลล์ต้นกำเนิดของมนุษย์ไปใช้ และสร้างตับอ่อนที่เป็นเซลล์ของมนุษย์ขึ้นแทนที่ในร่างกาย
หนูทดลองตัวนี้ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สมองจากมนุษย์ ทำให้มีความฉลาดสูงขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการทดลองสร้างตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งสัตว์หลายครั้งกับสัตว์หลากหลายชนิด เช่น หมู แกะ และไก่ โดยมีเป้าหมายในการผลิตอวัยวะอะไหล่เพื่อใช้รักษาโรคในมนุษย์เช่นกัน แต่ปัญหาทางจริยธรรมที่กังวลกันก็คือ อาจไม่สามารถควบคุมสัดส่วนการแพร่กระจายและลักษณะการเติบโตของเซลล์มนุษย์ในตัวอ่อนสัตว์ได้ ทั้งยังมีคำถามว่าหากสมองของตัวอ่อนมีเซลล์มนุษย์ในสัดส่วนสูง จะถือว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีความเป็นมนุษย์สูงตามไปด้วยหรือไม่
ดร. นากาอุจิให้คำมั่นว่า "เราจะพยายามเพื่อให้มั่นใจได้ว่า เซลล์มนุษย์จะคงอยู่ในตัวสัตว์เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ไม่มีการถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลานรุ่นหลัง และเทคนิคพิเศษที่เราใช้จะควบคุมให้เกิดการสร้างอวัยวะที่ต้องการเท่านั้น หากมีเซลล์ของมนุษย์ไปพัฒนาขึ้นที่สมองของตัวอ่อนสัตว์เกิน 30% เราจะหยุดการทดลองทันที"
ข่าวจาก BBC THAI
https://www.bbc.com/thai/thailand-49162106?ocid=socialflow_facebook&fbclid=IwAR3qtzOuToLjxR6JvEBFQTv-gWCCT7yDGin7lM_50SQHgRKao5Gj4XajzzE