ระบบเตือนภัยสึนามิไทยร้อยละ 80 ใช้งานไม่ได้
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ขณะนี้ระบบเตือนภัยสึนามิของไทยร้อยละ 80 ไม่สามารถใช้งานได้และต้องการการซ่อมบำรุงอย่างเร่งด่วน โดยหลังจากเหตุสึนามิครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตคนในไทยกว่า 5,000 รายเมื่อปี 2004 ระบบเตือนภัยสึนามิในไทยมีปัญหาขาดการซ่อมบำรุงและใช้งานไม่ได้บ่อยครั้ง แม้เมื่อปี 2012 ทางการไทยจะออกมาประกาศว่า ไทยมีระบบป้องกันสึนามิที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม
..:: สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานโดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของนายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งออกมาเปิดเผยว่า
ขณะนี้ร้อยละ 70-80 ของอุปกรณ์เตือนภัยสึนามิกว่า 2,000 ชิ้นของไทยจำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุงอย่างเร่งด่วน พร้อมยกตัวอย่างว่าขณะนี้ หอเตือนภัยถึง 5 แห่งจาก 8 แห่งในจังหวัดพังงาไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนที่จังหวัดภูเก็ตมีหอเตือนภัย 11 แห่งจากทั้งหมด 19 แห่งที่ไม่สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์อีกหลายชิ้นที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแบตเตอรีอย่างเร่งด่วน
..:: อย่างไรก็ตาม นายกอบชัยยืนยันว่า แม้จะมีอุปกรณ์บางชิ้นที่ได้รับความเสียหาย แต่ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชื่อว่า อุปกรณ์ที่เสียหายมีจำนวนไม่มาก
..:: เมื่อเดือนธันวาคมปี 2012 หรือ 8 ปี หลังเกิดเหตุสึนามิ นาวาเอกสอง เอกมหาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานเตือนภัยและเผยแพร่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกมาประกาศว่า ประเทศไทยมีระบบการเตือนภัยสึนามิที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในภาคใต้มีทุ่นตรวจสึนามิ 3 จุด เป็นทุ่นตรวจสึนามิในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 จุด และทุ่นตรวจสึนามิใกล้ชายฝั่ง 2 จุด โดยทุ่นตรวจสึนามิเหล่านี้จะสามารถคำนวณความเร็วและระยะเวลาที่สึนามิจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งได้ และใช้เวลาประมาณ 2 นาทีในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมายังเครื่องรับสัญญาณ จากนั้น เจ้าหน้าที่จะสามารถประกาศเตือนภัยสึนามิผ่านทางหอเตือนภัยทั้ง 136 แห่งในภาคใต้ได้ภายในเวลา 15 นาที
..:: อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายปี 2014 สำนักข่าว
ซิดนีย์ มอร์นิง ฮีรัลด์ ของออสเตรเลียกลับรายงานว่า
ทุ่นตรวจสึนามิในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 2 จุดไม่สามารถใช้งานได้ ขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของไทยก็ออกมายอมรับว่า ช่องสัญญาณดาวเทียมที่ทางกรมฯได้เช่าเอาไว้ เพื่อใช้ในการส่งสัญญาณเตือนภัยสึนามิจากทุ่นตรวจสึนามิ หมดสัญญาไปตั้งแต่เมื่อปี 2013 และจนถึงปลายปี 2014 ก็ยังไม่มีการต่อสัญญาแต่อย่างใด
..:: โดยซิดนีย์ มอร์นิง ฮีรัลด์ ยังรายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนาวาเอกสอง ที่ระบุว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้นกำลังพยายามจัดซื้อทุ่นตรวจสึนามิชุดใหม่ให้ได้ภายในปี 2015 และจะมีการติดตั้งหอเตือนภัยเพิ่มอีก 40 จุด อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นนายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัญหาการคอรัปชั่นและการลดสเป็กอุปกรณ์ทำให้ระบบเตือนภัยสึนามิของไทยไม่ได้มาตรฐานสากล
..:: ขณะที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 เว็บไซต์
ภูเก็ตนิวส์ได้รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรวิทยา ซึ่งออกมาเปิดเผยว่า
ทุ่นตรวจสึนามิในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่สามารถส่งสัญญาณได้เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว เนื่องจากแบตเตอรีหมด และทางการไทยจะไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแบตเตอรีได้จนกว่าจะหมดฤดูมรสุมในเดือนพฤศจิกายน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในครั้งนั้นระบบเตือนภัยสึนามิของไทยไม่สามารถใช้งานได้เป็นเวลาอย่างน้อย 8 เดือน
..:: นอกจากนี้ ผู้สำนักข่าวภูเก็ตนิวส์ยังระบุอีกว่า ทุ่นตรวจสึนามิแต่ละทุ่นมีราคาสูงถึง 20 ล้านบาท และทุ่นตรวจสึนามิเหล่านี้ มีอายุการใช้งานเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องมีการบำรุงรักษา และเปลี่ยนทุ่นอย่างสม่ำเสมอ
..:: อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคมปี 2014 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากที่ทางการไทยเคยประกาศว่าระบบเตือนภัยสึนามิของไทยดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าว
ภูเก็ตหวานรายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในขณะนั้น ที่ระบุว่า เพียง 4 เดือนหลังจากการติดตั้งทุ่นตรวจสึนามิในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางการไทยพบว่าทุ่นตรวจสึนามิได้ลอยออกจากตำแหน่งที่ถูกติดตั้งอย่างผิดธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าเกิดจากเรือประมงขนาดใหญ่ หรือเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไปเกี่ยวและลากทุ่นดังกล่าวจนหลุดออกจากตำแหน่ง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Voice TV
ติดตามข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ (ย้อนหลัง) ได้ที่ Germanicas 