เจาะลึกการบริจาคเลือด กับสตาร์ทอัพ DONORA
การบริจาคเลือดเป็นสิ่งที่ดี เป็นการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า เลือดที่บริจาคไปใช้ได้หรือไม่ ได้ถูกนำไปใช้หรือเปล่า ทำไมหลายครั้งประกาศว่าเลือดขาดแคลน แต่บางครั้งไปบริจาคกลับบอกว่า เต็มแล้วไม่สามารถรับเพิ่มได้ สรุปแล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ระบบรับบริจาคเลือด ที่ต้องเร่งพัฒนา
..:: ดำรง สังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วันทูโกลด์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาระบบการจัดการการบริจาคเลือด DONORA บอกว่า จากประสบการณ์ในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์หลายสิบปี และเคยทำงานอยู่โรงพยาบาลกว่า 12 ปี ทำให้เข้าใจระบบการรับบริจาคเลือดของไทย (รวมถึงอีกหลายประเทศ) ที่ต้องเร่งพัฒนา
..:: จากข้อมูล WHO ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากนามีเบีย) เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็แสดงว่ามีความต้องการเลือด ยังไม่นับรวมการผ่าตัดอื่นๆ แต่ทุกวันนี้การบริจาคเลือดก็ยังไม่เพียงพอ แต่บางครั้งการบริจาคเลือดก็เกิน เพราะธนาคารเลือดของหน่วยแพทย์แต่ละสังกัดขาดการสื่อสารกัน และบางครั้งหน่วยแพทย์ในสังกัดเดียวกันก็ไม่สื่อสารกันด้วย
..:: ดำรง สังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วันทูโกลด์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด
หน่วยแพทย์ (โรงพยาบาล สถานพยาบาล) ในไทยแบ่งเป็น 3 สังกัดหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข (สภากาชาดไทย) ได้แก่ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ, กระทรวงกลาโหม เช่น โรงพยาบาลภูมิพล และทบวงมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น
..:: ดังนั้น เมื่อธนาคารเลือด (เป็นหน่วยที่ดูแลรักษาเลือด) ของหน่วยแพทย์จาก 3 สังกัดไม่สื่อสารกัน เลือดที่มีอยู่จึงไม่ส่งผ่านกันระหว่างหน่วยงาน ยิ่งกว่านั้นในระหว่างโรงพยาบาล (สังกัดเดียวกัน) ก็ไม่สื่อสารกัน เพราะต่างต้องการเก็บเลือดไว้ใช้เองมากกว่า (เว้นแต่มีการร้องขอ อาจแบ่งให้กันได้บ้าง)
..:: จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าไปโรงพยาบาลหนึ่งเลือดอาจจะขาดในบางกลุ่ม แต่อีกโรงพยาบาลเลือดกลุ่มเดียวกันอาจจะเกินความต้องการ ไม่สามารถจัดเก็บเพิ่มได้ (เพราะจัดเก็บเลือดมีค่าใช้จ่ายสูง)
สาเหตุของการขาดแคลนเลือด มีรายละเอียดกว่าที่คิด
..:: ปัญหาการขาดแคลนเลือด เริ่มตั้งแต่ประเทศไทยมีกลุ่มเลือด 8 กลุ่ม คือ A, B, O และ AB โดยทั้งหมดยังแบ่งเป็น Rh+ และ Rh- จึงเท่ากับ 8 กลุ่มเลือด และประชากรแต่ละภูมิภาค ก็จะมีกลุ่มเลือดหลักที่แตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือมีกลุ่มเลือด A เป็นหลัก ภาคกลางมีกลุ่มเลือด B เป็นหลัก ดังนั้นจึงมีโอกาสขาดแคลนในกลุ่มเลือดอื่นๆ
..:: นอกจากนี้ ประชากรที่มาจากแต่ละภูมิภาคของโลก (อเมริกา, ยุโรป, แอฟริกา และ เอเชีย) ก็มีลักษณะของเลือดที่แตกต่างกัน และใช้ร่วมกันไม่ได้ (ทั้งกลุ่มเลือดที่แตกต่างและขนาดเม็ดเลือดต่างกัน)
..:: อีกทั้ง การบริจาคเลือดยังมีค่าใช้จ่ายที่ผู้บริจาคไม่เคยรู้ ประกอบด้วยเวชภัณฑ์ เช่น ถุงเลือด ที่ต้องสั่งซื้อพิเศษ มีคนสั่งซื้อหลักคือ สภากาชาดไทย และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจสอบคุณภาพเลือด (การรับบริจาค จะเก็บเลือดใส่หลอดเล็กๆ ไปตรวจสอบ) มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,400 บาท เพื่อดูว่า เลือดในถุงนี้ใช้ได้หรือไม่ มีปัญหาติดเชื้อ ไม่มีคุณภาพ ฯลฯ ซึ่งหากเลือดใช้ไม่ได้ ต้องทำลายทิ้งเท่านั้น (มีต้นทุนการทำลายด้วย)
..:: และต่อให้เป็นเลือดที่ดี ใช้ประโยชน์ได้ เลือดถุงนั้นก็มีอายุ 3 เดือน ถ้าครบ 3 เดือนและยังไม่ใช้ ก็ต้องทำลายทิ้งเช่นเดียวกัน
..:: สำหรับคนที่บริจาคเลือด หรือเคยบริจาค ตามปกติต้องได้รับจดหมายแจ้งว่าผลการตรวจสอบเลือดที่บริจาคไปว่า สามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ แต่มีผู้บริจาคจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้รับจดหมายแจ้ง จึงไม่เคยรู้เลยว่า เลือดที่บริจาคไปใช้งานได้หรือไม่
DONORA ระบบบริหารจัดการ การบริจาคเลือด
..:: ด้วยประสบการณ์ในโรงพยาบาลกว่า 12 ปี Donora จึงพัฒนาระบบบริหารจัดการเลือด โดยมี 2 ส่วนหลักเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ผู้บริจาค (คนทั่วไป และรวมถึงบริษัทเอกชนที่ต้องการทำ CSR) และผู้รับบริจาค เช่น โรงพยาบาล และ สภากาชาดไทย
..:: ส่วนของผู้รับบริจาคได้พัฒนาเป็น แอปพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน ทั้ง iOS และ Android เพื่อรับข้อมูลการบริจาคเลือด จองวันบริจาค แจ้งเตือน หรือถ้าเป็นบริษัทเอกชน สามารถทำเป็น CSR นัดหมายพนักงานในบริษัทมาบริจาคเลือดได้
..:: ส่วนสำคัญคือ ทำให้มีข้อมูลว่า มีจำนวนผู้บริจาคจำนวนเท่าไร มีเลือดกลุ่มต่างๆ อย่างไรในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบริจาคและรับบริจาคอย่างเหมาะสม
..:: ส่วนผู้รับบริจาค แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ จุดรับบริจาค เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล และ ธนาคารเลือด บริหารจัดการเลือดที่อยู่ในคลัง ทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกันอย่างถูกต้อง
คว้ารางวัล SME Thailand Inno Award เริ่มใช้งานจริงโรงพยาบาลสระบุรี
..:: การจะให้โรงพยาบาล หรือ สภากาชาดไทย เปลี่ยนมาใช้ระบบ DONORA ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรื่องเลือด เป็นเรื่องที่ผิดพลาดไม่ได้ ดังนั้น DONORA ต้องพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพจริง
โดยเริ่มต้นใช้งานที่โรงพยาบาลสระบุรีเป็นต้นแบบ และกำลังขยายไปที่จังหวัดปราจีนบุรี และ นครนายก ซึ่งถือเป็น 3 จังหวัดที่มีการเดินทางสูง
..:: เริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อให้ข้อมูลและเชิญชวนคนมาบริจาคเลือด อย่างน้อยที่สุดช่วยลดการจัดการเรื่องการแจ้งข้อมูลให้ผู้บริจาคเกี่ยวกับคุณภาพของเลือดที่มาบริจาค และช่วยวางคิวคนที่ต้องการมาบริจาคในแต่ละวันทำให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น
..:: สำหรับโรงพยาบาลสระบุรี กำลังเริ่มใช้ระบบบริหารจัดการภายใน โดยเริ่มจากจุดรับบริจาคเลือดก่อน เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดเชื่อมต่อกันได้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ
..:: ทั้งหมดถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างโอกาสในการมีชีวิตรอดของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มต้นการรับบริจาคเลือดไปจนถึงการนำไปใช้ขึ้นเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยจนได้รับรางวัล
SME Thailand Inno Awards 2016 สาขาโดดเด่นด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์
สรุป
..:: การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าถ้าทำได้สำเร็จจะเปลี่ยนโฉมการบริจาคเลือดในประเทศไทยทั้งหมด ใครที่เคยบริจาคเลือดที่ต่างจังหวัด จะรู้ว่าหากเปลี่ยนที่บริจาคจะไม่มีการนับจำนวนครั้งให้เพราะข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน ต่อไปถ้าทุกข้อมูลเชื่อมถึงกันหมด ผู้บริจาคเลือดอาจได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น เช่น การลดหย่อนภาษีรายปี และเลือดที่บริจาคไปจะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการวิจัย ไม่ต้องรอให้เลือดหมดอายุ 3 เดือนอีกต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Brand Inside
ติดตามข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ (ย้อนหลัง) ได้ที่ Germanicas 