เมื่อจัณฑาลท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
เมื่อจัณฑาลท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย แม้จะเป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนในฐานะประมุขของประเทศ
เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในการลงมติเลือกประธานาธิบดีอินเดียที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรฏาคมที่จะถึงนี้ คู่ท้าชิงตำแหน่งดังกล่าวคือ ราม นาธ โกวินด์ (Ram Nath Kovind) และ Meira Kumar (มีรา กุมาร) ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มฑลิต (Dalit) หรือที่คนไทยรู้จักกันว่ากลุ่มจัณฑาลนั่นเอง
ราม นาธ โกวินด์ ตัวแทนจากพรรคภารติยะชนตะ ซี่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันนั้น อดีตเคยเป็นทนาย ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรีอินเดีย สมาชิกรัฐสภา และล่าสุดผู้ว่าการรัฐพิหาร ด้วยมาจากชนชั้นล่างหรือจัณฑาลของอินเดีย โกวินด์ถูกเลือกให้เป็นประธานกลุ่มวรรณะล้าหลังและกลุ่มชาติพันธุ์ระดับชาติของพรรค ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีโมดิจึงเสนอชื่อของเขาให้ก้าวขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนยากจนและคนชายขอบ (1)
ด้านพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างคองเกรสแห่งอินเดีย ได้มีมติส่ง มีรา กุมาร อดีตนักการทูต โฆษกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกโลกสภา ลงสนามแข่งขันในครั้งนี้ ซี่งอาจเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคคองเกรสในการเสนอชื่อมีรา เนื่องจากเธอเป็นทั้ง 'ผู้หญิง' และ 'จัณฑาล' ซี่งมาจากครอบครัวผู้นำชนชั้นล่างและนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของอินเดีย (2)
เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าจุดดึงดูดของทั้งสองคือการเป็นผู้แทนฑลิต ซี่งต่างฝ่ายต่างงัดผลงานและความสามารถออกมาประชัน ในขณะที่สื่อฝั่งพรรครัฐบาลอย่างภารติยะชนะ ได้เน้นจุดขาย โกวินด์ในฐานะผู้ให้ความสำคัญต่อการสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานและการศึกษาสำหรับชนบท รวมถึงการเป็นกรรมาธิการของรัฐสภาในสาขาสวัสดิการของชนชั้นล่าง ความยุติธรรมทางสังคม และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต (3)
แต่ผู้ท้าชิงจากพรรคคองเกรสอย่างมีรา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นวรรณะอย่างน่าสนใจว่า
'…ในหลายครั้ง ว่าที่ประธานาธิบดีมาจากชนชั้นสูง ซี่งมักจะไม่มีใครพูดถึงวรรณะของพวกเขา เพราะข้อถกเถียงมักเน้นที่คุณสมบัติและความสามารถ แต่ครั้นเมื่อทลิต (Dalit-จัณฑาล) แข่งขันกัน กลายเป็นว่าสังคมกลับละเลยเรื่องความสามารถ แต่กลับพูดถึงแต่เรื่องวรรณะแทน...เราควรยุติเรื่องวรรณะและสังคมควรก้าวไปข้างหน้าเสียที (4)'
อย่างไรก็ดีแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ใช้ประเด็นวรรณะเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง โดยชูว่าที่ประธานาธิบดีจากชุมชนทลิตหรือจัณฑาล ซี่งวิธีการดังกล่าวอาจเป็นเพียงหลุมพรางทางการเมืองเพื่อนำไปสู่ชัยชนะเพียงเท่านั้น อีกทั้งในอดีตอินเดียก็เคยมีจัณฑาลเป็นประมุขของประเทศมาแล้ว คู่ท้าชิงทั้งสองจึงมิใช่เรื่องแปลกใหม่ในประเทศแห่งนี้แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทั้งโกวินด์และมีราต่างเป็นผู้สมัครชั้นดีที่มีทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ ความสามารถและหน้าที่การงานที่เหมาะสม สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดียซี่ง ดร.อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้ร่างกฏหมายสูงสุดของประเทศได้ปลูกหลักความเสมอภาคของมนุษย์เอาไว้ตั้งแต่ปี 1950 และบัดนี้ผลแห่งความยุติธรรมทางสังคมได้ออกดอกงอกเงยผ่านระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของจัณฑาลและวรรณะล่างอย่างชัดเจน
ไม่ว่าผลการลงมติจะเป็นอย่างไรนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า 17 กรกฏาคมนี้ อินเดียจะมีจัณฑาลเป็นประธานาธิบดีอย่างแน่นอน
ปิยณัฐ สร้อยคำ
นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ สกอตแลนด์
อ้างอิง
(1)
http://www.hindustantimes.com/india-news/ram-nath-kovind-the-man-who-could-be-india-s-next-president/story-NSo2gbwrBZSMmzv8HxLZJM.html
(2)
http://www.dailyo.in/politics/meira-kumar-ram-nath-kovind-president-election-bjp-congress/story/1/17963.html
(3)
http://www.thehindu.com/news/national/who-is-ram-nath-kovind/article19103006.ece
(4)
http://timesofindia.indiatimes.com/india/with-sonia-gandhi-by-her-side-meira-kumar-files-nomination-for-presidential-election/articleshow/59349509.cms