พบอีก “ซูเปอร์เอิร์ธ” นอกระบบอยู่ในข่ายอาจจะมีสิ่งมีชีวิต
นักดาราศาสตร์ประกาศการค้นพบ “ซูเปอร์เอิร์ธ” ที่นอกระบบสุริยะ และโคจรรอบดาวฤกษ์ในระยะที่มีหวังจะมีสิ่งมีชีวิต และอยู่ห่างจากโลกเพียง 40 ปีแสง
..:: ดาวเคราะห์แอลเอชเอส 1140บี (LHS 1140b) เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 40 ปีแสง และโคจรห่างจากดาวฤกษ์ดวงแม่ในขอบเขตที่เรียกว่า “โกลดิล็อคส์” (Goldilocks) อ้างตามรายงานจากเอเอฟพี
..:: ขอบเขตดังกล่าวเป็นระยะห่างจากดาวฤกษ์ใจกลางระบบที่มีอุณหภูมิไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป และหากมีน้ำซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนดาวเคราะห์ในขอบเขตดังกล่าว น้ำจะปรากฏในรูปของเหลว ไม่แข็งเป็นน้ำแข็งหรือเป็นแค่ไอน้ำ
..:: แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการค้นพบดาวเคราะห์ในระยะดังกล่าวมาบ้าง แต่การค้นพบดาวเคราะห์ LHS 1140b นับว่ามีความพิเศษด้วยตำแหน่งของดาวเคราะห์ดวงนี้
โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นี้ด้วยเทคนิควิเคราะห์ขณะดาวเคราะห์ผ่านหน้า (transit) ดาวฤกษ์ในระบบ
..:: การเปลี่ยนแปลงของความสว่างจากดาวฤกษ์เพียงไม่กี่นาทีขณะที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ผ่านหน้านั้น ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่ผ่านหน้าได้อย่างคร่าวๆ ในกรณีของดาวเคราะห์ LHS 1140b นี้มีคาบโคจรเพียง 25 วัน และสามารถเห็นดาวเคราะห์ได้ในตำแหน่งตั้งฉากกับโลก
..:: จากคาบโคจรสั้นๆ นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พิจารณาข้อมูลทางแสงที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ถี่และอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหาคำตอบว่าขนาดของดาวเคราะห์ มวล รวมถึงชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์เป็นอย่างไร
..:: “นี่นับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่น่าตื่นเต้นที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในรอบหลายทศวรรษ เราคงจะคาดหวังได้ยากที่จะหาเป้าหมายได้ดีกว่านี้ เพื่อค้นหาคำตอบของหนึ่งในคำถามที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือการค้นหาร่องรอบสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลก” เจสัน ดิทท์มานน์ (Jason Dittmann) หัวหน้าทีมศึกษาในครั้งนี้จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาวาร์ดสมิทโซเนียน (Harvard Smithsonian Center for Astrophysics)
..:: การค้นพบดาวเคราะห์ LHS 1140b นั้นได้ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) โดยดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้โคจรอยู่รอบดาวแคระแดง (red dwarf star) ชื่อแอลเอชเอส 1140 (LHS 1140) ซึ่งหากมองจากบนพื้นโลก ดาวฤกษ์ดวงนี้จะอยู่ในตำแหน่งกลุ่มดาวซีตัส (Cetus) ที่มีความหมายว่าปีศาจทะเล
..:: จากการวัดในเบื้องต้นวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้ดาวแม่มากกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่า ซึ่งหากอยู่ในระบบสุริยะของเรา ดาวเคราะห์ใดๆ ที่อยู่ใกล้ดาวแม่ขนาดนั้นจะไม่เหลือทั้งบรรยากาศและน้ำที่พื้นผิว แต่ดาวแคระแดงนั้นมีขนาดเล็กและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก ดาวเคราะห์ LHS 1140b จึงได้รับแสงแดดเพียงครึ่งหนึ่งของที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์
..:: นอกจากนี้การวัดในเบื้องต้นยังบ่งบอกว่า
ดาวเคราะห์ของดาวแคระแดงนี้มีอายุประมาณ 5 พันล้านปี หรือแก่กว่าโลกประมาณ 500 ล้านปี และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4 เท่าของขนาดดาวเคราะห์ของเรา แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลมากกว่าโลกประมาณ 7 เท่า ซึ่งหมายความว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ค่อนข้างหนาแน่น
..:: แทนที่จะเป็นดาวเคราะห์ที่สร้างขึ้นจากก๊าซ ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะเป็นดาวเคราะห์หินที่มีใจกลางเป็นเหล็กหนาแน่น และยังโคจรรอบดาวแคระแดงอย่างมั่นคงและไม่ดุดัน ซึ่งอยู่ในข่ายโลกที่สิ่งมีชีวิตน่าจะอาศัยอยู่ได้
..:: ทั้งนี้ ทีมจากฮาวาร์ดเป็นกลุ่มแรกที่สะดุดตาว่าแสงจากดาวแคระแดงดวงนี้หรี่ลง จากนั้นกล้องโทรทรรศน์ฮาร์ปส์ (HARPS) ของยุโรปที่มีกำลังสูงและตั้งอยู่ในทะเลทรายที่ซิลลาของชิลี ก็ได้รับภารกิจให้ค้นหาดาวเคราะห์ดวงนี้ต่อ
..:: ย้อนกลับไปเมื่อ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา อีกทีมวิจัยได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ 7 ดวงที่มีขนาดและมวลใกล้เคียงกับโลก อยู่ใกล้ๆ ดาวแคระแดงที่ค่อนข้างหนาวเย็นชื่อ “ทราปปิสต์-1” (Trappist-1) ซึ่งไกลจากโลกออกไป 39 ปีแสง และเชื่อว่าดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีน้ำในสถานะใดสถานะหนึ่ง แต่โอกาสเป็นไปได้สูงสุดอยู่ที่ดาวเคราะห์ 3 ดวงในขอบเขตโกลดิล็อค
..:: เซเวียร์ บอนฟิลส์ (Xavier Bonfils) นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวทางด้านวิทยาศาสตร์แห่งเอกภพ (Observatory of the Sciences of the Universe) ในกรีโนเบิล ฝรั่งเศส กล่าวว่า
ตอนนี้ดาวเคราะห์ LHS 1140b เข้าไปรวมกับดาวเคราะห์ของทราปปิสต์-1 ในอันดับบนของตารางของดาวเคราะห์ที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่
..:: “เราตื่นเต้นกับการค้นพบนี้มาก มันเป็นโอกาสดีสุดๆ ไปเลย” บอนฟิลส์ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี
..:: สำหรับการศึกษาขั้นต่อไปคือการหาคำตอบว่าดาวเคราะห์นี้มีชั้นบรรยากาศหรือไม่ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ในวงโคจรเจมส์เวบบ์ (James Webb orbital telescope) ที่มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรในเดือน ต.ค.2018 ในฐานะทายาทของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนั้น จะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยหาคำตอบดังกล่าว
..:: ทว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะรู้ถึงองค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งจะเป็นสัญญาณสำคัญสำหรับร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือโอกาสที่จะพบสิ่งมีชีวิต
..:: จากฐานข้อมูลดาวเคราะห์นอกระบบขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ตอนนี้มีดาวเคราะห์นอกระบบที่ได้รับการยืนยันแล้ว 3,475 ดวง แต่มีเพียงแค่หยิบมือที่มีมวลใกล้เคียงกับโลกและอยู่ในตำแหน่งที่มีอุณหภูมิเหมาะสม
..:: ถึงอย่างนั้นบอนฟิลส์บอกว่า ในจำนวนรายชื่อสั้นๆ ก็เต็มไปด้วยความน่าทึ่ง และตอนนี้เรากำลังคูณโอกาสที่จะได้ค้นพบโลกสักแห่งในเอกภพแห่งนี้ที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Manager Online
ติดตามข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ (ย้อนหลัง) ได้ที่ Germanicas 