โทษประหารชีวิต ปี 2559: ข้อเท็จจริงและตัวเลข
สถิติระดับสากล
..:: ปี 2559 มีประชาชนอย่างน้อย 1,032 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ ซึ่งในปี 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตว่ามี 1,634 กรณี เกิดขึ้นใน 25 ประเทศทั่วโลก ถือว่าสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับแต่ปี 2532
..:: การประหารชีวิตส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรักและปากีสถาน เรียงตามลำดับ
..:: จีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากที่สุดในโลก แต่เราไม่ทราบจำนวนการใช้โทษประหารชีวิตที่แท้จริงได้ เนื่องจากทางการจีนเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของทางราชการ ตัวเลขการประหารชีวิตระดับโลกอย่างน้อย 1,032 กรณี จึงไม่ครอบคลุมการประหารชีวิตที่คาดว่าเกิดขึ้นหลายพันกรณีในจีน
..:: หากไม่นับการประหารชีวิตในจีน 87% ของการประหารชีวิตทั้งหมดในโลกเกิดขึ้นในสี่ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และปากีสถาน
..:: นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2549 ที่สหรัฐอเมริกาไม่ติดอันดับหนึ่งในห้าประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดในโลก โดยตกไปอยู่อันดับ 7 ต่ำกว่าอียิปต์ การประหารชีวิตในสหรัฐฯ 20 กรณีในปี 2559 นับเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดที่มีมาของประเทศนับจากปี 2534
..:: ในระหว่างปี 2559 เชื่อว่ามี 23 ประเทศหรือประมาณหนึ่งในแปดของประเทศทั้งหมดในโลกได้ประหารชีวิตประชาชน จำนวนดังกล่าวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว (ซึ่งมี 40 ประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนในปี 2540) เบลารุส บอตสวานา ไนจีเรีย และทางการของรัฐปาเลสไตน์ได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นอีกครั้งในปี 2559 ส่วนชาด อินเดีย จอร์แดน โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเคยประหารชีวิตประชาชนในปี 2558 กลับไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นเลยในปีที่ผ่านมา
..:: มี 141 ประเทศหรือกว่าสองในสามของประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว
..:: ในปี 2559 มีสองประเทศได้แก่ เบนินและนาอูรู ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายสำหรับความผิดทุกประเภท เช่นเดียวกับอีก 104 ประเทศทั่วโลก ถือว่าเป็นประเทศส่วนใหญ่ในโลก โดยในปี 2540 มีเพียง 64 ประเทศเท่านั้นที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี
..:: การเปลี่ยนแปลงโทษและการอภัยโทษให้กับผู้ต้องโทษประหารชีวิตเกิดขึ้นใน 28 ประเทศในปี 2559 โดยมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 60 คนที่ได้รับการล้างมลทินใน 9 ประเทศ รวมทั้งบังคลาเทศ (4) จีน (5) กานา (1) คูเวต (5) มอริเตเนีย (1) ไนจีเรีย (32) ซูดาน (9) ไต้หวัน (1) และเวียดนาม (2)
..:: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบข้อมูลว่าในปี 2559 มีการกำหนดโทษประหารชีวิต 3,117 กรณีใน 55 ประเทศ ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2558 (มีการกำหนดโทษประหารชีวิต 1,998 กรณีใน 61 ประเทศ) โดยมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากใน 12 ประเทศ แต่สำหรับบางประเทศอย่างเช่น ไทย จำนวนการกำหนดโทษประหารชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการที่ทางการไทยให้ข้อมูลอย่างละเอียดกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
..:: มีประชาชนอย่างน้อย 18,848 คนที่ต้องโทษประหารชีวิตนับจนถึงสิ้นปี 2559 โดยมีการประหารชีวิตด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การตัดศีรษะ แขวนคอ ฉีดยา และยิงเป้า มีการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะเกิดขึ้นในอิหร่าน (อย่างน้อย 33 กรณี) และในเกาหลีเหนือ
..:: มีรายงานระบุว่าในอิหร่าน มีประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ในขณะที่กระทำความผิด) อย่างน้อยสองคน ได้ถูกประหารชีวิตในปี 2559
..:: ในหลายประเทศ เช่น ในบาห์เรน จีน อิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือ และซาอุดิอาระเบีย ประชาชนที่ต้องโทษประหารชีวิตหรือถูกประหารชีวิต มีสาเหตุมากจากกระบวนการยุติธรรมที่มักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ โดยในบางคดีมีการรับฟังเพียง “คำรับสารภาพ” ที่ได้มาจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายเท่านั้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การวิเคราะห์ภาพรวมภูมิภาค
ทวีปอเมริกา
..:: นับเป็นปีที่แปดติดต่อกันที่สหรัฐฯ เป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังคงประหารชีวิตประชาชนต่อไป โดยปี2559 มีการประหารชีวิตประชาชน 20 คน (ลดลง 8 คนเมื่อเทียบกับปี 2558) นับเป็นสถิติการประหารชีวิตที่ต่ำสุดเท่าที่บันทึกได้ตั้งแต่ปี 2534 โดยถือเป็นอัตราการประหารชีวิตที่คิดเป็นครึ่งเดียวของปี 2550 และหนึ่งในสามของปี 2540
..:: มีเพียงห้ารัฐที่ประหารชีวิตประชาชนในปี 2559 เทียบกับหกรัฐในปีก่อนหน้านี้ จำนวนการประหารชีวิตในรัฐจอร์เจียเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ (เพิ่มจาก 5 เป็น 9 ครั้ง) ในขณะที่ตัวเลขการประหารชีวิตลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในเท็กซัส (จาก 13 เหลือ 7 กรณี) โดยรวมแล้วทั้งสองรัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อ 80% ของการประหารชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี จนถึงสิ้นปี 2559 ยังคงมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ 2,832 คน
..:: จำนวนการกำหนดโทษประหารชีวิตในสหรัฐฯ ลดลงเช่นกันจาก 52 กรณี ในปี 2558 เป็น 32 กรณี ในปี 2559 (ลดลง 38%) นับเป็นจำนวนต่ำสุดเท่าที่บันทึกได้ตั้งแต่ปี 2516
..:: มีเพียงสามประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ได้แก่ บาร์เบโดส กายอานา และตรินิแดดและโตเบโกที่กำหนดโทษประหารชีวิตในปี 2559 ส่วนประเทศในทะเลแคริบเบียนอื่น ๆ อีกสองประเทศได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดาและบาฮามาส ได้เปลี่ยนแปลงโทษให้กับนักโทษประหารชีวิตที่เหลืออยู่
ทวีปเอเชีย-แปซิฟิก
..:: ในปี 2559 มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 130 กรณีที่เกิดขึ้นใน 11 ประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 367 กรณีใน 12 ประเทศในปี 2558 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปากีสถานซึ่งมีการประหารชีวิตลดลง 239 ครั้ง (73%) ตัวเลขการประหารชีวิตในทวีปเอเชีย-แปซิฟิกไม่ครอบคลุมตัวเลขการประหารชีวิตในจีน ซึ่งยังคงเกิดขึ้นหลายพันครั้ง แต่เราไม่ทราบจำนวนการใช้โทษประหารชีวิตที่แท้จริงในจีน เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของทางราชการ
..:: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการประหารชีวิตในจีน มาเลเซีย และเวียดนามเผยให้เห็นการใช้โทษประหารชีวิตซึ่งเคยถูกปกปิดเป็นความลับ ผลจากแรงกดดันของรัฐสภา ทางการมาเลเซียเปิดเผยว่า ได้ประหารชีวิตประชาชน 9 คนในปี 2559 และจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 มีผู้ต้องโทษประหารชีวิต 1,042 คน
..:: ข้อมูลใหม่จากเวียดนามเผยให้เห็นว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดในโลก จากรายงานของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนาม ซึ่งมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 มีนักโทษที่ถูกประหารชีวิต 429 คนระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ถึง 30 มิถุนายน 2559 เฉพาะจีนและอิหร่านเท่านั้นที่ประหารชีวิตประชาชนมากกว่าเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว
..:: มีการกำหนดโทษประหารชีวิตใหม่ 1,224 กรณีใน 18 ประเทศทั่วภูมิภาค ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมากจากการกำหนดโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 661 กรณีในปี 2558 (เพิ่มขึ้น 85%) ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นในบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และไทย โดยทางการไทยได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่ามีการกำหนดโทษประหารชีวิตครั้งใหม่ 216 กรณี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลแบบนี้เป็นครั้งแรกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
..:: มัลดีฟส์และฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายที่ก้าวถอยหลัง โดยมัลดีฟส์รื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นมาอีก หลังจากหยุดไปกว่า 6 ทศวรรษ ส่วนฟิลิปปินส์ก็กำลังรื้อฟื้นการใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง
ทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา
..:: การใช้โทษประหารชีวิตในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยจำนวนการกำหนดโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้น 145% และมีการประหารชีวิตอย่างน้อย 22 กรณีในห้าประเทศ เทียบกับการประหารชีวิต 43 กรณีใน 4 ประเทศในปี 2558
..:: การกำหนดโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 443 กรณีในปี 2558 เป็นอย่างน้อย 1,086 กรณีในปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นในไนจีเรีย (จาก 171 กรณีเป็น 527 กรณี) ซึ่งนับเป็นประเทศที่กำหนดโทษประหารชีวิตในปีนี้มากกว่าประเทศใด ๆ ยกเว้นจีน ความเสี่ยงที่ประชาชนจะถูกประหารชีวิตเนื่องจากความผิดที่ตนเองไม่ได้กระทำยังคงดำรงอยู่ต่อไป โดยมีการบันทึกข้อมูลที่ศาลล้างมลทินให้กับผู้ต้องโทษประหารชีวิตทั่วโลก โดยครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในไนจีเรียในปี 2559 (32 กรณี)
ทวีปยุโรปและเอเชียกลาง
..:: ในยุโรปและเอเชียกลาง เบลารุสได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นอีกครั้งหลังหยุดไป 17 เดือน เบลารุสและคาซัคสถานเป็นเพียงสองประเทศในภูมิภาคนี้ที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตต่อไป
ทวีปตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาเหนือ
..:: จำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือลดลง 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ จากการประหารชีวิต 1,196 กรณีในปี 2558 เหลือ 856 กรณีในปี 2559
..:: จากข้อมูลที่บันทึกได้เฉพาะอิหร่านประเทศเดียวมีการประหารชีวิตประชาชนคิดเป็น 66% ของภูมิภาค อย่างไรก็ดี จำนวนการประหารชีวิตโดยรวมที่เกิดขึ้นในอิหร่านลดลง 42% (จากอย่างน้อย 977 กรณี เหลืออย่างน้อย 567 กรณี) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้
..:: ซาอุดิอาระเบียประหารชีวิตประชาชนอย่างน้อย 154 คน เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงในปี 2558 (158 คน) นับเป็นจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดที่บันทึกได้ในซาอุดิอาระเบียนับแต่ปี 2538
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Amnesty
ติดตามข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ (ย้อนหลัง) ได้ที่ Germanicas 