บทเรียนจาก Pebble: มาก่อนไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จ
ข่าวสำคัญในแวดวงไอทีสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นการขายกิจการของ Pebble นาฬิกาอัจฉริยะ (Smartwatch) ให้กับ Fitbit ผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) ที่โดดเด่นเรื่องตรวจจับการออกกำลังกาย ด้วยมูลค่าที่ไม่สูงมาก Brand Inside จึงขอพาย้อนดู Pebble ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่มีบทเรียนน่าสนใจหลายอย่างเลย
จากสุดยอดโครงการ Kickstarter และจบลงที่เดิมในเวลา 4 ปี
ทีมงาน Pebble รุ่นก่อตั้ง
..:: Pebble เปิดตัวในปี 2012 ในฐานะโครงการขอเงินสนับสนุนผ่านเว็บระดมทุน Kickstarter ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในตอนนั้น มียอดจองนาฬิกาถึง 85,000 เรือน ได้เงินไปมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ตั้งเป้าโครงการไป 1 แสนดอลลาร์เท่านั้น Pebble ในตอนนั้นถือว่าบุกเบิกนิยามของคำว่า Smartwatch มีหน้าจอขาวดำอีเปเปอร์ เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แสดงผลการเตือน, เตือนโทรศัพท์สายเข้าได้ มี SDK ให้นักพัฒนาเขียนซอฟต์แวร์ใส่เข้าไปได้ ซึ่งดูล้ำมากพอที่จะทำให้คนสนใจลงเงิน
..:: ในเดือนมกราคาปี 2013 Pebble เริ่มทยอยส่งมอบสินค้าให้กับผู้สนับสนุน ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดไปพอสมควรจากปัญหาโรงงานผลิต บริษัทยังได้รับการเพิ่มทุนจากกองทุนอีก 15 ล้านดอลลาร์ จากนั้นสินค้าก็เริ่มวางจำหน่ายในร้านค้าในเวลาต่อมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ยอดขายรวมกว่า 4 แสนเรือน มีส่วนแบ่งการตลาดในหมวด Smartwatch สูงถึง 35%
..:: ต้นปี 2014 Pebble เปิดตัว Pebble Steel ขณะที่ตลาด Smartwatch เริ่มมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากการเปิดตัว Android Wear ของกูเกิล
..:: พอมาปี 2015 Pebble เปิดตลาดใหม่อีกครั้งด้วย Pebble Time ที่ใช้จอสี พร้อมระดมทุนผ่าน Kickstarter และจบลงอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีความเคลื่อนไหวสำคัญคือแอปเปิลได้เปิดตัว Apple Watch ในเดือนมีนาคม
..:: เข้าสู่ปี 2016 Pebble เริ่มผลักดัน Health แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ แต่ก็มีข่าวร้ายของ Pebble ประดังเข้ามา ทั้งยอดขาย Pebble Time ที่ไม่ดีดังที่บริษัทคาด นอกจากนี้การระดมทุนจากฝั่งนักลงทุนก็ได้เงินน้อยกว่าประเมิน มีการปลดพนักงานออกบางส่วน และบริษัทเริ่มมีหนี้สินค้างจ่ายโรงงานผลิต อย่างไรก็ตาม Pebble ก็เลือกเปิดโครงการใหม่บน Kickstarter อีกครั้ง โดยมีทั้ง Pebble 2, Time 2 และ Pebble Core สัญญาณที่ไม่ดีนักก็คือโครงการนี้ได้เงินระดมทุนไป 12 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าสมัย Pebble Time
..:: ปัญหาเรื่องการเงินดูจะรุมเร้า จนทำให้สุดท้าย Pebble ประกาศยุติตัวเอง โดยขายสินทรัพย์หลักทั้งหมดให้ Fitbit ในมูลค่าที่ไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานว่าอยู่ราว 40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่พอหนี้สินค้างชำระที่ Pebble มี โดยจะใช้วิธีขายอาคารที่ดินและสินทรัพย์อื่นเพิ่มเติม
ตลาด Smartwatch vs. อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ
Apple Watch
..:: ในบรรดาตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่ (Wearable Computing) ภาพของ Smartwatch และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ (Fitness Tracker) ดูจะชัดเจนมากที่สุด และ Pebble ก็เลือกเปิดตัวด้วยความเป็น Smartwatch ตั้งแต่ต้น โดยไม่สนใจฟีเจอร์ด้านสุขภาพเลย ขณะที่เมื่อดูฝั่งผู้มาซื้อกิจการอย่าง Fitbit นั้นกลับเริ่มต้นโดยมาในแนวทาง Fitness Tracker ชัดเจน แล้วค่อยๆ ขยายมาสู่แนวทาง Smartwatch
..:: นับตั้งแต่ปี 2014 สภาพอุตสาหกรรม Smartwatch เริ่มร้อนแรงเมื่อ “ขาใหญ่” รุกเข้าสู่ตลาดนี้ ทั้งกูเกิลที่เปิดตัวแพลตฟอร์ม Android Wear, ซัมซุงมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นกับนาฬิกา Gear และแอปเปิลก็เปิดตัว Apple Watch สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนกระทบต่อ Pebble เพราะตลาด Smartwatch นั้นยังเล็ก บริษัทใหญ่เหล่านี้ยังสามารถแข่งขันได้นานเพราะมีรายได้ช่องทางอื่นมาช่วย
..:: สิ่งที่ยากลำบากขึ้นอีกสำหรับ Pebble คือภาพรวมของ Smartwatch นั้น “โตเรื่อยๆ” ไม่มีการโตแบบก้าวกระโดดที่จะช่วยเสริมให้ Pebble แข็งแกร่งมากพอจะสู้กับรายใหญ่ได้ เมื่อจะพลิกมาสู่ความเป็น Health Tracker ก็ไม่ง่ายแล้ว เพราะ Fitbit และ Garmin จับตลาดนี้ไว้อย่างดี
..:: ภาพรวมของ Smartwatch และ Fitness Tracker จึงดูเหมือนต้องใช้เวลาอีกสักพักจะเห็นความชัดเจน
การประเมินมูลค่ากิจการ เรื่องนี้ยังท้าทายกันต่อไป
Eric Migicovsky ซีอีโอ Pebble
..:: เรื่องราวสุดท้ายที่น่าสนใจจากกรณี Pebble คือการตัดสินใจ Exit และความมั่นใจต่อธุรกิจของตน, Pebble นั้นเคยได้รับข้อเสนอซื้อกิจการจากผู้ผลิตนาฬิกา Citizen เมื่อปี 2015 สูงถึง 740 ล้านดอลลาร์ แน่นอนว่า Eric Migicovsky ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Pebble ปัดข้อเสนอนี้ (อย่าลืมว่าตอนนั้น Apple Watch เปิดตัวแล้ว)
..:: เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ Migicovsky เชื่อมั่นกับอนาคต Pebble มาก เขาเคยกล่าวในงานหนึ่งว่า Apple Watch พยายามเป็น Rolex ในโลกสมาร์ทวอทช์ แต่ Pebble จะขอเป็น Swatch ที่ความแมสมากกว่า
..:: เมื่อต้นปี Pebble ยังได้รับข้อเสนออีกครั้ง (บนช่วงเวลาที่เริ่มลำบาก) จาก Intel มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ เป็นอีกครั้งที่ Pebble ปฏิเสธ และสุดท้ายก็จบลงที่ Fitbit ซึ่งเป็นการซื้อสินทรัพย์หลักราว 40 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
..:: แน่นอนว่าเรื่องจะ Exit ด้วยการขายหรือไม่ขาย ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายคนทำสตาร์ทอัพ และไม่มีคำตอบว่าถูกหรือผิด Snapchat เคยถูก Facebook ขอซื้อที่ราคา 3 พันล้านดอลลาร์และปฏิเสธไป วันนี้บริษัทกำลังจะเข้าตลาดหุ้นด้วยมูลค่าราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ นั่นดูเป็นสิ่งสวยงาม
..:: แต่เรื่องราวที่แตกต่างกัน Yahoo! ครั้งหนึ่งไมโครซอฟต์เคยขอซื้อที่ราคา 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่วันนี้บริษัทขายให้ Verizon ไปในมูลค่าที่ลดลงเหลือ 4.8 พันล้านดอลลาร์ หากย้อนอดีตได้ Yahoo! ก็น่าจะขายให้ไมโครซอฟต์ไปตอนนั้น
..:: การจะบอกถึงเรื่องเหล่านี้ว่าอดีตเขาตัดสินใจถูกหรือผิด ก็เข้าทำนองเก่งหลังเกม สุดท้ายมูลค่าที่เหมาะสมและจังหวะคงไม่มีใครตอบได้ดีไปมากกว่าผู้ก่อตั้งกิจการ ซึ่งสูตรนี้ต้องผสมผสานกับความมั่นใจในอนาคตของกิจการนั่นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Brand Inside
ติดตามข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ (ย้อนหลัง) ได้ที่ Germanicas 