6 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมณูที่ฮิโรชิม่า
เรื่องราวของการใช้อาวุธทำลายล้างมวลชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป้าหมายคือจักรวรรดิญี่ปุ่น วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ระเบิดที่ไม่เหมือนลูกไหนๆ ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้าเหนือเมืองฮิโรชิมา ระเบิดลูกนี้ได้รับการออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลกและการนำมันมาใช้คือการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เรื่องราวของลูกเรือบนเครื่องบินที่ปฏิบัติภารกิจลับในการทิ้งระเบิดที่ทำให้เมืองฮิโรชิมาทั้งเมืองต้องพังพินาศภายในไม่กี่วินาที ระเบิดลูกนั้นช่วยยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ
"ในปีค.ศ.1920 ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก จนรัฐบาลเริ่มอ่อนแอ แนวคิดเรื่องการปกครองแบบเผด็จการ ของยุโรป เริ่ม ระบาดในหมู่ขุนทหารญี่ปุ่น และยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่อยู่ในสภาวะอับจนทางเศรษฐกิจด้วย กองทัพเริ่มแยกตัวเป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของรัฐบาล จนในปี ค.ศ.1931 กอง ทัพญี่ปุ่นก็เข้ายึดแมนจูเรียของจีน โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ทราบเรื่อง จึงเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่ากองทัพไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาล จากนั้นอีก 4 ปี กองทัพญี่ปุ่นได้ก่อการรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่เหล่าขุนพลเหล่านั้นกลับยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้น
จนในปี ค.ศ. 1941 นาย พลฮิเดกิ โตโจ นายทหารคนสำคัญก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และนับตั้งแต่นั้นมาประเทศญี่ปุ่น ก็มีรูปแบบการบริหารแบบฟาสซิสต์เหมือนในยุโรป ช่วงเริ่มสงครามใหม่ๆ ญี่ปุ่นก็ท่าทางจะไปได้สวยบุกไปถล่มอ่าวไข่มุก (Pearl Harbour) ที่เกาะฮาวายของอเมริกา โดยที่อเมริกาทำอะไรไม่ได้เลย ในแถบเอเชียไม่ว่าจะไปบุกที่จีน เกาหลี ไม่ว่าที่ไหน ๆ ไม่มีใครต้านญี่ปุ่นได้ กองกำลังของญี่ปุ่นเข้มแข็งมากแต่...พอถึงช่วง ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเกาะหรือจะมาต้านประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาได้ ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนแอ เรือบรรทุกนํ้ามันที่นำนํ้ามันมาจากประเทศอินโดนีเซียก็โดนโจมตี เชื้อเพลิงไม่มีเรือที่ขนเสบียงก็โดนตี จมทะเลก่อนจะไปถึงจุดหมาย คนญี่ปุ่นที่ไปรบในแถบอาเซียนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากการขาดเสบียงอาหารและยารักษาโรค ในประเทศญี่ปุ่น เครื่องบินอเมริกาบินมาถล่มญี่ปุ่นทุกคืน เมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว โอซาก้า นาโกย่า โดนถล่มแทบจะเป็นเมืองร้าง ทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แสนยานุภาพของเครื่องบินรบญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามก็แทบจะทำอะไรเรือรบอเมริกา ไม่ได้เลย เมื่อสุนัขจนตรอก มันทำได้อย่างเดียวคือ วิ่งชนเพื่อเอาตัวรอด หน่วยรบพิเศษ คามิกาเซะ ก็เกิดขึ้นมา แต่ก่อนที่จะชนเรือรบอเมริกาได้ ก็โดนยิงร่วงตกก่อนซะเป็นส่วนมาก เมืองโตเกียว และ เมืองทหารของญี่ปุ่นเกือบทุกแห่ง ตอนปลายสงครามแทบจะเป็นเมืองร้าง
:
ทำไมต้องเป็นฮิโรชิม่าและนางาซากิ ??
ยังมีอยู่อีก เมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมทางการทหาร มีโรงงานมากมาย เด็กๆ ญี่ปุ่นตัวน้อยๆ จำนวนมากถูกเกณฑ์มาสร้างอาวุธนี่นั่น สงครามก็ทำมานานแล้ว แต่เมืองนี้แทบจะไม่ได้รับอิทธิพลจากสงครามเลย
ใช่แล้ว...เมืองใหญ่เมือง นี้คือ ฮิโรชิมา ตั้งแต่อ่าวไข่มุกของอเมริกาโดนญี่ปุ่นถล่มยับเยิน ก็มีโครงการเกิดขึ้นโครงการหนึ่ง เป็นโครงการที่เร่งเครื่องไปข้างหน้า อย่างลับๆ โครงการนั้นคือ โครงการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลก ประสบผลสำเร็จในกลางปี คศ. 1945 ก่อนที่อเมริกาจะนำไปทิ้งที่ ฮิโรชิมา เพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น ทำไมอเมริกาต้องรีบเอาไปทิ้ง
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 ที่ศูนย์วิจัยลับสุดยอดในลอส-อลามอส รัฐนิวเม็กซิโก ระเบิดชนิดใหม่ถูกนำไปใส่ในรถบรรทุกติดอาวุธเต็มอัตราศึก นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางซึ่งจะไปสิ้นสุดลงที่ฮิโรชิมา ระเบิดลูกนี้เป็นผลผลิตจากการวิจัยเป็นเวลาสามปี และใช้เงินในการพัฒนาไปถึงสองพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่เคยมีการทดสอบเลยแม้แต่ครั้งเดียว
16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 ที่อลามากอร์โด รัฐนิวเม็กซิโก
การทดสอบก็มาถึง กลางทะเลทรายของรัฐนิวเม็กซิโก บรรดานักวิทยาศาสตร์และทหารในโครงการแมนฮัตตันได้มารวมตัวกันเพื่อทดสอบการระเบิดของระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรก การระเบิดครั้งนี้ทำให้หอคอยสเตนเลสสตีลที่รองรับลูกระเบิดถึงกับระเหยกลายเป็นไอ ความร้อนอันแรงกล้าทำให้ทรายในทะเลทรายหลอมละลาย กลายเป็นแก้วปกคลุมไปทั่วบริเวณ
แรงระเบิดประมาณได้ว่ารุนแรงเท่าระเบิดไดนาไมต์ 67 ล้านแท่ง เดิมทีอเมริกาตั้งใจจะใช้ระเบิดนี้กับนาซีเยอรมัน แต่เวลานี้ผู้ทำระเบิดมีเป้าหมายอื่นอยู่ในใจ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 สงครามในยุโรปสิ้นสุดลงแล้ว นาซีเยอรมันพ่ายแพ้ไปแล้ว แต่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก สงครามกับญี่ปุ่นยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด ซึ่งญี่ปุ่นสมัยนั้น จักรพรรดิคือประมุขของประเทศ และยังเป็นเทพที่มีชีวิต แต่อำนาจอยู่ที่คณะที่ปรึกษาพิเศษซึ่งกำกับกิจการสงคราม นายกรัฐมนตรีซูซูกิและรัฐมนตรีต่างประเทศโทโกกำลังพิจารณาว่าจะยุติสงครามตามที่มีการเจรจาต่อรอง แต่รัฐมนตรีกองทัพ นายพลโคเรชิกะ อานามิ ยังมุ่งมั่นที่จะสู้ต่อไป แผนของอานามิคือการสู้รบขั้นแตกหักเต็มอัตราศึก
อเมริกาได้ถอดรหัสลับของญี่ปุ่น จึงทราบดีว่า การเรียกร้องให้ยอมจำนนอย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีเงื่อนไขจะถูกฝ่ายญี่ปุ่นมองว่าเป็นการคุกคามองค์จักรพรรดิ ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และเสนอทางออกแก่ฝ่ายญี่ปุ่น
วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945
คำขาดที่ผ่านการแก้ไขแล้วได้ถูกส่งไปยังญี่ปุ่นทางคลื่นวิทยุ แต่ดูเหมือนเงื่อนไขการยอมจำนนที่อ่อนลงนี้จะก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม นายกรัฐมนตรีซูซูกิประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะไม่สนใจแถลงการพ็อทสแดม เขาใช้คำว่า "โมกุซัทสึ" ซึ่งแปลว่าการฆ่าโดยไม่แยแส และนับจากวินาทีนั้น การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ระเบิดเดินทางจากซานฟรานซิสโกโดยเรือ ยูเอสเอส อินเดียนาโปลิส ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลาสิบวัน จนไปถึงเกาะทิเนียน จากจุดนั้นจะใช้เวลาบินไปถึงญี่ปุ่นเพียงหกชั่วโมงเท่านั้น
เกาะทิเนียน คือฐานทัพอากาศใหญ่ที่สุดในโลก มีรันเวย์ขนาดใหญ่ 4 รันเวย์ เป็นที่เก็บเครื่องบิน บี-29 ซูเปอร์ฟอร์ทเตรส กว่า 500 ลำ และยังเป็นที่มั่นของหน่วยผสมที่ 509 กลุ่มคนที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่น หัวหน้าหน่วยแห่งนี้คือ นาวาเอกพอล ทิบเบ็ตส์ ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในการทิ้งระเบิดต่อสู้กับเยอรมัน เขามีลูกเรือคนสำคัญสองคนคือพลเล็งเป้า ทอม เฟอเรอบี และต้นหน ดัทช์ ฟาน เคิร์ค
เย็นวันที่ 4 สิงหาคม 1945 พอล ทิบเบ็ตส์เรียกคนของเขามาประชุมกัน ภารกิจการทิ้งระเบิดถูกกำหนดไว้สำหรับคืนต่อไป วันที่เมฆเหนือประเทศญี่ปุ่นมีทีท่าว่าจะปลอดโปร่ง แต่เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นบรรดาลูกเรือบนเกาะทิเนียนต้องตื่นขึ้นมาเพราะเสียงดังสนั่น เครื่องบินบี-29 ตกที่รันเวย์อีกครั้ง เครื่องบินตกครั้งนี้ทำให้ พอล ทิบเบ็ตส์ ในฐานะผู้บัญชาการ ตัดสินใจที่จะขับเครื่องบินโจมตีลำนี้เอง และเขาเลือกชื่อของเครื่องบินตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา
คืนนั้น ในช่วงนาทีสุดท้ายก่อนออกเดินทาง มีการสรุปภารกิจให้ลูกเรือทุกคนที่กำลังจะมุ่งหน้าไปฮิโรชิมาฟังเป็นครั้งสุดท้าย ภารกิจนี้เป็นความลับมาก ทิบเบ็ตส์ได้รับยาเม็ดฆ่าตัวตายไว้ใช้ในกรณีที่พวกเขาถูกฝ่ายญี่ปุ่นจับได้ เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ได้รับคำสั่งให้บันทึกภารกิจประวัติศาสตร์ครั้งนี้
ระเบิดลูกนี้หนักกว่าสี่ตัน ทำให้การทะยานขึ้นมีอันตรายมากกว่าปกติ หลังจากทะยานขึ้นไป 15 นาที ขณะที่เครื่องบินยังอยู่ในระดับต่ำ พาร์สันส์ก็พร้อมแล้วที่จะประกอบระเบิด พวกเขารู้ว่าความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ภารกิจทั้งหมดล้มเหลวได้ สองชั่วโมงต่อมา เครื่องบินอีโนล่า เกย์ สมทบกับเครื่องบินบันทึกภาพและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ณ เวลานี้เครื่องบินทั้งหมดอยู่ห่างจากฮิโรชิมาราวสามชั่วโมง
6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เมืองฮิโรชิมา
เครื่องบินบี 29 อีกลำหนึ่งได้บินอยู่เหนือเมืองฮิโรชิมาเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนตื่นกลัวและหลบอยู่ในที่กำบัง เครื่องบินตรวจสอบสภาพอากาศรายงานผลไปยัง อีโนล่า เกย์ และเมื่อเครื่องบินตรวจสอบอากาศบินเลยไปโดยไม่มีการโจมตี ช่วงนั้นดูเหมือนภัยคุกคามจะผ่านไปแล้ว
แต่ต่อมาไม่นานเครื่องบิน อีโนล่า เกย์ ก็บินอยู่เหนือน่านฟ้าฮิโรชิมา เวลา 8:15 นาฬิกา ระเบิดนิวเคลียร์(ทดลอง)ที่มีชื่อว่า Little Boy ระเบิดลูกประวัติศาสตร์ถูกปล่อยออกมา หลังจากหล่นลงมา 43 วินาที กลไกที่ทำงานตามเวลาและแรงดันอากาศก็เริ่มกระบวนการจุดระเบิด กระสุนยูเรเนียมถูกยิงไปตามลำกล้องเข้าใส่ยูเรเนียมที่เป็นเป้าหมาย ยูเรเนียมทั้งสองเริ่มทำปฏิกิริยาลูกโซ่ อณูของแข็งเริ่มแตกตัวและปล่อยพลังงานออกมาในปริมาณมหาศาล
ระเบิดปล่อยอานุภาพทำลายล้างออกมาทีละขั้น ประกายไฟที่ออกมาจากลูกไฟยักษ์ที่กว้างถึง 300 เมตร ทำให้อุณหภูมิที่อยู่ด้านล่างลูกไฟนั้นสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส รังสีความร้อนหลอมละลายทุกอย่างที่อยู่ในที่โล่งถ้าไม่ระเหยกลายเป็นไอ ก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปในทันที ปฏิบัติการของทหารอเมริกันครั้งนั้นคร่าชีวิตคนไปราว 200,000 คน และเป็นการยุติสงครามโดยสิ้นเชิง
วันที่ 6 สิงหาคม ของทุกปี ที่เมืองฮิโรชิมาจะมีพิธีรำลึกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่ถูกลืมและไม่เกิดขึ้นซ้ำสอง และเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เทียนนับพันๆ เล่มจะถูกจุดขึ้น และปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ เทียนแต่ละเล่มแทนดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณูลูกนี้
ภาพเปรียบเทียบระหว่างก่อนโดนระเบิดและหลังโดนระเบิด
ที่มา
http://pantip.com/topic/30392023