ต่อกันที่บทที่ 2 นะครับ ในครั้งก่อนบทที่ 1 ผมพูดถึงเรื่องของประเภทของโฆษณาไปแล้ว ท่านใดไม่ได้อ่านลองติดตามจากกระทู้นี้นะครับ
http://www.soccersuck.com/boards/topic/1393201
ต่อไปผมจะมาพูดถึงในเรื่องของพื้นที่สำหรับจัดวางโฆษณาดังกล่าวครับ ที่นิยมหลักๆก็จะมีอยู่ 2 แบบครับ ซึ่งข้อดีข้อเสียก็มีแตกต่างกันไป ลองไปดูครับว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
1. เว็บบล็อก หรือ บล็อกเกอร์
เว็บบล็อกหรือบล็อกเกอร์เป็นการให้บริการที่ ผู้คนทั่วไปจะสามารถสร้างบล็อกของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งบล้อกนี้เราจะสามารถเขียนเนื้อหาลงไปได้เหมือนกับเว็บไซต์ทั่วไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเว็บบล็อกมักจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่เอาไว้เล่าเรื่องส่วนตัว หรือเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่เรื่องราวๆต่างๆ ที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าของบล็อก เช่น รีวิวไปเที่ยวญี่ปุ่น , ประสบการณ์กินเบียร์เยอรมัน , เล่าเรื่องลับๆในค่ายรับน้อง เป็นต้น
แต่ก็มีหลายคนใช้เว็บบล็อกให้เกิดประโยชน์ โดยการเขียนเรื่องที่เป็นความรู้ลงไป เช่น การออกกำลังกายลดน้ำหนัก , การชงกาแฟให้อร่อย เป็นต้น
เมื่อมีฐานผู้ชมหรือฐานแฟนๆแล้ว เว็บบล็อกก็จะสามารถยื่นเรื่องขอติดโฆษณาที่กล่าวไว้ในบท 1 ได้ และเมื่อผ่านการอนุมัติ เราติดโฆษณาไว้ในบล็อกของเรา และก็รอรับเงินจากผู้เข้าชมที่สนใจคลิกโฆษณาเราตอนที่เขาอ่านเว็บบล็อกเรานั่นเองครับ
ที่สำคัญ เว็บบล็อกเหล่านี้ "ฟรี" ครับ
ต่อไปผมจะพูดถึงข้อดีและข้อเสียของเว็บบล็อกกันครับ
ข้อดี
1. มันฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
2. มันเริ่มได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น และไม่รู้ว่าจะจริงจังกับเรื่องนี้หรือไม่
3. ผู้เขียนกับผู้อ่านจะมีความเป็นกันเองมากกว่า เพราะผู้เขียนมักจะเขียนในสำนวนเล่าเรื่องของตัวเอง ส่วนผู้อ่านก็เหมือนกำลังอ่านเรื่องของใครสักคน
ข้อเสีย
1. ทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ฟรี ปรับปรุง ขยับขยาย ปรับแต่งอะไรไม่ได้มาก
2. ถ้าในภายหลังต้องการอัพเกรดขึ้นมาเป็นอีกเลเวล ดูวุ่นวาย ยุ่งยาก
3. บล็อกเกอร์ก็คือบล็อกเกอร์ ไม่ใช่เว็บไซต์ ดูไม่มีอาชีพ
(อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ไม่ได้พาดพิงโจมตีท่านใดที่ทำเว็บบล็อกนะครับ)
ยกตัวอย่างง่ายๆ เว็บบล็อกก็เหมือน คุณไปขายของในตลาดแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิดให้เช่าพื้นที่ฟรี วันหนึ่งท่านอยากจะขยายร้านเป็น 2 ล็อก ก็ทำยาก เพราะว่าเป็นพื้นที่ฟรี จะตกแต่งร้านให้หรูกว่าคนอื่นก็ไม่ได้ จะปรับปรุงร้านให้สะอาดก็ทำมากไม่ได้ เพราะมันเป็นพื้นที่ส่วนรวม ส่วนที่จะสะอาดได้ก็มีแต่ร้านท่านร้านเดียว ประมาณนี้ครับ
2. เว็บไซต์
เว็บไซต์คือการที่คุณไปจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ขึ้นมา 1 ชื่อ และทำมันขึ้นมาเพื่อให้คนอ่าน (มีโปรแกรมสำเร็จรูปจะพูดถึงในตอนถัดไป) โดยส่วนใหญ่แล้ว เว็บไซต์จะไม่เอาเรื่องนู้นมาชนเรื่องนี้ จับแพะมาชนกับแกะ เพราะการเปิดเว็บนั้น มักจะกำหนดมาก่อนแล้วว่าจะเป็นเว็บเกี่ยวกับอะไรเช่น เว็บฟุตบอล เว็บคนรักสุนัข เว็บคอร์ดเพลง เว็บรีวิวแอพมือถือ เป็นต้น ดังนั้นเรื่องในเว็บจะไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อสร้างเว็บขึ้นมาแล้ว มีคนเข้ามาชมบางส่วน ก็เริ่มยื่นเรื่องขอติดโฆษณาได้เลยครับ พออนุมัติแล้วก็สามารถนำมาติดได้เลยในเว็บดังกล่าว คล้ายกับเว็บบล็อกที่ได้อธิบายไปข้างต้นครับ
แต่เว็บไซต์เหล่านี้ ต้องเสียเงินแยกกันอยู่ 2 ส่วนนะครับ คือ
1. ค่าจดทะเบียนเว็บไซต์
การจดทะเบียนเว็บไซต์ ก็คือเป็นการจดชื่อเว็บเรานั่นเอง เช่น soccersuck.com , sanook.com , pantip.com เป็นต้น เราเรียกว่า "Domain Name" อ่านเป็นไทยว่า "โดเมนเนม" ครับ
โดเมนเนมแต่ละสกุลมีค่าจดทะเบียนไม่เท่ากัน เช่น .com มักจะแพงกว่า .net เช่น ผมต้องการจดทะเบียนชื่อเว็บ soccersuck.com ซึ่งใช้ค่าจดทะเบียน 400 บาท แต่พี่เบนจดไปแล้ว ถ้าผมอยากได้ชื่อนี้ ผมก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป็น .net หรือ .in.th ซึ่งอาจจะมีราคา 200 บาท หรือ 800 บาท ตามลำดับ (.com นิยมที่สุดครับ ดูมืออาชีพสุด)
2. ค่าเช่าพื้นที่สำหรับลงข้อมูลเว็บไซต์
ค่าเช่าพื้นที่นี้ ให้ลองมองว่าเป็น ฮาร์ดดิส เก็บข้อมูลในคอมของเราครับ เรามักจะเรียกกันติดปากว่า เซิฟเวอร์ แต่ไม่แนะนำให้เรียกแบบนั้นครับ ให้เรียกว่า "Host" หรือ "โฮสต์" แทนนะครับ
โฮสต์ส่วนนี้มีตั้งแต่ฟรี ไปจนถึงเดือนละเป็นแสนๆบาท ยิ่งมีคนเข้ามาก ก็มีความจำเป็นต้องใช้โฮสต์แพงมากขึ้นครับ แต่ถ้าเริ่มแรกจะใช้แบบฟรี หรือแบบรายปี ก็ได้ครับ เพราะมันโคตรจะถูกเลย กินชาบูชิมื้อนึงก็หมดแล้วมั้ง ตอนผมเริ่มต้น ผมใช้ 300 บาทต่อปีครับ ตอนหลังก็อัพเกรดมาเรื่อยๆ ตามจำนวนคนเข้าเว็บที่มากขึ้น
ถามว่าฟรีดีไหม? ดีครับสำหรับคนเริ่มต้นแรกๆ แบบกล้าๆกลัวๆ แต่ข้อเสียคือ เขาจะไม่มีบริการอะไรให้คุณเลย ติดตั้งเอง เชื่อมข้อมูลเอง หากโฮสต์เน่าข้อมูลหาย เขาไม่ได้สำรองข้อมูลให้ เป็นต้น แต่การที่เขาให้ใช้ฟรีคือ เหมือนให้ทดลองใช้นั่นแหละครับ เพราะสุดท้ายแล้วก็จะมาซื้อเช่าเป็นรายปีอยู่ดีนั่นเองครับ
ต่อไปจะพูดถึงข้อดีข้อเสียของเว็บไซต์นะครับ
ข้อดี
1. ปรับแต่งได้เต็มที่ อยากให้ตรงไหนเป็นแบบไหน ปรับได้ด้วยตัวเอง หรือจ้างคนอื่นทำก็ได้
2. อัพเกรดได้ตามความพึงพอใจ ไม่ต้องยึดติดกับเรื่องไม่ใช่พื้นที่ตัวเอง ขยับขยายไม่ได้
3. ดูมืออาชีพกว่าบล็อกเกอร์มาก เนื้อหาเป็นเนื้อหาสาธารณะ ดูได้ทุกเพศทุกวัย
4. ถ้าเว็บใหญ่มากพอ อาจจะมีคนมาขอลงโฆษณาเฉพาะทาง เช่น เปิดเว็บคนรักหมา ก็มีบริษัทอาหารหมา มาขอลงโฆษณา เป็นต้น
ข้อเสีย
1. มีค่าใช้จ่าย
---------------------------------------
ส่วนตัวผมแล้ว ถ้าจะทำสายนี้ ลงทุนเถอะครับ ลองนึกภาพตามนะครับ จะเปิดร้านอะไรสักร้านแล้วมีพื้นที่ของตัวเอง ปรับปรุงร้าน ขยายร้านได้ทันที ขยายเท่าไหร่ก็ได้ กับ พื้นที่ฟรี แต่ปรับแต่งอะไรไม่ค่อยได้ ท่านจะเลือกแบบไหน และเอาเป็นว่าผมจะสอนในเรื่องของ เว็บไซต์ นะครับ ส่วนบล็อกเกอร์ผมไม่ได้สอนนะครับ
---------------------------------------
อยากเปิดเว็บทำอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เราต้องทำการจดทะเบียนโดเมนเนมผ่านคนที่เขารับจดครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว พวกนี้จะให้บริการเช่าโฮสต์ด้วย ประมาณว่า จดแล้วก็เอามาเชื่อมต่อกับโฮสต์ของเขาได้เลยทันที (เขาทำให้ทั้งหมดครับ) ดังนั้นผมแนะนำว่าให้จดทะเบียนกับที่เดียวกัน เวลาทำอะไรจะได้ง่าย เพราะเขาทำให้ครับ ส่วนตัวผมไม่มีความรู้ด้านนี้ ก็ให้เขาจัดการให้หมดเลย ง่ายดี เร็วด้วย โดยโฮสต์แต่ละเจ้าก็จะมีความขึ้นชื่อต่างกันไป บางเจ้าห่วยๆก็โดนบ่นๆ คนย้ายหนีกันเยอะ ส่วนคนที่ทำดีๆหน่อยก็จะมีชื่อเสียงครับ แต่ก็อาจจะแพงกว่าเจ้าอื่น
ซึ่งส่วนนี้ผมไม่ได้มาขายของนะครับ ผมใช้โฮสต์ของพี่เพื่อนผมอยู่ เขาเปิดให้บริการกับคนทั่วไปนี่แหละครับ บริการใช้ได้เลยยังไม่เจอปัญหาอะไรหนักๆตั้งแต่ใช้มา ที่เคยเจอก็คนเข้าเยอะเกินที่จะรับไหว ผมต้องอัพเกรดเองครับ ไม่ใช่ความผิดเขา เอาเป็นว่าถ้าจะจดผมจะแนะนำให้จดผู้ให้บริการนี้แหละครับ เพราะผมคุยกับทางคนเป็นเจ้าของได้โดยตรง บางทีอยากให้ทำอะไรบอกเขาตีหนึ่งตีสองก็ยังทำให้อยู่ (แอบจ่ายค่าเช่าช้าด้วยบ้างครั้ง แต่ห้ามทำตามนะครับ 555)
การจดทะเบียนโดเมนเนมก็คือ
- เข้าเว็บผู้ให้บริการ
- ค้นหาชื่อโดเมนเนมที่ยังไม่มีคนจดทะเบียน
- สั่งซื้อจดทะเบียนชื่อนั้น
- สั่งซื้อโฮสต์ที่จะใช้ แนะนำให้ใช้แพคเกจต่ำสุดในแบบรายปี
- จ่ายตัง
- รอ 1 ถึง 2 ชั่วโมง เว็บก็จะเข้าได้
เมื่อจดโดเมน เช่าโฮสต์เสร็จแล้ว ก็เข้าไปปรับแต่ง เลือกรูปของเว็บตามใจเรา(หลังจากนี้ขอเรียกว่า Theme หรือ ตีม นะครับ) ซึ่งมันมีเป็นร้อยๆพันๆรูปแบบให้เลือก ชอบอันไหนก็เอาแบบนั้นได้เลย หรือถ้าอยากแอดวานซ์ ก็ซื้อ Theme มาติดตั้งได้ หรืออยากแอดวานซ์กว่าแบบว่าตามใจฉัน ก็จ้างคนที่เขียนโค้ดเป็นมาปรับแต่งให้เลย แต่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นให้แบบฟรีไปก่อน ซึ่งมีให้เลือกเป็นพันๆ สวยๆทั้งนั้นไม่ต้องกลัวครับ
หลังจากนั้นก็เริ่มละเลงใส่เนื้อหาลงไปตามแนวทางเว็บไซต์ของท่านเลย เช่น เว็บคนรักสุนัข ก็เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุนัขลงไป เช่น การกำจัดเห็บสุนัข วิธีแก้ปัญหาสุนัขเห่าตอนกลางคืน ฯลฯ เป็นต้น หลังจากนั้นก็ค่อยทำเรื่องขอติดโฆษณาต่อไปตามที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ครับ
-----------------------------------------------------
มาถึงจุดนี้คิดว่าหลายคนคงมีไอเดียในใจแล้วว่าอยากทำเว็บอะไร ผมแนะนำว่า ให้ทำในเรื่องที่ท่านชอบ ในเรื่องที่ท่านมีความรู้อยู่แล้วครับ แล้วทุกอย่างจะออกมาดี
และสิ่งหนึ่งที่ผมขอและผมเกลียดที่สุดหากท่านจะเรียนวิชานี้จากผมไป ผมไม่ชอบการที่ท่านคิดไปคัดลอกบทความหรือเนื้อหาคนอื่นมาครับ มันคือการทำงานบนหลังคนดีๆนี่เอง
ลองนึกภาพตามว่ากว่าจะทำเว็บขึ้นมาได้ กว่าจะคิดเนื้อหาลงเว็บ กว่าจะศึกษาให้เข้าใจได้ แต่มีพวกมักง่าย เห็นแก่ตัว มาก็อปบทความท่านไปลงเว็บ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ลองนึกดูนะครับว่ามันแย่ขนาดไหน ถ้าคิดจะทำสายนี้ ไม่ต้องมาพูดกับผมครับ ผมไม่สอน เกลียดที่สุดเลยครับประเภทนี้ ขอร้องนะครับอย่าทำเลย
ส่วนเรื่องการจดทะเบียนต่างๆ เอาไว้ก่อนครับ แนะนำว่าให้อ่านให้จบทั้งหมดก่อนค่อยเริ่มจดก็ได้ ไม่ต้องรีบร้อนครับ
------------------------------------------------------
ต่อกันอีกนิด ผมพึ่งนึกได้ว่าลืมพูดเรื่องนี้
แล้วใครจะเข้ามาดูเว็บของเราล่ะ ? ดูกันเอง?
ผมขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆครับ ดังนี้
1. จาก facebook
หากท่านมีแฟนเพจอยู่แล้ว เช่นแฟนเพจคนรักหมา ท่านก็ทำเว็บไซต์เขียนเรื่องเกี่ยวกับหมา แล้วเอาไปแชร์ แบบนี้ได้ยอดคนเข้าชมเต็มๆ หรือมีกลุ่มเฟสบุ้คคนรักหมา เอาไปแชร์ในนั้นก็ได้ครับ แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะแชร์บ่อยๆไม่ได้ เพราะจะโดนด่า และไล่ออกกลุ่มเอา แต่ถ้าเป็นเรื่องตั้งใจเขียนและให้ความรู้แก่คนในกลุ่มจริงๆ ก็อยู่กันได้ยาวๆครับ
แต่แนวนี้.... เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเห็น....
"เมื่อชายคนนี้ ได้เอากล้องไปติดในโรงรถ และภาพที่เห็นต้องทำให้เขาตะลึง"
"เมื่อปันปันอัพรูปนี้พร้อมแคปชั่นลง IG ทำเอาชาวเน็ตอึ้งไปตามๆกัน"
แบบนี้ ไม่ต้องทำครับ คุณจะได้คนเข้าชมแค่ช่วงแรกๆเท่านั้น ตอนหลังถ้าเขารู้ทันก็ไม่กดแล้ว และภาพลักษณ์เว็บจะดูไม่ดีด้วยครับ
จำไว้ว่า ฐานผู้ชมจาก facebook ได้มาอย่างรวดเร็ว และก็หมดไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เช่น อ่านวันนี้เยอะ อีกวันอาจจะไม่อ่านแล้วก็ได้
2. จาก google
อันนี้เป็นพระเอกของเรา แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นก็เหนื่อยเอาการเหมือนกัน ลองมาดูกันว่ามันเป็นยังไง
สมมุติว่าท่านกำลังจะปลูกตะไคร้ แต่ไม่รู้ว่า ควรจะปลูกยังไง สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าหลายๆคนทำก็คือ "ค้นหาใน Google"
แล้วพอท่านเจอเว็บหนึ่งที่สอนเกี่ยวกับการปลูกตะไคร้ ท่านก็คลิกเข้าไป นั่นแหละครับ คือผู้เข้าชมที่มาจาก Google
และถ้าเว็บนั้นติดโฆษณาแบบที่พวกเรากำลังจะทำ คือ Adsense และ Yengo โฆษณาที่ขึ้นก็อาจจะเป็น "ตะไคร้หอมไล่ยุง" , "สั่งซื้อตะไคร้พันธุ์ดีได้ที่นี่" , "สนใจขายส่งตะไคร้ ติดต่อเราได้เลย" อะไรแนวๆนี้นี่แหละครับ พอเห็นภาพกันหรือยังครับ
ดังนั้นการติดอันดับต้นๆในการค้นหาของ Google จะทำให้เว็บของท่านมีคนเข้าสม่ำเสมอๆทุกวันครับ โดยพวกเนื้อหาอมตะ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปทุกยุคทุกสมัยก็จะยังมีคนสนใจอยู่เสมอๆ เช่น คอร์ดเพลง การวิ่งลดน้ำหนัก พวกนี้มีคนเข้าทั้งวันทั้งคืนแหละครับ (แต่คู่แข่งก็เยอะนะ)
การทำให้เว็บไปอยู่อันดับต้นๆได้มันมีหลายปัจจัยมาก ยังไม่ขอพูดถึงมาก เอาเป็นว่า ถ้าทำเว็บดี มีเนื้อหาสม่ำเสมอ รับรองไปติดอันดับต้นๆได้ไม่ยากครับ
วันนี้พอแค่นี้ก่อน มีอะไรทิ้งคำถามไว้ได้เลยครับ เดี๋ยวจะตอบท่านที่ยังสงสัยอยู่ครับ ครั้งหน้าจะมาพูดถึงพวกรายได้ที่จะได้ คุ้มมั้ยที่จะทำ อะไรที่จะทำให้สำเร็จ ไม่สำเร็จ หากไม่ทำเว็บจะหารายได้จากด้านอื่นได้มั้ย? เจอกันบทหน้าครับ