หลากปริศนา’พระนเรศวร’ คำถามคาใจและแบบเรียนไทยที่ (ยัง) ไม่ยอมเปลี่ยน?
ผู้เขียน พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร (เรื่อง) | บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ (ภาพ)
ที่มา มติชนรายวัน
เผยแพร่ 5 ก.พ. 59
“เถียงกับทีมงานอยู่นาน เพราะต้องเป็นอาเซียนคอมมูนิตี้ คือประชาคมอาเซียน ไม่ใช่เออีซีซึ่งหมายถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่เขาบอก ใช้คำนี้เพื่อความแมสในการตั้งชื่องาน (หัวเราะ)” สุเจน กรรพฤทธิ์ ผู้เขียนหนังสือ “จากเวียงจันทน์สู่เวียงแหง ตามรอยนเรศวรมหาราช นอกกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยม” ชิงออกตัวตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของงานเสวนา “อ่านพระนเรศวร (ใหม่) ก่อนไปเออีซี” ที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อไม่นานมานี้ ถึงชื่องานที่ถูกจงใจ “บิด” เล็กน้อย
ก็คงเหมือนกับความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร รวมถึงประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลายเรื่องอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางวิชาการไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
งานเสวนา “อ่านพระนเรศวร (ใหม่) ก่อนไป เออีซี” จากซ้าย สุเจน กรรพฤทธิ์, สุเนตร ชุตินธรานนท์ และศรัณย์ ทองปาน
“นเรศวร” ไม่มี
มีแต่ “พระนเรศ”
เริ่มตั้งแต่พระนามที่คนไทยติดปากว่า พระนเรศวร ก็อาจคลาดเคลื่อน เพราะพงศาวดารไทยมากมายซึ่งถูกชำระในยุคต้นรัตนโกสินทร์ออกพระนามว่า “พระนเรศวร” แต่หลักฐานร่วมสมัยในยุคนั้นล้วนออกพระนามว่า “พระนเรศ” สอดคล้องกันกับหลักฐานพม่า
ปัญหาข้อนี้ สุเจนมองว่า ผู้ชำระพงศาวดาร น่าจะเข้าใจผิด โดยเอาสร้อยคำที่ว่า วรราชาธิราช เข้ามารวม กล่าวคือ นำคำว่า วร มาอ่านรวมกับ นเรศ จากที่ควรอ่านว่า พระนเรศ-วร-ราชาธิราช จึงกลายเป็น พระนเรศวรสืบมาจนทุกวันนี้
ถ้อยคำชวนสงสัย
และแบบเรียนไทยที่ไม่ยอมเปลี่ยน?
มาถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เด็กไทยทุกคนได้ร่ำเรียนตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งสุเจนบอกว่า เต็มไปด้วย “ถ้อยคำ” ที่ชวนตั้งคำถามถึง ดังเช่น แบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 บทที่ 7 และ 8 ซึ่งมีข้อความระบุว่า “คนไทย (สมัยอยุธยา) ไม่ชอบพม่า” จึงทำให้สงสัยว่าทราบได้อย่างไร? มีหลักฐานเอกสารใดที่บอกเช่นนั้น นอกจากนี้ ยังปรากฏคำที่ชวนให้ตั้งคำถาม อาทิ “อิสรภาพ” ซึ่งอาจต้องทบทวนความหมายของคำว่า อิสรภาพในสมัยอยุธยา ว่าตรงกับ อิสรภาพหลังเกิดรัฐชาติไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือไม่
“คนเขียนแบบเรียนไทย ไม่ได้สนใจคำถามพวกนี้เท่าไหร่ ไม่ได้สนใจการนิยามความหมาย จึงใช้มาอย่างนี้ 20-30 ปี หรือส่วนที่บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับพม่า อยู่ในลักษณะแข่งอำนาจกัน เพื่อครองดินแดนสุโขทัย ล้านนาและหัวเมืองมอญ เมื่อใดที่พม่าเข้มแข็งจะเป็นฝ่ายมารุกรานอยุธยา ถามว่าเราไม่เคยไปรุกรานเขาเลยหรือ?” สุเจนตั้งคำถาม พร้อมยังเล่าว่า หนังสือของตนเคยได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊ก อวอร์ด ครั้งที่ 6 ประเภทสารคดี เมื่อ พ.ศ.2552 ผ่านไป 8 ปี นอกจาก “ขายไม่ดี” แล้ว แบบเรียนไทยก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีการเพิ่มเติม ปรับเปลี่ยนตามหลักฐานและข้อพิสูจน์ใหม่ๆ ทุกอย่างยังหยุดนิ่ง
“เพิ่งเข้าไปในศึกษาภัณฑ์ ไล่ดูแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ประถมถึงมัธยม ก็ยังเหมือนเดิม และเด็กไทยยังต้องแสร้งตอบคำถามเพื่อให้เอ็นท์ติดทัศนคติประเภท ไม่ชอบพม่า คำเรียกกบฏอังวะ และอิสรภาพของอยุธยา ยังมีอยู่ตลอด รวมถึงคำสำคัญที่ใช้กันบ่อยๆ อย่างคำว่า ประกาศเอกราช ซึ่งไม่เคยปรากฏในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เช่นเดียวกับกฤษดาภินิหารอย่างการยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ซึ่งไม่มีการบันทึกไว้เลยทั้งหลักฐานฝั่งไทยและพม่า จากการได้เห็นสถานที่จริง พบว่าเป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่มาก ส่วนที่แคบที่สุดของแม่น้ำสายนี้ ยังกว้างกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาราวๆ 5-6 เท่า คำถามคือ พระแสงปืนต้นในยุคนั้นสามารถยิงข้ามแม่น้ำได้แม่น ขนาดนั้นจริงหรือ?”
สะพานข้ามแม่น้ำสะโตงที่กว้างใหญ่กว่าแม่น้ำเจ้าพระยาหลายเท่า
หลากปริศนาพระนเรศวร
นอกจากประเด็นข้างต้น ปริศนาที่หลายคนพยายามหาคำตอบก็คือวีรกรรมอันยิ่งใหญ่อย่างยุทธหัตถี ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าอยู่ที่ใด ระหว่างดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี, อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นปริศนาดำมืดให้นักประวัติศาสตร์ค้นคว้ากันต่อไป
เช่นเดียวกับข้อสงสัยที่ว่า พระมหาอุปราชาทรงถูกฟันคาคอช้างจริงหรือไม่ เพราะหลักฐานพม่ากล่าวว่ามีเสียงปืนดังขึ้นก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง
รวมถึงฉากตรึงใจในภาพยนตร์ อย่างการชนไก่เอาบ้านเอาเมืองระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชานั้น ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งถูกเขียนขึ้นในยุคหลังเหตุการณ์นับร้อยปี ส่วนหลักฐานร่วมสมัย ไม่มีการบันทึกเรื่องนี้แต่อย่างใด ทั้งยังน่าสงสัยว่า การชนไก่ไม่น่าใช่กีฬาของพระราชวงศ์
ตบท้ายด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่สวรรคต ว่าอยู่ในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่เมืองหาง ในรัฐฉานของพม่ากันแน่ ซึ่งสุเจนไม่ได้นั่งโต๊ะในห้องแอร์ศึกษาเฉพาะเอกสารเท่านั้น แต่ลงพื้นที่ด้วยตนเอง
สถานที่สวรรคตของพระนเรศวรยังเป็นปริศนาว่าอยู่ในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ หรือเมืองหาง ในรัฐฉานของพม่ากันแน่
ยกเครื่องความรู้ อยู่อย่างเข้าใจ
จากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ มาถึงคิวรุ่นใหญ่อย่าง รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า และผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์อันลือลั่น “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ที่สร้าง “ภาพจำ” หลายประการเกี่ยวกับพระนเรศวร
พระนเรศวรในความรับรู้ของคนไทย น่าสนใจมาก เพราะมีภาพค่อนข้างหลากหลาย และมีที่มาที่ไปแตกต่างกันหลายชุด
ไม่ว่าจะเป็นภาพพระเจ้าจักพรรดิราช คู่กับพระเจ้าหงสาวดี, ภาพของวีรกษัตริย์กู้เอกราช, ภาพของจอมทัพผู้เป็นสัญลักษณ์กองทัพไทย, ภาพกฤษดาภินิหาร เป็นผู้มีบุญญาบารมีเหนือภพชาติ คนจึงชอบเข้าทรงพระนเรศวรกันมาก และภาพอันเกิดจากวรรณกรรมตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน ซึ่งยังมีเรื่องของพระนเรศวรอยู่เสมอ เช่น ตะเลงพ่าย ขุนศึก ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ฯลฯ เป็นกษัตริย์ที่คนไทยกล่าวถึงเป็นลำดับต้นๆ
แต่ภาพชุดที่โดดเด่นที่สุดนั้น สุเนตรบอกว่า เป็นภาพในกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยมซึ่งถูกตอกย้ำโดยรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น “คาใจ” อย่างเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยาและการที่พระนเรศวรต้องตกเป็น “องค์ประกัน”
“หลักฐานฝั่งไทยไม่ได้กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาเลย จะมีก็แต่ในพงศาวดารฝ่ายสงฆ์ คือสังคีตยวงศ์ และพงศาวดารพม่า เช่นเดียวกับการที่พระนเรศวรตกเป็นองค์ประกัน ก็ไม่มีหลักฐานในเอกสารของพม่าแม้แต่ชิ้นเดียว หากแต่ปรากฏเพียงในคำให้การของเชลยศึกพม่าที่รู้จักกันในนาม คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเพิ่งแปลในสมัยรัชกาลที่ 4 เรื่องพระสุพรรณกัลยาไปพม่า เป็นการตีความของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพล้วนๆ” สุเนตรเล่า
พร้อมทิ้งท้ายว่า ภาครัฐควรตื่นตัว ควรยกเครื่องการจัดการความรู้ทางสังคมให้สมกับที่สังคมเปลี่ยนไป สมัยก่อนยังไม่มีทางเลือก คนต้องเชื่อตามตำราเรียนที่ถูกสอนกันต่อๆ มา เพราะไม่รู้จะไปหาอ่านที่ไหน แต่ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร แม้รัฐพยายามเหลือเกินที่จะผูกขาดประวัติศาสตร์ แต่ในความเป็นจริง ทำไม่ได้แล้ว เราจะจัดการอย่างไรให้อดีตกับปัจจุบันอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ
พม่า ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทยที่นักวิชาการมองว่าควรปรับทัศนคติใหม่ให้สมานฉันท์ ลดละเลิกความเกลียดชังเพื่อนบ้านผ่านประวัติศาสตร์ที่ล่วงไปแล้ว
“รักกันแล้วเกลียดคนอื่น”
ความขมขื่นในประวัติศาสตร์อาเซียน
ศรัณย์ ทองปาน กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ให้แง่คิดเพิ่มเติมว่า ประวัติศาสตร์ไม่มีข้อยุติ แต่ “โยนระเบิด” ให้ไม่ละเลยหลักฐานหลากหลาย ที่สำคัญ ควรก้าวข้ามพ้นภาพประวัติศาสตร์ชาตินิยม ซึ่งหลายครั้งถูกใช้ในความหมายว่า “เรารักกัน แล้วเกลียดคนอื่น”
“จะเข้าใจโลกในอดีตไปพร้อมๆ กับการจับมือกันก้าวเข้าสู่อนาคตได้อย่างไร ถ้ามองรอบข้างเป็นคนเลวไปหมด”
การรับรู้เรื่องทัพกรุงเก่ายุคพระเจ้าเอกทัศน์ว่าอ่อนแอ ทั้งที่หลักฐานบ่งชี้ว่ามีการวางแผนเตรียมการอย่างดี ภาพจำเกี่ยวกับกองทัพพม่าที่มาแบบ “กองโจร” จึงอาจต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง
นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ผู้ทำให้สิ่งที่เคยยึดว่าเป็นความจริงถูกตั้งคำถาม ทั้งยังชวนให้เดินก้าวข้ามผ่านกรอบแนวคิดเดิมๆ แล้วค้นหาคำตอบใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง
Cr. http://www.matichon.co.th/news/26239