นอกจากได้รับการโหวตจาก BBC ให้เป็น Band of the Year ในปี 2012 วงที่มีชื่อซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกลอนของ Wilfred Owen นี้... “Spring Offensive” ...ยังเคยเป็น supporting act ให้กับวงอย่าง Local Natives, London Grammar, To Kill A King และ Stornoway
สมาชิกทั้งห้า ของวง Lucas Whitworth (lead vocals), Theo Whitworth (guitar, vocals), Matt Cooper (guitar, vocals), Joe Charlett (bass), Pelham Groom (drum, vocals) เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยม Oxfordshire school วงของพวกเขาเริ่มต้นที่นั่น และเริ่มเผยแพร่ผลงานทาง bandcamp และ BBC Radio ในปี 2009
เวลาต่อมา Joe ประกาศถอนตัวออกจากวง และมี Chris Chadwick มาแทนที่ในตำแหน่งมือเบส
น่าเสียดายที่มีการประกาศแยกวงอย่างไม่มีกำหนดในปลายปี 2014 หลังจากทัวร์อัลบั้มจบลงในเดือนพฤศจิกายน อันเป็นจุดสิ้นสุดอย่างไม่เป็นทางการของ Spring Offensive
(ตอนนี้ Matt ไปมีผลงานร่วมกับศิลปินคนอื่น (Liu Bei) ภายใต้สังกัด Famous Friends Records (@f_f_recs) และคาดว่า Theo ก็ด้วย ดูจากในทวิตเตอร์ ส่วน Pelham เห็นว่าไปมิกซ์เพลงให้ Willie J Healy อะนะ)
เพลงแรกสุดของอัลบั้มเปิดด้วยเพลงที่ผันชื่อจากบทกลอนของ Stevie Smith ได้อย่างน่าสนใจ Not Drowning but Waving ซึ่งเป็นเพลงที่ยาวที่สุดของอัลบั้ม ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกลอนชื่อสลับกัน (Not Waving but Drowning) และก็ยังเป็นการตีความใหม่จากบทกลอนเปรียบเทียบนี้ โดยมีเนื้อหาพูดถึงเกี่ยวกับสัญญาณอันตรายแห่งความตายที่ถูกละเลยมองข้าม และความรู้สึกผิดที่เหลือตกค้างในใจ
เพลงที่ตั้งตามชื่อเมืองในเนเธอร์แลนด์อย่าง Hengelo นั้น มาในจังหวะเพลินๆ กับความรู้สึกเหงาๆ เมื่อ พวกเขาพยายามจะถอดความรู้สึกของคนที่อยากหนีจากทุกสิ่งแล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของ Robin van Helsum หรือ “Forest Boy” ที่กุเรื่องเพื่อหนีจากบ้านเกิดใน Hengelo, Netherlands
ส่วนเพลงที่ฟังติดหูอย่าง Cut the Root พวกเขาพูดถึงการพยายามสร้างตัวตนให้กับตัวเอง ที่แตกต่างออกไป การถูกเปรียบเทียบ และการที่ตัดเชือกที่โยงใยเอาไว้กับรากเหง้า
The River นั้นดนตรียังคงติดหูอยู่เช่นเดิม แต่หนักขึ้นด้วยเสียงร้อง และเนื้อหาที่พูดถึงการแก้แค้น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงพื้นบ้านอังกฤษ Pretty Polly ซึ่งเกี่ยวกับผู้หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งที่ถูกหลอกไปฆ่าทิ้งแล้วฝังไว้ในป่า และกลายเป็นวิญญาณอาฆาตที่ตามมาหลอกหลอนฆาตกร
ดนตรีกลับมาชวนหม่นอีกครั้งใน 52 Miles ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม Young Animal Hearts ที่มาในดนตรีที่ค่อนข้างดุดันกว่าเพลงอื่นๆ เพื่อแสดงถึงความกดดันเมื่อไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้