ดิ้นรนเพื่อ..“สยิว” : ญ.หญิงที่หายไปจากโลกติดเรท
“สยิว” เป็นหนังเก่าแค่ราวสิบเอ็ดสิบสองปีนับแต่วันที่ออกฉาย อย่างไรก็ดี หากนับรวมจนถึง พ.ศ.นี้ ปรากฏการณ์ทางสังคมที่งานชิ้นนี้นำเสนอ กลับมีอายุมากกว่า ๒๐ ปี เพราะมันเล่าไปถึงช่วงเวลาที่สื่อออนไลน์ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คน (เวลาในหนังคือปี พ.ศ.๒๕๓๕) ยุคที่หน้ากระดาษยังเป็นพื้นที่ในการสื่อสารเรื่องราวทางโลก ไล่ตั้งแต่ข้อมูลข่าวสารบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ แม้กระทั่งเรื่องทางกามารมณ์ สำหรับคนซึ่งเกิดและเติบโตมาในยุคนี้ที่สามารถเปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแล้ววางสายตาบนหน้าจอเดสก์ท็อป ก็สามารถประกอบสร้างความรู้เรื่องความใคร่ หรือพูดง่ายๆ ว่าหาดูภาพวาบหวิวไปจนถึงหนังติดเรตได้แล้ว อาจจะนึกไม่ถึงว่า ครั้งหนึ่งนั้น คนรุ่นก่อนหน้า เขาเคยหาประสบการณ์ความ “สยิว” กันจากภาพและเนื้อหาบนหน้ากระดาษ หรือพูดแบบรวบรัดก็คือหนังสือโป๊-หนังสือปกขาว ซึ่งก็มีตั้งแต่นำเสนอภาพแบบโจ๋งครึ่มอะล่างฉ่าง ไปจนกระทั่งที่มีการเขียนเรื่องแต่เรื่องเป็นเรื่องเป็นราว และจำเป็นต้องใช้จินตนาการ ทั้งคนเขียนและคนอ่าน ในการจะเข้าถึงอรรถรสแห่งเรื่องเล่านั้น
หากจะนับเป็นความกล้าหาญของทีมงานที่สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาก็คงจะว่าได้ เพราะเนื้อหาที่ล่อแหลมคาบเส้น ต่อให้ไม่ถูกชำเลืองมองอย่างตั้งคำถามจากสายตาของศีลธรรม หากทำไม่ถึงหรือไม่มีประเด็นที่ดีรองรับเพียงพอ ก็อาจจะทำให้กลายเป็นหนังขายความหื่นไปได้เช่นกัน แต่นั่นไม่ได้เป็นปัญหาแม้เพียงน้อยนิดสำหรับงานชิ้นนี้ การหยิบเอาเรื่องราวที่ควรซุกอยู่ในร่มผ้าหรือว่าใต้ดิน (หรือในห้องน้ำ และแอบอ่านแอบรู้คนเดียว) มาถ่ายทอดบนจอเงินครั้งนี้ ไม่เพียงไม่หยาบโลน หากแต่ยังถ่ายโอนเนื้อหาที่น่าประทับใจ ซึ่งประกอบไปด้วยมิติอันหลากหลาย ไล่ตั้งแต่เรื่องของคน เรื่องของสังคม หรือแม้กระทั่งแง่มุมความรักอันโรแมนติก ที่สุดแสนจะย้อนแย้งกับ “ชื่อ” ของหนังที่ชวนให้รู้สึกไปในสุขแห่งเนื้อหนังมังสา
หนึ่งในบุคคลต้นทางซึ่งเป็นที่มาของงานชิ้นนี้ คือ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ที่ในเวลาต่อมา เราจะเห็นว่าเขาคนนี้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือดีมากที่สุดคนหนึ่งของบ้านเรา งานของเขาที่พูดได้ว่าสง่างามในความเป็นนักคิดนักทำหนังหรือแม้กระทั่งนักเขียนบทภาพยนตร์ ก็มีตั้งแต่ “เดอะ เล็ตเตอร์ จดหมายรัก” (เขียนบท), “เฉิ่ม” (เขียนบทและกำกับ), “Me Myself ขอให้รักจงเจริญ” (เขียนบท), “กอด” (เขียนบทและกำกับ), “Happy Birthday” (เขียนบท), “แต่เพียงผู้เดียว” (เขียนบทและกำกับ) หรือแม้กระทั่งงานล่าสุดเมื่อสองปีก่อน อย่าง “ตั้งวง” ที่เขาเขียนบทและกำกับเอง ก็ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีรางวัลสุพรรณหงส์
คงเดช จาตุรันต์รัศมี เขียนบทหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะเป็นหนังสั้นเพื่อประกวดใน “โครงการส่งหนังสั้นสู่ฟิล์ม” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ โดยเป็นการเขียนร่วมกับเพื่อนอีกคน คือ “เกียรติ คงสนันท์” ทั้งสองคนเคยกำกับหนังสั้นร่วมกันในชื่อ “เจ๊ง” และส่งเข้าประกวดในรายการของมูลนิธิหนังไทย และได้รับรางวัลชมเชยกลับมา “เกียรติ คงสนันท์” หลังจากงานชิ้นนี้ยังมีบทบาทในฐานะผู้เขียนบทร่วมให้แก่หนังอย่าง “อสุจ๊าก” และ “ท้าชน” ในเวลาต่อมา กล่าวสำหรับ “อสุจ๊าก” นั้น ถือว่าเป็นงานหนัง “คัลต์” ที่เจ๋งมากๆ เรื่องหนึ่ง (ผมจะเขียนถึงในลำดับถัดไปว่าหนังคัลต์เป็นอย่างไร) ขณะที่ “ท้าชน” ก็เป็นงานที่คนซึ่งชื่นชอบความ “ดิบ-เถื่อน” น่าจะถูกอกถูกใจ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การร่วมมือกันระหว่าง “คงเดช” และ “เกียรติ” ในงานเรื่อง “สยิว” นับเป็นสองประสานที่ประสบความสำเร็จยิ่ง จากบทหนังสั้นที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อทำหนังใหญ่ สุดท้ายแล้ว นายทุนแห่งค่ายนิตยารซีเนแม็กซ์ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ก็ให้โอกาสทั้งสองรับตำแหน่งเขียนบทเพิ่มและกำกับ ขยับขยายสู่หนังฉายโรง โดยมีสหมงคลฟิล์มเป็นเจ้าภาพในการเผยแพร่และจัดจำหน่าย
ในขณะที่คนดูผู้ชมอาจจะกำลังลุ้นๆ อยู่ว่า อะไรบ้างหนอที่จะได้เห็นกันในหนัง จะสยิวกิ้วเหมือนกับชื่อหรือไม่ เรื่องของ “เต่า” ก็ถูกเล่าขึ้นมา...“เต่า” คือสาวนักศึกษาที่มีคาแร็กเตอร์ไปทางทอมบอย เธอใช้เวลาว่างจากการเรียนไปรับจ๊อบเป็นนักเขียนในนิตยสารปลุกใจเสือป่าเล่มหนึ่ง แต่งานเขียนของเต่าก็มักถูกดูแคลนจาก “เฮียกังฟู” ผู้เป็นเจ้าของหนังสือ “สยิว” และเป็นญาติของเธอ เสมอๆ ว่างานของเธอ “ไม่ถึง” หรือพูดง่ายๆ ก็คืออ่านแล้วไม่ได้อารมณ์ ขณะเดียวกัน กระแสความนิยมของผู้คนที่เสพหนังสือแนวนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ประเภทที่จะมาพรรณาเอาสุนทรียะแห่งกามารมณ์นั้น ดูจะไม่ได้รับการเอ็นดูจากผู้อ่านอีกต่อไปแล้ว เพราะก็อย่างที่เฮียกังฟูบอก...ยุคนี้มันต้องจะแจ้งแดงแจ๋ ต้องตอบสนองปรารถนาแห่งอารมณ์ของผู้อ่านอย่างโจ๋งครึ่มไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพหรือภาษาที่ใช้ในการเขียน
...เหมือนอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นครับว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์สังคมชิ้นดีอีกชิ้นหนึ่ง มันคือสภาพสังคม ใน พ.ศ.๒๕๓๕ ที่จริงๆ ก็ต่อเนื่องยาวนานมาก่อนหน้านั้น และยังคงดำรงอยู่ และน่าแปลกใจมากที่เมื่อพูดถึงการดำรงอยู่ เราจะเห็นการ “ดิ้นรนเพื่อดำรง” ผ่านทั้งตัวละครหลักและโครงสร้างของเรื่อง ไล่ตั้งแต่ “เฮียกังฟู” ผู้เป็นเจ้าของหนังสือ “สยิว” นั้น คือตัวอย่างอันดับแรกๆ แห่งการดิ้นรน...หมายเหตุ: สำหรับคนที่เกิดทันยุคหนังสือปลุกใจเสือป่า คงรู้จัก “อากังฟู” กันดี นามนี้เป็นชื่อของชายผู้เป็นเจ้าของหนังสืออันลือลั่นยุทธภพเรื่องเพศอย่าง “ไทยเพลย์บอย” และหนังเรื่องนี้ก็ได้รูปรอยและแรงบันดาลใจจากเรื่องของอากังฟูมาเต็มเหนี่ยว... ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและต้องเผชิญกับคู่แข่งที่ดุเด็ดเผ็ดมันยิ่งขึ้นทุกวัน การจะมานั่งละเลียดละออกับการแต่งเรื่องที่ปลุกเร้าจินตนาการหวามไหวคล้ายแต่ก่อน คงอยู่ยาก สถานการณ์ดังกล่าวนี้ นำไปสู่ความโฉ่งฉ่างแบบไม่จำเป็นต้องนำพาต่อศิลปะแห่งการนำเสนออีกต่อไป และนั่นก็ดูเหมือนว่า การจะทำให้ผู้อ่าน “มันส์ส์ส์ส์...” ถึงอกถึงใจ คล้ายกับฝันที่ไม่มีวันคว้าถึงสำหรับนักเขียนหญิงมือสมัครเล่นคนหนึ่งอย่าง “เต่า”...
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสนุกของหนังนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการ “ดิ้นรน” ของเต่า ไม่ว่าจะทำอะไร เธอก็จะเก็บเอามันมาปรุงเติมเพิ่มแต่งเป็น “เรื่องอย่างว่า” เสมอๆ ราวกับอุทิศชีวิตแล้วแก่เรื่องสยิว แม้กระทั่งเอาข้าวกล่องที่มีคนสั่งไปส่ง (ป้าของเธอเป็นเจ้าของห้องพักและทำร้านอาหารตามสั่ง) เธอก็ยังมโนสร้างเรื่องเป็นตุเป็นตะว่า “ได้กระทำ” กับหญิงคนนั้น วาบหวิวสยิวทรวงอยู่ในห้วงแห่งเรื่องแต่งของตนเอง แม้กระทั่งมีช่างมาซ่อมแอร์ ก็ยังคิดไปได้ว่าช่างแอร์น่าจะมีอะไรกับเจ้าของห้อง...อันที่จริง “เรื่องเล่า” ทำนองนี้เป็นสิ่งที่ถ้าได้อ่านหรือผ่านตานิตยสารพวกนั้นมา ย่อมรู้ว่ามันเป็นจินตนาการกระตุ้นเร้าอารมณ์ไปตามเรื่อง พูดง่ายๆ ก็คือแฟนตาซีกันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ประเภทคนทำสวนมีอะไรกับเจ้าของบ้านในยามที่สามีเธอไม่อยู่ หรือคนขับรถมีอะไรกับเจ้านาย ไปจนกระทั่งเปลี่ยนข้างพลิกตัว เจ้านายอาจเป็นฝ่ายรุกหรือเข้าหาเอง อย่างนี้เป็นต้น เข้าใจว่า ตลาดคนอ่านของนิตยสารเหล่านั้นก็คงเป็นระดับล่างลงไปหน่อย ดังนั้น การแต่งเรื่องเติมฝันฟุ้งฟายกับการได้ครอบครอง “ดอกฟ้า” ที่ปกติมักเอื้อมไม่ถึงในโลกจริง ก็เป็นสิ่งที่นิตยสารเหล่านี้กระทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นั่นยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อีกร้อยแปดพันเก้าที่ศีลธรรมจรรยาอะไรไม่ต้องไปคิดถึงหรอกครับ คนที่อ่านจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องแฟนตาซีเพ้อฝันไปเท่านั้น และนั่นก็คืออิทธิพลทางความคิดและการทำงานที่ส่งผ่านมาถึง “เต่า” แบบเต็มๆ และเธอก็พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อการเขียนเรื่อง “เสียวๆ” ให้เทียบเท่ากับนักเขียนคนอื่นๆ ในทีมงานกองบรรณาธิการ ซึ่งแทบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย
โลกของหนังสือโป๊ หรืออาจไล่รวมไปจนถึงหนังโป๊ เคยถูกเหมาว่าเป็นโลกของผู้ชาย แม้แต่คำสรรพนามที่ใช้เรียกหนังสือพวกนี้ว่า “หนังสือปลุกใจเสือป่า” ก็มีทีท่าว่าเป็นเรื่องของผู้ชายค่อนข้างชัดเจน “เต่า” นั้นเป็นผู้หญิง และก็จึงไม่แปลกที่เธอจะถูกค่อนแคะกระแนะกระแหนตลอดในเรื่องความ “มือถึง” หรือ “ไม่ถึง” ในด้านการเขียนเรื่อง ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ว่า โลกของหนังสือโป๊ เป็นโลกของผู้ชาย ยังสะท้อนผ่านตัวละครอีกหนึ่งตัว ซึ่งได้แก่ “หนุ่ม” นักเขียนผู้ช่ำช่องและเชี่ยวชาญ ซึ่งมักจะคุยโม้โอ้อวดตลอดเวลาว่า การจะเขียนหนังสือพวกนี้ได้ดี จะต้องเป็น “ผู้มีประสบการณ์” ในเรื่องอย่างว่ามาอย่างโชกโชนเสียก่อน ซึ่งหนุ่มก็ดูจะเป็นพวกกลมกลืนกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่อย่างไม่อาจปฏิเสธ “เขา” กับ “เรื่องเพศ” เป็นเสมือนเพื่อนสนิท แม้แต่นางแบบของนิตยสาร เขาก็ยังไม่เว้น และทั้งหมดนี้นั้นก็เป็นปฐมเหตุแห่งการดิ้นรนเพื่อจะเอาชนะหรือกระทั่งได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ของนักเขียนสาวอย่าง “เต่า”
สัญลักษณ์อย่างหนึ่งซึ่งหนังหยิบมาใช้แบบโจ่งแจ้งโจ๋งครึ่ม คือ แป้นพิมพ์ดีดของเต่าที่ปุ่ม “ญ.หญิง” กดไม่ลง (พูดง่ายๆ ก็คือ เสีย) มันชวนคิดได้หลายแง่มุม ทั้งแบบที่ว่า ผู้หญิงนั้นไม่เคยมีตัวตนอยู่ในโลกติดเรทใบนี้ เพราะหนังสือโป๊เป็นเรื่องของผู้ชาย (ซึ่งในมุมนี้ ถ้าจะขยายมุมมองให้กว้างออกไป ก็อาจตีความได้ว่าหนังกำลังพูดถึงสังคมโดยรวมที่ชายยังเป็นใหญ่อยู่ได้เช่นกัน โดยการจำลองโลกของหนังสือโป๊แทนโลกโดยรวม) ขณะที่ในอีกหนึ่งด้าน “ญ.หญิง ที่หายไป” ก็อาจหมายถึง “ตัวตน” และ “ความต้องการ” ของเต่าได้เช่นกัน คือถ้าไม่นับรวมรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกไปทางทอมบอย เราจะเห็นว่า “โลก” ที่เต่าจินตนาการขึ้นในความนึกคิด เธอพยายามที่จะสร้างนิยามสถานะของเธอในฐานะ “ผู้ชาย” เสมอๆ ในโลกของสื่อประเภทนี้ ผู้ชายมักจะต้องเป็นผู้ที่กระทำ ดังนั้น จึงไม่แปลก หากเราจะเห็นว่า เรื่องที่เต่าแต่งขึ้น เธอจะสมมุติให้ตนเองเป็น “ผู้กระทำ” (ผู้ชาย) และ “ผู้ถูกกระทำ” ของเธอก็มักจะเป็นผู้หญิง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากทำตัวก๋ากั่นว่าชอบสาวหมวย (พินทุ์สุดา ตันไพเราะห์) ซึ่งเป็นรุ่นร้องที่มหา’ลัย เธอยังพยายามพาตัวเองวิ่งเข้าไปในโลกแห่งความเชี่ยวชาญแบบชาย และ “เกิด” ให้ได้ในโลกแห่งการเขียนเรื่องโลกีย์ แม้กระทั่งแอบจิ๊กวิดีโป๊ที่หนุ่มเช่ามา, เข้าไปดูหนังเรตในโรงหนังชั้นสอง รวมไปจนถึงย่องเข้าห้องคนอื่นแล้วไปแอบดูกิจกรรมบนเตียง เพื่อศึกษาเรื่องอย่างว่า หรือแม้กระทั่งว่าเอาตัวเข้าแลกเธอก็ยอม เพื่อจะให้ตัวเองได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ (ฉากดังกล่าวนี้ คือฉากที่เจ็บมากที่สุดฉากหนึ่ง)
ในความพยายามที่จะเป็นนักเขียนผู้โด่งดังแห่งหนังสือสยิวของเต่านั้น ยังมีอีกหนึ่งคนซึ่งอยู่เบื้องหลังและเหมือนเป็นกำลังสำคัญของเต่าอย่างเงียบๆ เสมอมา นั่นก็คือ “จ้อน” จ้อนเป็นผู้ชายเงียบๆ หงิมๆ ติ๋มๆ และดูเหมือนจะไม่ค่อยเก่งในเรื่องการแสดงออกเพื่อบอกความรู้สึกแท้จริงของตนเองต่อผู้อื่น แต่เบื้องลึกของจิตใจ เราต่างก็พอจะมองออกว่าจ้อนนั้นมีความรู้สึกดีๆ ต่อเต่า ความช่างคิดของหนังเรื่องนี้คือการออกแบบชื่อตัวละครซึ่งหยิบเอาคำเรียกจากหนังสือโป๊สมัยก่อนมาเป็นชื่อตัวละครและสื่อสะท้อนถึงความเป็นหญิงเป็นชายได้อย่างน่ารักน่าชัง สำหรับ “เต่า” นั้นถ้าใครเคยมีประสบการณ์การอ่านหนังสืออย่างว่ามาก่อน ก็จะรู้ว่ามันเป็นคำเรียกแบบหนึ่งของอวัยวะเพศหญิง ขณะที่ “จ้อน” ก็ชัดเจนว่าเป็นสรรพนามของอวัยวะเพศชาย และความหมายของทั้งสองคำ ก็แนะนำเป็นนัยๆ ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งชื่อตัวละครแล้วว่า “จ้อน” กับ “เต่า” จะไปลงเอยเช่นไร
แต่ที่ต้องนับว่าเป็นความแยบคายของหนัง อย่างที่กล่าวไว้แล้วครั้งหนึ่ง นั่นคือการเสียหายไปของปุ่ม “ญ.หญิง” บนแป้นพิมพ์ดีดของเต่า หลังจากผ่านพบเรื่องราวหลากหลายระหว่างเรื่อง “ญ.หญิง” ที่เคยใช้การไม่ได้ ก็กลับมาใช้การได้อีกครั้ง มันไม่ใช่เพราะการแสดงตัวของจ้อน หากแต่เป็นความหมายที่บอกกล่าว่าผู้หญิงก็สามารถจะมีพื้นที่ของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนในจุดที่ผู้ชายยืน ที่ผ่านมานั้น เต่าพยายามเหลือหลายที่จะเขียนให้ได้อย่างที่พวกนักเขียนผู้ชายเขาเขียนกัน แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็คล้ายได้ค้นพบวิธีการเขียนแบบผู้หญิงของเธอเอง ไม่จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้แบบแผนแห่งการสร้างเรื่องสยิวในลักษณะที่ชายกระทำ การกลับมาใช้การได้ของ “ญ.หญิง” จึงเป็นทั้ง Self-Discovery (การค้นพบตัวเอง) และ Love-Discovery (ค้นพบว่าใครคือคนที่ควรจะรัก) ไปด้วยในขณะเดียวกัน
จากหน้าหนังหรือแม้กระทั่งชื่อที่ชวนให้รู้สึกนึกคิดไปทางเปลือยโป๊อีโรติก โดยเนื้อแท้แล้ว “สยิว” เป็นหนังรักและโรแมนติกมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่หนังที่ต้องแอบดูคนเดียวเหมือนอ่านหนังสือสยิวที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อ่านในห้องน้ำหรือปิดห้องนอนแน่นหนาแล้วค่อยอ่าน (หรืออ่านกันในกลุ่มเพื่อนๆ แล้วหัวเราะเฮฮากัน) แต่เป็นหนังที่แม้กระทั่งหญิงชายที่เป็นแฟนกันก็ดูด้วยกันได้
“สยิว” เป็นหนังที่เพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบที่ดีงาม เฉพาะอย่างยิ่ง บทภาพยนตร์ที่เนียนกริบ ตัวเรื่องมีลูกล่อลูกชนสูง อีกทั้งแพรวพราวด้วยอารมณ์ขันแบบมีชั้นเชิง ผสมด้วยแง่งามแบบที่หนังฟีลกู๊ดดีๆ สักเรื่องหนึ่งจะมีให้แก่คนดู ถ้าหนังดีๆ หยิบมาดูกี่รอบก็ยังบันเทิงอยู่ “สยิว” ก็คงเป็นหนังในจำนวนเหล่านั้น