นักเตะท้ายซอย
Status:
: 0 ใบ
: 0 ใบ
เข้าร่วม: 18 Dec 2005
ตอบ: 658
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Wed Jun 17, 2015 17:10
[RE: [Part2]ไทยvsพม่า ในสงครามเสียกรุงครั้งที่2]
จริง ๆ แล้ว การใช้พระนครตั้งรับแล้วรอน้ำหลากนี่เป็นทางเลือกในการป้องกันหลักของอยุธยาเลยทีเดียว แต่การที่จะใช้วิธีนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น จำเป็นต้องมีทัพหัวเมืองมากระหนาบด้วย ดังเช่นตอนที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิรับศึกพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ พระองค์ยึดพระนครเป็นฐาน แล้วใช้ทัพเรือระดมยิงปืนใหญ่ต่อต้านทัพพม่า รอท่าสมเด็จพระมหาธรรมราชานำกำลังจากเมืองเหนือมากระหนาบ ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ต้องถอยทัพกลับไปอย่างบอบช้ำ
แม้แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถึงพระองค์จะนิยมนำทัพออกจากพระนครไปสกัดกั้นข้าศึกแทบทุกครั้ง เช่น คราขับไล่ทัพพระยาละแวก ศึกพระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่ เหล่านี้ก็ตาม แต่หากเป็นทัพใหญ่ที่เตรียมการมาดีอย่างทัพพระเจ้านันทบุเรงที่ยกมาราว 250000 (จำนวนอาจเกินจริง) พระองค์ก็ใช้วิธีเทครัวหัวเมืองเหนือมาที่อยุธยา แล้วใช้พระนครเป็นฐานรับศึกเช่นกันครับ ในกรณีของการศึกยุทธหัตถีที่ทรงนำทัพไปต้านพระมหาอุปราชา เมงจีสวา ทั้งที่อีกฝ่ายมีจำนวนถึง 240000 นั้น ก็เพราะว่าทัพเมงจีสวาถึงแม้จะมีเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นกองทัพที่เร่งรัดกะเกณฑ์อย่างเร่งด่วน มีทั้งคนแก่และเด็กปะปนอยู่ด้วยไม่น้อย ถึงจะมีจำนวนมหาศาล แต่ก็ขาดซึ่งประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะยกทัพออกไปยันไม่ให้เข้ามาถึงชานพระนครก็น่าจะทำได้ แม้ยันไม่ไหวก็ถอยมาใช้พระนครเป็นฐานป้องกันก็ยังได้
แต่คราวเสียกรุงครั้งที่สอง พม่ามาแบบคีมหนีบยึดหัวเมืองเหนือและใต้ไว้ได้แล้ว อยุธยาจึงไม่อาจใช้วิธีนำทัพหัวเมืองมากระหนาบหลังได้อย่างแต่ก่อน ทำได้เพียงตั้งรับอาศัยชัยภูมิที่เป็นเกาะเมืองยันทัพข้าศึก แต่ปัญหาคืออยุธยาไม่อาจรักษาเส้นทางออกสู่ทะเลไว้ได้อีกแล้ว ทำให้ไม่มียุทธปัจจัยและเสบียงใด ๆ มาเพิ่มขณะถูกปิดล้อม เมื่อเสบียงและกระสุนดินดำหมด พม่าก็ตีเมืองแตก
แก้ไขล่าสุดโดย Gorge เมื่อ Sat Aug 20, 2016 15:20, ทั้งหมด 3 ครั้ง